การอ่านออกเสียงบทร้อยแก้ว และบทร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-10 20:01:47
การอ่านบทร้อยแก้ว และการอ่านบทร้อยกรอง เป็นทักษะที่สำคัญไม่ต่างจาก การฟัง การพูด และการเขียน ซึ่งทักษะทั้ง 4 นี้ต้องสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไป ขาดทักษะใดทักษะหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนมนุษย์กับปัจจัย 4 ที่จะขาดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดไปไม่ได้ และการเรียนรู้ใดๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากการอ่านเสมอ การอ่านจึงมีความสำคัญมาก
การอ่านบทร้อยแก้ว
บทร้อยแก้ว คือความเรียงที่สละสลวย ที่เป็นบทบรรยายจากหนังสือเรียน หรือสื่ออื่นๆ การอ่านบทร้อยแก้วก็คือ การอ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ โดยต้องชัดเจน ไพเราะ น่าฟัง ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เว้นระยะตามวรรคตอนได้ถูกต้อง สำหรับข้อความที่เป็นบทสนทนา ก็ควรเน้นเสียงให้ใกล้เคียงกับการพูดตามธรรมชาติ ที่มีระดับเสียงหนักเบา และสูงต่ำ
หลักการอ่านบทร้อยแก้ว
1. ควรซ้อมอ่านเรื่องที่จะอ่านก่อน เพื่อทำความเข้าใจกับคำต่างๆ ซึ่งอาจจะออกเสียงยาก ทำให้ง่ายต่อการอ่านผิดพลาด และเพื่อให้แบ่งวรรคตอนได้ถูกต้อง
2. อ่านด้วยสียงดัง ฟังชัด ถูกอักขระวิธี โดยเฉพาะคำควบกล้ำ ตัว ร ตัว ล ต้องชัดเจน
3. ใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับข้อความที่อ่าน เช่น บทบรรยายทั่วไปก็ใช้เสียงค่อนข้างเป็นทางการ ส่วนบทสนทนาก็พูดตามธรรมชาติ
4. ถ้าอ่านในที่ประชุม ต้องวางท่าทางให้ตัวตั้งตรง ถือข้อความที่อ่านให้เหมาะสม อ่านด้วยเสียงดังฟังชัด กวาดตามองผู้ฟังบ้าง เหมือนเวลาที่เราดูข่าว ผู้อ่านข่าวย่อมจะต้องมองกล้องเป็นระยะๆ ให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีการสบตา ทำให้การรับชมรับฟังดูเป็นธรรมชาติ
การอ่านบทร้อยกรอง
บทร้อยกรอง คือบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นตามฉันทลักษณ์ มีทำนองเสนาะ เช่น กาพย์ กลอน การอ่านร้อยกรองจึงเป็นการอ่านออกเสียงที่คล้ายกับการร้องเพลง ที่อาจมีการเอื้อนเสียง หรือมีจังหวะจะโคน ฟังแล้วเกิดความเพลิดเพลิน ซาบซึ้งในรสของคำประพันธ์ การอ่านบทร้อยกรองทำได้ 2 แบบคือ
1. อ่านแบบธรรมดา เหมือนการอ่านบทร้อยแก้ว กล่าวคือ อ่านแบบอ่านหนังสือธรรมดา แต่ต้องอ่านตามวรรคตอนของคำประพันธ์ และอ่านให้ถูกต้องตามอักขระ อาจใช้การเน้นเสียงหนักเบา ตามอารมณ์ของบทประพันธ์ เพื่อจะช่วยให้การอ่านน่าฟังยิ่งขึ้น
2. อ่านเป็นทำนองเสนาะ เป็นการอ่านที่มีสำเนียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้น เป็นทำนองเหมือนการร้องเพลง มีการเอื้อนเสียง เน้นสัมผัส ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง ตามลักษณะบังคับของฉันทลักษณ์ให้ชัดเจนและเหมาะสม
หลักการอ่านบทร้อยกรอง
1. ศึกษาฉันทลักษณ์ หรือลักษณะบังคับของคำประพันธ์ เช่น การแบ่งจังหวะ จำนวนคำ สัมผัสเสียง วรรณยุกต์ เสียงหนัก เบา เป็นต้น
2. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์นั้นๆ
3. อ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ให้ชัดเจน
4. ออกเสียงดังให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง แต่ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
5. คำที่รับสัมผัสกันต้องอ่านเน้นเสียงให้ชัดเจน ถ้าเป็นสัมผัสนอกต้องทอดเสียงให้มีจังหวะยาวกว่าปกติ
6. มีศิลปะในการใช้เสียง เอื้อนเสียง และทอดจังหวะให้ช้าจนจบบท
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว