www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.3

โวหารภาพพจน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-09 21:09:17

 

ในการอ่านวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่างๆ เรามักจะเจอกับคำต่างๆ ที่ใช้แทนการเปรียบเทียบ ทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจได้ดีขึ้น กลวิธีการเปรียบเทียบนั้น เรียกว่า โวหารภาพพจน์ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น พรรณนาโวหาร อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

การเปรียบเทียบเรื่องราวที่ได้วิเคราะห์ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจน จะใช้โวหารได้หลายรูปแบบ ตามเนื้อหาของเรื่องราวที่อ่าน

“โวหาร” หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารที่เรียบเรียงเป็นอย่างดี มีวิธีการ มีชั้นเชิง และมีศิลปะ เพื่อสื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจสารได้อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจนและลึกซึ้ง รับสารได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร

 

ประเภทของโวหาร

1. บรรยายโวหาร เป็นโวหารที่ใช้บอกกล่าว เล่าเรื่อง อธิบาย หรือบรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ ตลอดจนความรู้ต่างๆ อย่างละเอียด เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน โดยชี้ให้เห็นถึงสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ สาเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่เกิดจากเหตุการณ์นั้น เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาสาระอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เนื้อหาที่บรรยายอาจเป็นเรื่องที่สมมุติหรือเป็นเรื่องจริงก็ได้

2. อธิบายโวหาร เป็นโวหารที่ทำให้ความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งกระจ่างชัดเจนขึ้น มักใช้ในงานเขียนทางวิชาการ และตำรับตำราต่างๆ โดยมีจุดประสงค์คือการนำประเด็นที่สงสัยมาอธิบายให้เข้าใจจนแจ่มแจ้ง ในการเล่าเรื่องบางช่วง ถ้ามีประเด็นใดที่เป็นปัญหาก็อาจใช้อธิบายโวหารเสริมความตอนนั้นจนเรื่องกระจ่างชัดเจนขึ้นได้ บางท่านจึงถือว่าอธิบายโวหารเป็นส่วนหนึ่งของบรรยายโวหาร

3. พรรณนาโวหาร เป็นโวหารที่ใช้กล่าวถึงเรื่องราว สถานที่ บุคคล สิ่งของ หรืออารมณ์อย่างละเอียด โดยสอดแทรกอารมณ์และความรู้สึกลงไปในเนื้อหา ด้วยการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดจินตนาการ เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วย ใช้ในการเขียนเชิงโน้มน้าวอารมณ์ของผู้ฟัง หรือเขียนสดุดี ชมเมือง ชมความงามของบุคคล และสถานที่ รวมทั้งใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เป็นต้น

4. อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่ใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจความหมาย หรือเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้โวหารประเภทนี้เมื่อไม่อาจใช้การบรรยายหรืออธิบายเรื่องราวตรงๆ ได้ จึงต้องเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้อ่านจะนึกตามได้หรือมีความเข้าใจอยู่แล้ว มักใช้ประกอบโวหารประเภทอื่นๆ เช่น เทศนาโวหาร บรรยายโวหาร โดยเฉพาะพรรณนาโวหาร เพราะจะช่วยให้รสของถ้อยคำและรสของเนื้อความไพเราะสละสลวยยิ่งขึ้น

5. สาธกโวหาร เป็นโวหารที่มุ่งให้ความชัดเจนโดยการยกตัวอย่างหรือเรื่องราวประกอบการอธิบาย เพื่อสนับสนุนข้อคิดเห็นต่างๆ ให้หนักแน่น มีความสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น ทำให้ผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาสาระอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ตัวอย่างหรือเรื่องราวที่ยกขึ้นประกอบอาจเป็นเรื่องสั้นๆ หรือเรื่องราวยาวๆ ก็ได้

6. เทศนาโวหาร เป็นโวหารที่มุ่งโน้มน้าวใจให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามหรือเชื่อฟัง เป็นการกล่าวในเชิงสั่งสอน อบรม ชี้แนะ หรือชักจูงใจโดยยกเหตุผล ยกตัวอย่าง ยกหลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง สุภาษิต ตลอดจนคติธรรมต่างๆ มาแสดงเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่กระจ่างจนยอมรับ เชื่อถือ มีความเห็นคล้อยตาม และปฏิบัติตามในที่สุด โวหารประเภทนี้มักใช้ในการให้โอวาท อบรมสั่งสอน อธิบายหลักธรรมและคำชี้แจงเหตุผล รวมถึงการนำเสนอทัศนะ เป็นต้น


 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว