www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

การเขียนอัตชีวประวัติ หรือชีวประวัติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 21:47:31

การเขียนถึงประวัติตัวเอง เราเรียกว่า อัตชีวประวัติ ส่วนการเขียนชีวประวัตินั้น เรากล่าวถึงประวัติของบุคคลอื่น ซึ่งนอกจากการเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว เรายังสามารถแสดงข้อคิดเห็นหรือทัศนคติที่มีต่อเรื่องต่างๆ ได้

ภาพ : shutterstock.com

ชีวประวัติ คืองานเขียนที่กล่าวถึงเรื่องราวของบุคคล เป็นประวัติของบุคคลหนึ่งๆ ไม่กล่าวถึง วันเกิด อาชีพ การศึกษา แต่เพียงเท่านั้น หากแต่จะมีการกล่าวถึงเรื่องราวของแต่ละช่วงชีวิต และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วย ทั้งนี้ หากเป็นประวัติของผู้เขียนเอง จะเรียกว่า อัตชีวประวัติ

การเขียนประวัติชีวิตเป็นงานเขียนร้อยแก้ว จัดเป็นงานเขียนประเภทสารคดีประเภทหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นตัวอย่าง หรือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยใช้ภาษาเรียบเรียงอย่างมีศิลปะ

การเขียนประวัติบุคคลสำคัญ อาจนำเรื่องด้วยการบอกลักษณะเด่นของประวัติชีวิตของบุคคลนั้นๆ ด้วยการกล่าวถึงเกียรติประวัติ หรือประวัติในช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของบุคคลนั้น โดยเฉพาะตอนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รวมทั้งเกียรติประวัติที่บุคคลนั้นได้รับ ตอนสรุปอาจให้ข้อคิดที่ได้จากประวัตินั้นๆ

 

ลักษณะของงานเขียนอัตชีวประวัติ

- เป็นงานเขียนที่นำเสนอข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับตัวของผู้เขียนเอง

- เนื้อหาประกอบด้วย ประวัติส่วนตัว การศึกษา การทำงาน ความสัมพันธ์ อีกทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญในชีวิตของตัวผู้เขียน เป็นการนำเสนอเรื่องราว ประสบการณ์ และอาจเล่าถึงชีวิตที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน โดยมากแล้วการเขียนอัตชีวประวัติจะเขียนจากความทรงจำของตัวผู้เขียนเอง มีลักษณะใกล้เคียงกับบันทึกความทรงจำ

 

หลักการเขียนชีวประวัติ

1. ใช้ภาษาระดับทางการหรือกึ่งทางการ
2. ศึกษาข้อมูล รวบรวม หรือค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติของเราหรือของผู้ที่เราจะเขียนชีวประวัติ
3. เนื้อหาเสนอแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของตัวเรา หรือของคนที่เราเขียน โดยอาจจะเพิ่มทัศนะคติหรือความคิดเห็นลงไปด้วย
4. เลือกใช้ภาษาในการนำเสนอที่น่าสนใจ มีการเรียบเรียงลำดับอย่างละเอียดและชัดเจน
5. ในกรณีที่เขียนชีวประวัติของผู้อื่น พึงให้เกียรติผู้ที่เราเขียนถึง ไม่กล่าวถึงในเรื่องที่เสียหาย อันจะก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีของผู้อ่านต่อผู้ที่เราเขียนถึง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว