การวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดี วรรณกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 21:01:31
วรรณกรรม และวรรณคดี เป็นเรื่องราวที่ทรงคุณค่า มีความไพเราะงดงาม มีข้อคิดและคติสอนใจแฝงอยู่ในเรื่อง สมควรที่เราจะอ่านอย่างเอาใจใส่ โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของวรรณกรรม หรือวรรณคดีนั้นๆ แล้ววิจารณ์อย่างละเอียดในด้านต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความงดงามและคุณค่าที่แท้จริงของวรรณกรรมหรือวรรณคดีนั้นๆ
วรรณกรรม คือ งานศิลปะในรูปแบบการประพันธ์ การเขียน การนำเสนอ การบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งสารคดี และบันเทิงคดี
วรรณคดี คือ วรรณกรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาช้านาน เป็นงานที่ทรงคุณค่า ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี
วรรณคดีแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. วรรณคดีมุขปาฐะ คือ วรรณคดีที่เล่าสืบทอดต่อๆ กันมา เช่นเพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก
2. วรรณคดีลายลักษณ์ เป็นวรรณคดีที่จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในรูปแบบของสมุดไทย ใบลาน หรือสิ่งพิมพ์ในรูปแบบหนังสือ
วรรณกรรมท้องถิ่น คือ เรื่องราวต่างๆ ในท้องถิ่นที่เป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ที่ถ่ายทอดในเรื่องความเชื่อ ความรู้ ความคิดของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น นิทานพื้นบ้าน ภาษิต ปริศนา และเพลงกล่อมเด็ก
วรรณกรรมท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ
1. ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยคนในท้องถิ่นจะสืบทอดความเชื่อ ความคิด ด้วยการบอกเล่า สั่งสอนสืบต่อกันมา
2. เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นวรรณกรรมที่จดบันทึก สืบทอดกันมา
วรรณกรรมท้องถิ่นแบ่งได้เป็น 4 ท้องถิ่น คือ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นกลาง ภาษาถิ่นใต้ และภาษาถิ่นอีสาน วรรณกรรมแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะเด่นในตัวเอง คือ
- ลักษณะภาษา ถ้อยคำ และการแต่งคำประพันธ์
- เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
- คำสอน ข้อเตือนใจ หรือแนวทางปฏิบัติของคนในท้องถิ่นที่ยอมรับว่าดีงาม
ขั้นตอนการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดี
1. อ่านอย่างช้าๆ ละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเป็นบทร้อยกรอง ควรอ่านออกเสียง เพื่อรับรสคำ และพยายามใส่ความรู้สึกนึกคิดลงไปในการอ่านด้วย
2. ค้นหาความหมายของคำศัพท์ เพื่อหาความหมายที่ซ่อนเร้น
3. ศึกษากลวิธีในการแต่ง ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น การใช้คำที่แฝงนัยหลายความหมาย การเล่นคำ สัมผัสอักษร สัมผัสสระ ทำให้เกิดความไพเราะ การใช้อุปมาโวหาร หรือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การใช้พรรณนาโวหาร และอติพจน์ เพื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึก
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว