www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

การเขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ และแสดงความรู้ ความคิดเห็น หรือโต้แย้งจากสื่อต่างๆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 22:10:00

หากเราได้ศึกษาและทำความเข้าใจถึงหลักการเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ การเขียนแสดงความคิดเห็น และการเขียนโต้แย้งแล้ว เราจะสามารถเขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ และแสดงความรู้ ความคิดเห็น หรือโต้แย้งในเรื่องต่างๆ หรือสื่อต่างๆ เช่น บทโฆษณา บทความทางวิชาการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ : shutterstock.com

การเขียนวิเคราะห์วิจารณ์

เป็นกระบวนการเขียนที่ผู้เขียนนำเสนอสารผ่านการพิจรณา แยกแยะข้อมูล แล้ววิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย แล้วนำไปประเมินค่า เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ การเขียนวิเคราะห์วิจารณ์มีหลักการดังนี้

1. ศึกษาเรื่องอย่างละเอียดอย่างถ่องแท้
2. วิเคราะห์แยกแยะเนื้อหาเป็นส่วนๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความสัมพันธ์กันหรือไม่
3. วิเคราะห์เนื้อหาแล้วประเมินค่าว่ามีข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย หรือข้อบกพร่องอย่างไร
4. วิจารณ์ข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วไปประเมินค่าให้เห็นว่ามีคุณค่าหรือมีข้อบกพร่องอย่างไร
5. วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
6. เรียบเรียงความคิดที่วิเคราะห์วิจารณ์เป็นบทพูด ใช้คำที่มีความหมายกระชับตรงประเด็น

 

การเขียนแสดงความคิดเห็น

เป็นการเขียนที่ประกอบด้วยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง กับการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความคิดเห็นควรจะมีเหตุผลและเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ผู้รับสารเรื่องเดียวกันไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นเหมือนกัน เป็นการมองต่างมุม และเป็นความคิดเห็นเฉพาะบุคคล

การเขียนแสดงความคิดเห็นมีหลักการดังนี้

1. การเลือกเรื่อง ผู้เขียนควรเลือกเรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมหรือเป็นเรื่องที่ทันสมัย อาจเกี่ยวกับเหตุการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือข่าวเหตุการประจำวัน ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีความรู้และเข้าใจเรื่องที่ตนจะแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างดี เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างลึกซึ้ง

2. การให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เลือกมานั้นจะต้องมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ที่มาของเรื่องความสำคัญ และเหตุการณ์เป็นต้น ดังนั้นจึงควรจะต้องศึกษาเรื่องที่จะเขียนอย่างละเอียด จับใจความสำคัญของเรื่องให้ได้ และศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องจากแหล่งความรู้อื่นๆ ประกอบ จากนั้นจึงพิจารณาข้อเด่นข้อด้อย พร้อมทั้งยกเหตุผลประกอบข้อคิดเห็น

3. การแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนอาจแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องได้ 4 ลักษณะดังนี้ คือ

     - การแสดงความคิดเห็นเพื่อตั้งข้อสังเกต เช่น การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ต ความนิยมรับประทานอาหารเสริมสุขภาพ
     - การแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริง เช่น หัวข้อเรื่องการจัดระเบียบสังคมของร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ การปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดของรัฐบาล
     - การแสดงความคิดเห็นเพื่อโต้แย้งข้อเท็จจริง เช่น หัวข้อเรื่อง การกินยาลดความอ้วนของวัยรุ่น การเปิดเสรีการค้าน้ำเมาของภูมิปัญญาชาวบ้าน
     - การแสดงความคิดเห็นเพื่อประเมินค่า เช่น หัวข้อเรื่องการวิจารณ์เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์

4. การเรียบเรียง มีลำดับขั้นตอนดังนี้

     - การตั้งชื่อ ควรตั้งชื่อเรื่องให้เร้าความสนใจผู้อ่าน และสอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเขียน เพราะชื่อเรื่องเป็นส่วนที่ผู้อ่านจะต้องอ่านเป็นอันดับแรก และเป็นการบอกขอบเขตของเรื่องด้วย
     - การเปิดเรื่อง ใช้หลักการเขียนเช่นเดียวกันกับคำนำ และควรเปิดเรื่องให้น่าสนใจ ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องต่อไป
     - การลำดับ ควรลำดับเรื่องให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เขียนวกไปวนมา เพราะผู้อ่านอาจเกิดความสับสนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง และส่วนใดเป็นการแสดงความคิดเห็น
     - การปิดเรื่อง ใช้หลักการเช่นเดียวกับการเขียนสรุป และควรปิดเรื่องให้ผู้อ่านประทับใจ

5. การใช้ภาษา ควรใช้ภาษาอย่างสละสลวย ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ มีการใช้สำนวนโวหารอย่างเหมาะสมกับเรื่อง นอกจากนั้น ยังต้องใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายได้ตรงตามอารมณ์ และความรู้สึกของผู้เขียน ทั้งนี้ ควรเขียนอย่างเป็นกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่แสดงอารมณ์รุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายหลัง

 

การเขียนโต้แย้ง

เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่ง โดยมุ่งที่จะโต้แย้งข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนโต้แย้งความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ ด้วยเหตุผล ข้อมูล สถิติ และการอ้างความคิดเห็นของผู้รู้ มาสนับสนุนความคิดเห็นของตน เพื่อคัดค้านความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การฝึกเขียนโต้แย้งจจึงเป็นการฝึกทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล คิดรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน การเขียนโต้แย้งมีหลักการดังนี้

1. กำหนดหัวข้อและขอบเขตของการโต้แย้ง เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็นที่จะโต้แย้ง
2. แบ่งเนื้อหาออกเป็นประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
3. ผู้โต้แย้งต้องมีพื้นความรู้ดีพอเกี่ยวกับหัวข้อที่นำมาโต้แย้ง
4. เรียบเรียงและนำเสนอข้อโต้แย้งได้อย่างละเอียดชัดเจน
5. แบ่งกระบวนการโต้แย้งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือการตั้งประเด็น การนิยามคำที่อยู่ในประเด็นของการโต้แย้ง การค้นหาและเรียบเรียงข้อสนับสนุนทรรศนะของตน การชี้ให้เห็นจุดอ่อนและข้อผิดพลาดของความคิดเห็นฝ่ายตรงข้าม

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก