www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

การอ่านตามความสนใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 21:16:48

ผู้อ่านแต่ละคนสามารถเลือกอ่านหนังสือแตกต่างกันไป การอ่านตามความสนใจล้วนให้สาระและความบันเทิงทั้งสิ้น ทั้งนี้ การมีทักษะการอ่านตีความที่ถูกต้อง ยังช่วยให้เราสามารถตีความ และประเมินคุณค่าแนวคิดที่ได้จากหนังสือต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อชีวิต

ภาพ : shutterstock.com

การอ่านเป็นการรับสารที่มีคุณค่า เป็นทางที่นำไปสู่ความรู้ที่สำคัญมาก เพราะหนังสือคือข้อมูล ข้อคิดเห็น และประสบการณ์ของผู้เขียนที่นำมาย่อยให้เราอ่าน เราจะสามารถหาความรู้เพิ่มพูนได้ โดยที่ไม่ต้องออกไปค้นคว้าและทดลองเองทุกอย่าง แต่เพียงแค่เปิดหนังสืออ่าน นับว่าการอ่านเป็นการช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ได้อย่างมาก และทำให้การศึกษาของมนุษย์มีความก้าวหน้า ไม่ต้องย้ำรอยอยู่กับที่

อย่างไรก็ตาม เหมือนกับที่สิ่งประดามีในโลกนี้ ย่อมมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป งานเขียนก็มีทั้งที่ดีและที่ไม่ดีดุจดังกัน การอ่านงานเขียนจึงต้องมีการตีความและประเมินคุณค่า เพื่อให้รู้ว่างานเขียนชิ้นนั้นๆ มีคุณค่าควรแก่การอ่านมากน้อยเพียงใด

การอ่านตีความ หมายถึง การอ่านเพื่อให้เข้าใจความหมาย ความคิดสำคัญของเรื่อง ความรู้สึก และอารมณ์สะเทือนใจจากบทประพันธ์ ซึ่งอาจเข้าใจได้มากน้อยลึกซึ้งเพียงใด ตรงกันกับผู้ประพันธ์หรือไม่ หรือผู้อ่านคนอื่นๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์เดิม รวมถึงความรู้สึกของผู้อ่านแต่ละคน

การตีความของทุกคนอาจไม่ตรงกันเสมอไป โดยในกระบวนการอ่านเพื่อตีความนั้น ผู้อ่านจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถในการแปลความ จับใจความสำคัญ การสรุปความ รวมทั้งการเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ของข้อความ

การอ่านตีความเป็นการอ่านที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ประสบการณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์ของผู้อ่าน การอ่านตีควมเป็นการอ่านขั้นสำคัญที่ทำให้เข้าใจงานเขียนทุกชนิด การอ่านตีความจึงมีความสำคัญ ดังนี้

1. ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่อ่านได้หลายแง่หลายมุม
2. ช่วยให้เห็นคุณค่าของวรรณกรรม อันมีผลเกี่ยวโยงถึงคุณค่าของชีวิตและสิ่งแวดล้อม
3. การอ่านตีความช่วยให้เกิดการฝึกคิด ฝึกไตร่ตรองเหตุผล เป็นผลให้ผู้อ่านมีความละเอียด ถี่ถ้วนและมีวิจารณญาณในการอ่านมากยิ่งขึ้น
4. การอ่านตีความเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงงานประพันธ์นั้นๆ
5. การอ่านตีความช่วยให้ผู้อ่านมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ลึกซึ้ง มีใจกว้างยอมรับความแตกต่าง ของมนุษย์ด้วยกันได้

 

แนวทางในการอ่านตีความ และการประเมินค่าแนวคิดจากการอ่าน มีดังนี้

1. ในการอ่านงานเขียนต่างๆ เช่นหนังสือนอกเวลา หนังสือที่เราสนใจ ควรอ่านข้อความทั้งหมดก่อน เพื่อทำความเข้าใจความหมายโดยรวมของเรื่องที่อ่าน
2. พิจารณาว่า ผู้เขียนสื่อความคิดให้ผู้อ่านเกิดปฏิกิริยาในเรื่องใดบ้างจากการอ่าน และผู้เขียนต้องการแสดงข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นอะไร หรือแสดงอารมณ์ความรู้สึกใดที่เด่นที่สุด
3. สรุปรวบยอดใจความสำคัญของสารว่าคืออะไร จากนั้นเข้าสู่การตีความ โดยเริ่มจากการตีความคำศัพท์ สำนวน ประโยคจากเรื่องที่อ่านว่ามีความหมายโดยตรง ความหมายโดยนัยอะไรบ้าง แล้วตีความแนวคิดหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ
4. เมื่อตีความเรื่องที่อ่านได้แล้ว ก็เข้าสู่การประเมินคุณค่างานเขียนด้วยการอธิบายลักษณะดี ลักษณะบกพร่องของงานเขียนในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ด้านเนื้อเรื่อง ด้านความคิดเห็น ด้านทำนองการแต่ง การประเมินคุณค่างานเขียนเป็นการนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ และตัดสินว่างานเขียนที่อ่านนั้นมีคุณประโยชน์ หรือเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมหรือไม่


 

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว