คำภาษาต่างประเทศที่ใช้ในภาษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 23:17:20
ในภาษาไทยที่เราใช้สื่อสารกันอยู่ทุกวันนี้ มีบางคำที่เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศ เช่น คำยืมภาษาบาลี-ภาษาสันสกฤต คำสมาส คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีคำยืมจากภาษาเขมร คำยืมจากภาษาจีน และคำยืมจากภาษาอื่นๆ อีกมากมาย
การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย ทำให้ภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเปิดกว้าง เรียบง่าย และยืดหยุ่น สามารถนำคำภาษาอื่นมาใช้ได้โดยไม่ต้องมาคิดสร้างคำใหม่
การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้เกิดจากการติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งทางการทูต การค้า และการแลกเปลี่ยน หรือถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมและศาสนา ส่งผลให้ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาต่างประเทศหลากหลายภาษา ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน คำชวา คำมลายู คำภาษาอังกฤษ คำฝรั่งเศส คำโปตุเกส คำภาษาอาหรับ เป็นต้น
คำยืมภาษาบาลี-ภาษาสันสกฤต
ภาษาไทยยืมคำจากภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต มาใช้มากกว่าคำยืมจากภาษาต่างประเทศใดๆ คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย สามารถแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้
1. ใช้เป็นคำราชาศัพท์ คำราชาศัพท์หมายรวมถึงคำที่คนทั่วไปใช้กับพระสงฆ์ และพระสงฆ์ใช้ในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเอง และยังหมายรวมถึงคำภาษาแบบแผนและคำสุภาพทั่วๆ ไป ซึ่งใช้กับข้าราชการและสุภาพชนอีกด้วย
2. ใช้เป็นศัพท์เฉพาะทางศาสนา ศัพท์เฉพาะเหล่านี้นิยมสร้าง หรือยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต
3. ใช้ในการเขียนวรรณคดี ร้อยแก้วและร้อยกรอง
4. ใช้ในภาษามาตรฐานหรือใช้เป็นคำสุภาพ ใช้ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน
5. ใช้เป็นศัพท์บัญญัติ หรือศัพท์เฉพาะทางวิชาการ
6. ใช้เป็นคำสามัญ คือคำในภาษาพูดที่ใช้สนทนากันทั่วไปในชีวิตประจำวัน
7. ใช้เป็นชื่อเฉพาะ ชื่อวัน เดือน ดวงดาวและกลุ่มดาวบนท้องฟ้า เทพเจ้าทั้งชายและหญิง ตลอดจนชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ ตำนาน และเทพนิยายต่างๆ ชื่อสถานที่และอื่นๆ เช่น ชื่อจังหวัด อำเภอ แม่น้ำและภูเขา เป็นต้น
ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาบาลี เช่น กติกา ญาติ เถระ ทัพพี ทุกข์ บัญญัติ บัลลังก์ เมตตา ราชินี ลัทธิ วนิพก วิญญาณ วินิจฉัย สมถะ อุปภัมภ์
ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤต เช่น ครรภ์ จักร ทรัพย์ เทศนา ธรรม ปรารถนา พยายาม พิษ ภาษา พฤษภา ฤกษ์ วิกฤต ศาล ศาสตร์ อาทิตย์
คำสมาส
คำสมาสเป็นคำที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการกลมกลืนเสียงระหว่างคำ 2 คำที่มารวมกัน ได้แก่ คำสมาสที่ไม่สนธิ กับคำสมาสที่มีสนธิ
คำสมาสที่ไม่สนธิ
คำสมาสที่ไม่สนธิ คือ คำสมาสที่ไม่กลมกลืนเสียงของคำ คำสมาสประเภทนี้ เป็นเพียงแต่นำคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต 2 คำ มาเรียงต่อเข้าเป็นคำเดียวกัน เช่น
คุณ + ธรรม = คุณธรรม
ทศ + นิยม = ทศนิยม
จักร + ยาน = จักรยาน
คำสมาสที่มีสนธิ
คำสมาสที่มีสนธิมักใช้สระเสียงยาว (อา อู เอ โอ) เป็นเสียงสระ ที่เชื่อมประสานระหว่างคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่มารวมกัน เช่น
ประชา + อธิปไตย = ประชาธิปไตย
ภัตตะ + อาคาร = ภัตตาคาร
นยะ + อุบาย = นโยบาย
คำสมาสส่วนใหญ่มีความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ดังนั้น เมื่อต้องแปลความหมายตามรูปศัพท์ของคำสมาส จึงมักแปลความหมายของคำหลังก่อน แล้วจึงแปลความหมายของคำหน้า ให้ความหมายของคำหลัง กับคำหน้า มีความสัมพันธ์ทางวากยสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตามความหมายแท้จริงของคำสมาสนั้น เช่น
เกษตรกรรม มาจาก “เกษตร” แปลว่า ท้องนา + “กรรม” แปลว่า งาน หรือการกระทำ จึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การทำการเกษตร หรืองานที่ทำบนที่ดินหรือที่นา ซึ่งหมายถึง การประกอบอาชีพโดยใช้ดินเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั่นเอง
คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
คนไทยได้ศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเป็นเวลานาน จากการติดต่อค้าขายและการทูต จนภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการพูดและการเขียนสื่อสารในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะในปัจจุบัน คนไทยศึกษาความรู้และวิทยาการต่างๆ จากตำราภาษาอังกฤษ และสนใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น คำยืมจากภาษาอังกฤษจึงหลั่งไหลเข้ามาในภาษาไทยมากขึ้นทุกขณะ ทั้งในวงการศึกษา ธุรกิจ การเมือง การบันเทิง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรารับภาษาอังกฤษมาใช้ในรูปแบบของการทับศัพท์เท่านั้น
การทับศัพท์ หมายถึง การถ่ายเสียงและถอดตัวอักษรเป็นภาษาไทย ตัวอย่างคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) เค้ก (Cake) ดาวน์โหลด (Download) แก๊ส (Gas) พลาสติก (Plastic) แท็กซี่ (Taxi) วีดีโอ (Video) เป็นต้น
คำยืมจากภาษาเขมร
คำยืมจากภาษาเขมรที่นำมาใช้ในภาษาไทย มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- มักใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น เสวย เขนย ถวาย ขนง โปรด ตรัส
- คำเขมรที่ใช้ในคำสามัญทั่วไป เช่น กระบือ กระบาล (กบาล) โตนด โขมด จมูก เสนียด เพนียด ตำบล ถนน จังหวัด ทำเนียบ ลำเนา ชุมนุม ชมรม ฯลฯ
- คำเขมรที่เป็นคำโดดคล้ายกับภาษาไทย จนเราเองลืมไป คิดว่าเป็นคำไทยเพราะความใกล้ชิด ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด แต่มีที่สังเกตได้ว่าเป็นคำเขมร ต้องแปลความหมายก่อนจึงจะเข้าใจ เช่น แข (ดวงจันทร์) บาย (ข้าว) เมิล (มอง) ศก (ผม) ฯลฯ
ข้อสังเกตคำที่มาจากภาษาเขมร
1. มักสะกดด้วยพยัญชนะ จ ญ ร ล ส เช่น เสร็จ บังเอิญ จร สรวล จรัส
2. มักเป็นศัพท์พยางค์เดียวที่ต้องแปลความหมาย
3. มักเป็นศัพท์ที่ใช้พยัญชนะควบกล้ำ หรือมีอักษรนำ
4. มักแผลงคำได้
คำยืมจากภาษาจีน
ในอดีต ภาษาบาลีสันสกฤตในไทยนั้นเป็นภาษาชั้นสูง คนทั่วไปน้อยคนนักที่จะได้ศึกษาร่ำเรียน เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ หรือชนชั้นของคนสมัยก่อน (คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจ) แสดงให้เห็นถึงความเป็นภาษานอก ที่รับเข้ามาทีหลังภาษาพื้นถิ่นเดิม ซึ่งภาษาพื้นถิ่นเดิมของไทยมีลักษณะเรียบง่าย เป็นคำโดด และมีการผันเสียงวรรณยุกต์ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท ซึ่งใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตอนใต้ของจีน
หากไม่นับการดัดแปลงอักษรขึ้นใช้เอง ตามระบบผสมคำแบบบาลีและสันสกฤตแล้ว ภาษาไทยแต่เดิมมีความใกล้ชิดกับภาษาจีนมากกว่า ดูอย่างการนับเลขก็พอจะเห็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ชาวจีนเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนศิลปะ รวมถึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสยาม จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ภาษาจีนจะเข้ามาปะปนกับภาษาไทย จนมีคำศัพท์จากภาษาจีนที่เราใช้กันจนติดปากและยากที่จะหาคำอื่นมาแปลได้
ตัวอย่างคำยืมที่มาจากภาษาจีน
กงสี กงฉิน กงไฉ่ กงเต็ก ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เกาหลา กุ๊ย เก๊ เก๊ก เกี้ยว เกี๊ยว เกี๊ยะ กุยเฮง เก๊ก ก๋ง เก้าอี้ ขาก๊วย เข่ง จับกัง จับฉ่าย จับยี่กี จันอับ เจ๊ง เจี๋ยน เจ เฉาก๊วย เซ้ง เซียน แซ่ แซยิด เซ็งลี้ ซาลาเปา ซิ้ม ตะหลิว เต๋า ตุน ตุ๋น แต๊ะเอีย เต้าหู้ เต้าฮวย เต้าเจี้ยว โต๊ะ ไต้ก๋ง ตังเก บ๊วย บะฉ่อ บะหมี่ บู๊ ปุ้งกี๋ ปอเปี๊ยะ แป๊ะเจี๊ยะ พะโล้ เย็นตาโฟ หวย ยี่ห้อ ลิ้นจี่ ห้าง หุ้น เอี๊ยม โสหุ้ย เฮงซวย ฮวงซุ้ย ฮ่องเต้ อั้งโล่
คำที่มาจากภาษาอื่นๆ ในภาษาไทย
- ภาษาทมิฬ เช่น กุลี กานพลู กำมะหยี่ จงกลนี ตรียัมปวาย ตะกั่ว ปะวะหล่ำ ยี่หร่า สาเก อาจาด กะละออม กะหรี่ (ชื่อแกงชนิดหนึ่ง)
- ภาษาเปอร์เซีย เช่น กากี กาหลิบ กุหลาบ คาราวาน ชุกชี ตาด ตรา ตราชู ฝรั่ง ราชาวดี สุหร่าย องุ่น สักหลาด
- ภาษาอาหรับ เช่น กะลาสี การบูร กั้นหยั่น ฝิ่น โก้หร่าน
- ภาษาญี่ปุ่น เช่น เกอิชา กิโมโน คาราเต้ ยูโด เคนโด้ ซามูไร ซูโม่ ซากุระ เทมปุระ ฟูจิ สุกี้ยากี้
- ภาษาโปรตุเกส เช่น สบู่ กัมปะโด ปิ่นโต กะละแม กะละมัง จับปิ้ง เลหลัง บาทหลวง ปัง เหรียญ
- ภาษาฝรั่งเศส เช่น กงสุล กาสิโน กิโยติน แชมเปญ ออเดิร์ฟ คูปอง เปตอง ปาร์เกต์ คาเฟ่ ครัวซองท์ บุฟเฟต์
- ภาษาพม่า เช่น หม่อง กะปิ ส่วย
- ภาษามอญ เช่น มะ เม้ย เปิงมาง ประเคน
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว