www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

ประโยคซับซ้อน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 23:23:13

ประโยคซับซ้อน คือ ประโยคที่มีรูปประโยคซับซ้อน เนื่องจากมีการขยายความหลายจุดในประโยค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ ประโยคสามัญที่ซับซ้อน ประโยครวมที่ซับซ้อน และประโยคซ้อนที่ซับซ้อน

ภาพ : shutterstock.com

 

ประโยคที่ซับซ้อน คือการนำรูปประโยค ทั้งประโยคสามัญ ประโยครวม และประโยคซ้อนมาขยายความให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

 

ประโยคซับซ้อนเกิดจากประโยคที่แบ่งเป็นประโยคสามัญ ประโยครวม และประโยคซ้อน จากประโยคทั้ง 3 นี้ เพิ่มคำขยายหรือข้อความขยาย การรวมประโยคดังกล่าวเข้าด้วยกันทำให้กลายเป็นประโยคซับซ้อนขึ้น แต่สามารถสื่อสารชัดเจนและสละสลวย เพิ่มข้อความขยาย โดยมีหลักสำคัญ ดังนี้

 

1. ตำแหน่งคำขยายในประโยค

 

การขยายความในประโยคภาษาไทยนั้น ส่วนขยายจะอยู่ด้านหลังข้อความที่จะไปขยาย เช่น

 

“ตำรวจจำนวนห้านายประจำสถานีตำรวจนครเชียงใหม่จับผู้ค้ายาบ้ารายใหญ่ที่ทางการเคยทราบเบาะแสมาก่อนได้เมื่อเช้าตอนสายวันอาทิตย์ที่ 21 เดือนนี้เอง”

 

ประโยคนี้ประธานคือ ตำรวจ ส่วนขยายคือ จำนวนห้านายประจำสถานีนครเชียงใหม่

 

ตัวแสดงหรือคำกริยาคือ จับ ส่วนขยายคือ ได้เมื่อเช้าตอนสายวันอาทิตย์ที่ 21 เดือนนี้เอง

 

กรรมในประโยคนี้คือ ผู้ค้ายาบ้า และส่วนขยายกรรมคือ รายใหญ่ที่ทางการเคยทราบเบาะแส

 

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ส่วนขยายกริยาที่บอกช่วงเวลา สามารถนำไปเรียงหน้าประธานในประโยคได้ด้วยประโยคข้างต้นนี้เปลี่ยนแปลงได้ คือ

 

“เมื่อตอนสายวันอาทิตย์ที่ 21 เดือนนี้เอง ตำรวจจำนวนห้านายประจำสถานีตำรวจนครเชียงใหม่ จับผู้ค้ายาบ้ารายใหญ่ที่ทางการทราบเบาะแสมาก่อน”

 

2. ข้อระมัดระวังการวางคำขยาย

 

การเรียงคำขยายเพื่อไม่ให้ความกำกวม หรือความคลาดเคลื่อน เพื่อสื่อสารได้ชัดเจน ควรให้คำขยายอยู่ใกล้กับคำที่จะไปขยาย ถ้าไม่เป็นเช่นนี้แล้วจะมีผลดังกล่าว เช่น

 

“ผู้หญิงที่อุ้มลูกหมาหน้าตาคล้ายคุณพึ่งเดินออกไปเมื่อครู่นี้เอง”

 

ควรแก้เป็น

 

“ผู้หญิงหน้าตาคล้ายคุณที่อุ้มลูกหมาเพิ่งเดินออกไปเมื่อครู่นี้เอง”

 

ประโยคสามัญที่ซับซ้อน

 

ประโยคสามัญที่ซับซ้อนสามารถทำได้ดังนี้

 

1. ความซับซ้อนในภาคประธาน ตัวประธานมีส่วนขยายที่เป็นคำและกลุ่มคำ ทำให้ประโยคสามัญมีข้อความซับซ้อนขึ้น

 

- ประธานที่เป็นตัวเอน เป็นคำนำหน้าด้วยการหรือความ หรือคำอาการนาม ตามด้วยส่วนขยาย เช่น


“การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวยามค่ำคืนทำให้พบดาวดวงใหม่”

 

“ความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่งยวดเป็นผลให้ถึงจุดหมายปลายทาง”

 

- ประธานที่เป็นตัวเอน มีคำและกลุ่มคำขยายประธาน ทำให้ความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น

 

“บ้านพักคนงานบริษัทหลังใหม่บนเนินเขาสร้างเสร็จแล้ว”

 

“รถเมล์สาย 40 คันสีแดงเข้มคาดสีเหลืองวิ่งเร็วมาก”

 

2. ความซับซ้อนในภาคแสดง


 

- มีคำกริยาเป็นกลุ่มคำหลายคำ เช่น

 

“คนป่ากลุ่มนั้นต่างกระโดดโลดเต้นร่ายรำและร้องเพลงไปตามจังหวะกลอง”

 

- มีคำกริยาเป็นส่วนขยายอยู่หลายแห่งในประโยค เช่น

 

“เขาพยายามพายเรือลำเล็กๆ มาทางริมสระน้ำโดยไม่รีบร้อนนัก”

 

ข้อควรระมัดระวังประการหนึ่ง ในประโยคมีประธานอย่างเดียว แต่คำกริยาประกอบหลายอย่าง ต้องใช้วิภาคสรรพนาม คือ คำว่าบ้าง หรือบาง มาช่วยเช่น

 

“ผู้โดยสารเข้าคิวกันซื้อตั๋วออกันขึ้นรถมองหาผู้นัดหมายและซื้อของฝากญาติมิตร”

 

ควรแก้เป็น

 

“ผู้โดยสารเข้าคิวกันซื้อตั๋ว บ้างออกันขึ้นรถ บ้างมองหาคู่นัดหมาย และบ้างซื้อของฝากญาติมิตร”

 

วิภาคสรรพนามคือ บ้าง หมายถึง ผู้โดยสารนั่นเอง และทำหน้าที่เป็นประธานในประโยคสั้นๆ ดังกล่าว

 

ประโยครวมที่ซับซ้อน

 

คือประโยครวมที่มีส่วนขยายเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีประโยครวมซ้อนกันหลายชั้น เช่น

 

“ปรีชาไม่ชอบเล่นฟุตบอลแต่เขาชอบพนันฟุตบอล ดังนั้นเขามีปัญหาเรื่องการเงินและในที่สุดปรีชาหยุดการเรียนไปอย่างน่าเสียดาย”

 

ตัวอย่างข้างบนนี้ “ดังนั้น” เป็นคำสันธานเชื่อมประโยคความรวมทั้ง 2 คู่เข้าด้วยกัน

 

“บุญยืนเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ ฉันจึงรับเขามาเลี้ยงดูด้วยความรักและส่งบุญยืนเรียนหนังสือ แต่ภายหลังเด็กคนนี้ขาดความเชื่อฟังฉันและไปคบเพื่อนที่เลว ดังนั้นเขาจึงติดยาเสพติดไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง”

 

ตัวอย่างข้างบนนี้ “แต่” เป็นคำสันธานเชื่อมประโยคความรวมทั้งหมด

 

ประโยคซ้อนที่ซับซ้อน

 

ตัวอย่างประโยคซ้อนที่ซับซ้อน แบบที่รวมประโยคซ้อนเข้าด้วยกัน เช่น

 

“ประเสริฐเดินทางไปสงขลาโดยรถด่วนสายใต้ขบวนยาวเหยียด เพราะช่วงนั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ที่ทุกคนพากันเดินทางท่องเที่ยว”

 

ตัวอย่างข้างบนนี้ “เพราะ” เป็นคำสันธานเชื่อมระหว่างประโยคซ้อนเข้าด้วยกัน

 

ตัวอย่างประโยคซ้อนที่ซับซ้อน แบบที่ประกอบด้วย ประโยคสามัญและประโยคซ้อน

“พระราชาองค์นี้ทรงทศพิธราชธรรมดียิ่ง ดังนั้นราษฎรจึงรักพระองค์จนพวกเขาสละชีพเพื่อพระองค์ได้”

 

ตัวอย่างข้างบนนี้ ประโยคสามัญคือ “พระราชาองค์นี้ทรงทศพิธราชธรรมดียิ่ง” ประโยคซ้อนคือ “ราษฎรจึงรักพระองค์จนพวกเขาสละชีพเพื่อพระองค์” โดยมีคำเชื่อมระหว่างประโยคสามัญและประโยคซ้อนคือ “ดังนั้น”


 

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว