www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

การเขียนรายงาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 22:24:18

การเขียนรายงานไม่ว่าจะเป็น รายงานการศึกษาค้นคว้า หรือรายงานโครงงานก็ตาม นักเรียนจำเป็นต้องรู้ถึงส่วนประกอบ ขั้นตอน และวิธีการเรียบเรียงที่ถูกต้อง รายงายที่ได้นั้นจึงจะถูกต้องสมบูรณ์

ภาพ : shutterstock.com

 

การเขียนรายงานโครงงาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอผลงานของโครงงานที่ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าตั้งแต่ต้นจนจบ ในการเขียนรายงานควรใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ และตรงไปตรงมา ให้ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เหล่านี้

ส่วนประกอบของรายงาน

1. ส่วนปกและส่วนต้น ประกอบด้วย

      - ชื่อโครงงาน
      - ชื่อผู้ทำโครงงาน ชั้นปี โรงเรียน และวัน/เดือน/ปีที่จัดทำ
      - ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา
      - คำนำ
      - สารบัญ
      - สารบัญตาราง หรือภาพประกอบ (ถ้ามี)
      - บทคัดย่อ ที่บอกเค้าโครงอย่างย่อๆ ซึ่งประกอบด้วย เรื่อง วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ระยะเวลา และผลสรุป
      - กิตติกรรมประกาศ เพื่อแสดงความขอบคุณบุคคล หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง

2. ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย

      - บทนำ บอกความเป็นมา ความสำคัญของโครงงาน บอกเหตุผล หรือเหตุจูงใจในการเลือกหัวข้อโครงงาน
      - วัตถุประสงค์ของโครงงาน
      - สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
      - การดำเนินงาน อาจเขียนเป็นตาราง แผนผังโครงงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามหัวข้อเรื่อง และตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน พิสูจน์คำตอบ (สมมติฐาน) ตามประเด็นที่กำหนด
      - แผนผังโครงงานจะทำให้เห็นระบบการทำงานอย่างมีเป้าหมาย มีการวางแผนการทำงาน จะเห็นสิ่งที่ต้องการทราบ ทั้งหัวข้อย่อย หรือคำถามย่อยของหัวข้อโครงงาน พร้อมทั้งบอกสมมติฐาน วิธีศึกษา และแหล่งศึกษาค้นคว้าตามแผนผัง
      - สรุปผลการศึกษา เป็นการอธิบายคำตอบที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า ตามหัวข้อย่อยที่ต้องการทราบว่าเป็นไปตามสมมติฐานหรือไม่
      - อภิปรายผล บอกประโยชน์ หรือคุณค่าของผลงานที่ได้ และบอกข้อจำกัดหรือปัญหา อุปสรรค (ถ้ามี) พร้อมทั้งบอกข้อเสนอแนะในการศึกษาค้นคว้า โครงงานลักษณะใกล้เคียงกัน

4. ส่วนท้าย ประกอบด้วย

      - บรรณานุกรม คือรายการเอกสารอ้างอิง หรือเอกสารที่ใช้ค้นคว้า ซึ่งมีหลายประเภท เช่น หนังสือ ตำรา บทความ หรือคอลัมน์ ซึ่งจะมีวิธีการเขียนบรรณานุกรมต่างกัน เช่น

ถ้าเป็นหนังสือ ให้ใช้รูปแบบ : ชื่อนามสกุลผู้เขียน. ชื่อหนังสือ. สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์
ถ้าเป็นบทความในวารสาร ให้ใช้รูปแบบ : ชื่อนามสกุลผู้เขียน "ชื่อบทความ," ชื่อวารสาร. ปีที่หรือเล่มที่ : หน้า; วัน เดือน ปี.
ถ้าเป็นคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์ ให้ใช้รูปแบบ : ชื่อผู้เขียน "ชื่อคอลัมน์ : ชื่อเรื่องในคอลัมน์" ชื่อหนังสือพิมพ์. วัน เดือน ปี. หน้า.

- ภาคผนวก เช่น โครงร่างโครงงาน ภาพกิจกรรม แบบสอบถาม หรือบทสัมภาษณ์

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว