www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.2

สรุปความรู้และข้อคิดจากการอ่าน แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 21:32:38

ประโยชน์ของวรรณคดีมีนานัปการ แต่นอกจากประโยชน์ทางตรง อย่างการอ่านเพื่อความบันเทิง การพัฒนาภาษา และการส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงามแล้ว เรายังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการอ่านวรรณคดีอีกด้วย กล่าวคือ การนำเอาข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดี ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราเอง ซึ่งการจะเก็บเอาข้อคิดจากวรรณคดีเรื่องหนึ่งๆ ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับทักษะในการอ่านของเราเอง

ภาพ : shutterstock.com

วรรณคดีส่วนมากอาศัยการเล่าเรื่อง ดำเนินเรื่องผ่านการกระทำของตัวละคร การจะเข้าใจความหมายและข้อคิดที่แฝงฝังอยู่ ต้องอาศัยความช่างสังเกต การคิดวิเคราะห์ การวิพากษ์วิจารณ์

แต่ก็มีวรรณคดีบางเรื่องที่นำเสนอแนวคิดในการดำเนินชีวิตโดยตรง เช่น “โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์” โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ กล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นนามธรรม แต่มีรูปธรรมสามประการ คือ มิตร บ้าน หนังสือ

 

สิ่งที่ควรปฏิบัติและควรละเว้นในโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์

1. สามสิ่งควรรัก คือ ความกล้าพูด ความสุภาพ ความรักหวังดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ

2. สามสิ่งควรชม คือ ปัญญา เกียรติยศ การมีมารยาทดี

3. สามสิ่งควรเกลียด คือ ความดุร้าย ความหยิ่งกำเริบ ความอกตัญญู

4. สามสิ่งควรรังเกียจติเตียน คือ ความชั่วเลวทราม มารยา ความริษยา

5. สามสิ่งควรเคารพ คือ ศาสนา ความยุติธรรม ความประพฤติเป็นประโยชน์ทั่วไป

6. สามสิ่งควรยินดี คือ ความงาม ความซื่อตรง ความเป็นไทยแก่ตนเอง

7. สามสิ่งควรปรารถนา คือ ความสุขสบาย มิตรสหาย จิตใจที่ผ่องใส

8. สามสิ่งควรอ้อนวอน คือ มีจิตใจมั่นคง มีความสงบ มีจิตใจบริสุทธิ์

9. สามสิ่งควรนับถือ คือ สติปัญญา ความฉลาด ความมั่นคง

10. สามสิ่งควรจะสอน คือ ความเอื้ออารี ความสนุกสนาน ความเบิกบาน

11. สามสิ่งควรสงสัย คือ คำกล่าวยอ ความหน้าเนื้อใจเสือ ความกลับกลอก

12. สามสิ่งควรละ คือ ความเกียจคร้าน การพูดเพ้อเจ้อ วาจาหยาบคาย

13. สามสิ่งควรกระทำให้มี คือ หนังสือดี เพื่อนดี ความปราศจากอคติอันเนื่องมาจากความโกรธ

14. สามสิ่งควรหวงแหน  คือ ชื่อเสียงยศศักดิ์ บ้านเมืองของตน มิตรสหาย

15. สามสิ่งควรระวัง คือ อาการที่เกิดจากใจพาไป ความมักง่าย วาจา

16. สามสิ่งควรเตรียมรับ คือ อนิจจัง ชรา มรณะ

 

ข้อคิดจากโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์

1. การใช้คำพูดที่สุภาพ จริงใจ มีมารยาทจะทำให้ได้รับความรัก และชื่นชมจากผู้อื่น

2. การประพฤติปฏิบัติในสิ่งดี และละเว้นสิ่งที่ควรเกลียด จะนำไปสู่ความสุข ความเจริญในชีวิต

3. บุคคลใดชื่อว่าบัณฑิตควรชอบและชื่นชมความกล้า ความสุภาพ ปัญญา เกียรติยศ และมารยาท

4. มนุษย์ควรเตรียมใจให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เป็นสัจธรรมของชีวิต

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์  พลอยแก้ว