วรรณคดี วรรณกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 23:55:48
ในการศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม หรือวรรณกรรมท้องถิ่นที่ยากขึ้นนั้น นักเรียนจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาให้ได้เสียก่อน อาจจะใช้วิธีการแปลความ การตีความ หรือการขยายความ จากนั้นจึงสรุปความรู้ วิเคราะห์คุณค่าและข้อคิดจากเรื่องที่อ่าน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงต่อไป
วรรณคดี วรรณกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น
วรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมหรือหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีศิลป์ และมีคุณค่าทางอารมณ์และความรู้สึกต่อผู้อ่าน สามารถใช้เป็นแบบแผนและอ้างอิงได้
วรรณกรรม หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
- ร้อยแก้ว เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ
- ร้อยกรอง เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง วรรณกรรมมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร ที่ถ่ายทอดในกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งมาเป็นเวลานาน ผู้เล่าหรือผู้เขียนเป็นคนในท้องถิ่นถ่ายทอดให้แก่คนในท้องถิ่นเดียวกับตน โดยการบอกเล่าหรือเขียนบันทึกไว้ ตัวอย่างวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น ไกรทอง
การแปลความ การตีความ และการขยายความ
การแปลความ หมายถึง การอ่านที่มุ่งให้เกิดความเข้าใจกับเนื้อหา เริ่มจากการแปลคำหรือศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย หรือเป็นการแปลศัพท์จากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง การถอดคำประพันธ์ แปลความหมายรูปภาพ เครื่องหมายต่างๆ
การตีความ หมายถึง การอ่านที่พยายามหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในข้อเขียน หรืออากัปกิริยาท่าทาง สีหน้า แววตา น้ำเสียง เพื่อทราบความหมายหรือเจตนาที่แท้จริงที่แฝงเร้นอยู่ ถ้าเป็นการสื่อความธรรมดาก็คงไม่ต้องตีความ แต่ถ้าอากัปกิริยาท่าทางกับคำพูดขัดแย้งกัน ผู้อ่านจะต้องค้นหาความจริงว่า เจตนาที่แท้จริง หมายถึงอะไรแน่ การตีความควรจะตีความทั้งด้านเนื้อหา และด้านน้ำเสียงควบคู่กันไป
การขยายความ คือ การนำรายละเอียดมาพูด หรืออธิบายเสริมความคิดหลัก หรือประเด็นสำคัญของเรื่องให้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น อาจเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ให้เหตุผลยกตัวอย่างประกอบ หรือมีการอ้างอิงเปรียบเทียบให้ได้เนื้อความกว้างขวางออกไป จนเป็นที่เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
การวิเคราะห์คุณค่า และข้อคิดจากวรรณคดีและวรรณกรรม
สารที่ได้จากการอ่านมีหลายประเภท เช่น บทความ บทวิจารณ์ข่าว เพลง บทร้อยกรอง เรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย นิทาน วรรณคดี วรรณกรรม ฯลฯ
การพิจารณาสารจึงต้องพิจารณาตามแนวทางการเขียนสารนั้นๆ เช่น บทความ มีลักษณะการเขียนเป็น คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ส่วนข่าวมีลักษณะการเขียนเป็น พาดหัวข่าวหลัก หัวข่าวรอง สรุปข่าว และรายละเอียดของข่าว และที่สำคัญที่สุดคือต้องพิจารณาภาษาหรือถ้อยคำที่ใช้ด้วย เพราะงานเขียนแต่ละประเภทจะใช้ภาษาที่แตกต่างกันไป การวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสารจึงควรยึดหลักดังนี้
1. อ่านสารนั้นอย่างคร่าวครั้งหนึ่งก่อน ในครั้งต่อไป่ควรอ่านสารอย่างละเอียด
2. วิเคราะห์ให้ได้ว่าสารที่อ่านเป็นสารประเภทใด เช่น ข่าว บทวิจารณ์ คำนำ เพลง บทความ
3. วิจารณ์แนวความคิดและการนำเสนอของผู้เขียนสารนั้น ตามลักษณะการเขียนทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการใช้ภาษา
4. ตีความและประเมินค่าสารอย่างมีเหตุผล ตามลักษณะของสารแต่ละประเภทว่าดี มีคุณค่า มีประโยชน์เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด
ในการวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสารเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจเฉพาะบุคคล รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล ประกอบด้วยเหตุผลที่ถูกต้องมาพินิจพิจารณา ดังนั้น ในการวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสาร จึงควรระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งกับความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่มีทั้งความถูกต้อง และความไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่วๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้างๆ ใน 4 ประเด็นดังนี้
1. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้ เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
2. คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ อธิบายและยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบคู่กันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์
3. คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคม วรรณคดีที่ดียังสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
4. การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้
ตัวอย่างการวิเคราะห์คุณค่าและข้อคิดจากวรรณคดี
ก.
“พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง”
(จาก “โคลงโลกนิติ” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)
แปลความ
มหาสมุทร ต่อให้ลึกสักเพียงใดก็ยังใช้สายดิ่งวัดความลึกได้ ภูเขา ต่อให้สูงสักเพียงใด ก็ยังอาจกำหนดรู้ความสูงได้ แต่จิตใจของคนเรานี้ ช่างลึกลับ ซับซ้อน เกินกว่าจะใช้เครื่องมือใดๆ มาวัดให้หยั่งรู้ได้
ข้อคิดที่ได้
จิตใจของคนนั้น ไม่อาจใช้เครื่องมือใดๆ มาวัดได้ คนเราเห็นกันแต่ภายนอก ยากจะรู้ว่าในใจคิดอย่างไร ดังนั้น จึงไม่ควรไว้เนื้อเชื่อใจใครง่ายๆ ผู้อ่านจะใช้เป็นเครื่องเตือนสติ เตือนใจในการดำรงชีวิต ในเรื่องการคบหามิตรหรือการไว้วางใจคน
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
ใช้การเปรียบเทียบรูปธรรมกับนามธรรม กวีใช้การเปรียบเทียบใจมนุษย์ที่เป็นนามธรรม กับความสูงของภูเขาและความลึกของทะเลได้อย่างสละสลวย ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างชัดเจน
ข.
“กะละออมเพ็ญเพียบน้ำ ฤๅติง
โอ่งอ่างพร่องชลชิง เฟื่องหม้อ
ผู้ปราชญ์ห่อนสุงสิง เยียใหญ่
คนโฉดรู้น้อยก้อ พลอดนั้น ประมาณ”
(จาก “โคลงโลกนิติ” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)
แปลความ
หม้อน้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม เมื่อถูกเคาะ ก็ไม่ส่งเสียงดัง แต่หม้อน้ำที่พร่องน้ำ เมื่อถูกเคาะจะส่งเสียงดัง เปรียบดัง ผู้ที่มีความรู้มากย่อมไม่คุยโวอวดรู้ แต่คนโฉดเขลามักจะเที่ยวอวดฉลาด
ข้อคิดที่ได้
ความรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรโอ้อวด คนยิ่งรู้มากรู้จริงยิ่งไม่กล้าอวดแสดงความรู้ เพราะรู้ว่ายังรู้ไม่มากพอ แต่คนที่มีความรู้เพียงน้อยนิด ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนรู้นั้นตื้นเขินหรืออาจไม่จริง จึงเที่ยวอวดภูมิ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉาน ไม่รีบด่วนแสดงตนเป็นผู้รู้ จะถูกผู้อื่นดูแคลนหรือหัวเราะเยาะเอาได้
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
มีการใช้อุปมาโวหารอย่างแยบคาย เปรียบเทียบหม้อที่มีน้ำอยู่เต็มกับคนที่มีความรู้เต็มเปี่ยม ว่าไม่ส่งเสียงดังคือไม่อวดภูมิ ส่วนหม้อที่พร่องน้ำเหมือนคนโง่ ที่ส่งเสียงดังหรือเที่ยวอวดความรู้
มีการใช้คำที่สละสลวย ซึ่งผู้แปลต้องรู้ความหมายจึงจะเข้าใจใจความได้ เช่น “เพ็ญ” หมายถึง “เต็ม” ล้อและสัมผัสกับคำว่า “พร่อง” คำว่า “คนโฉด” ซึ่งแปลว่า “คนโง่” เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว