วรรณคดีและวรรณกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 20:55:04
วรรณกรรมคือเรื่องแต่ง หรืองานประพันธ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสารคดีที่มุ่งให้ความรู้ หรือบันเทิงคดีที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นหลัก ส่วนวรรณคดีคือวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งได้ดี ทรงคุณค่า กล่าวคือ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ สื่อความหมายได้ชัดเจน มีศิลปะการประพันธ์ที่งดงาม ทั้งด้านการใช้ถ้อยคำและโวหาร ใช้ภาษาที่ไพเราะ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม เกิดความสะเทือนใจ หรือความยินดี ซาบซึ้ง ดื่มด่ำ ซึ่งต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม
วรรณคดีไทยจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้
1. วรรณคดีพระพุทธศาสนา มุ่งแสดงหลักคำสอนให้เห็นถึงผลของการทำดีทำชั่ว เช่น ไตรภูมิพระร่วง ร่ายยาวมหาเวชสันดรชาดก
2. วรรณคดีสุภาษิต คำสอน มุ่งแสดงแนวทางในการปฏิบัติตนในสังคม เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ อิศรญาณภาษิต
3. วรรณคดีเกี่ยวกับประเพณี และพิธีกรรม เช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง
4. วรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย ราชาธิราช สามก๊ก
5. วรรณคดีเพื่อความบันเทิง แต่งเพื่อเป็นมหรสพต่างๆ เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ มโนราห์
6. วรรณคดีบันทึกการเดินทาง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศพระบาท นิราศเมืองเพชร นิราศนรินทร์
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว