www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.2

คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 20:23:50

ภาษาไทย มีคำใช้มากมายทั้งคำไทยแท้ และคำที่มาจากภาษาอื่น การนำคำจากภาษาอื่นมาใช้ โดยเฉพาะจากภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน และอังกฤษ เกิดจากการติดต่อทั้งทางการค้า การทูต การถ่ายทอดศิลปะวิทยาการ การเผยแผ่ศาสนา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม 

ภาพ : shutterstock.com

การรับคำภาษาต่างประเทศมาใช้นั้น ไทยเรามีวิธีออกเสียงให้เป็นแบบไทย ไม่ว่าจะเป็น บาลี สันสกฤต เขมร พม่า ลาว จีน ชวา มลายู อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส หรืออาหรับ การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทยทำให้ภาษามีความเจริญงอกงามและมีคำใช้มากขึ้น ลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของทุกภาษาในโลก

 

ภาษาบาลี และสันสกฤต

ภาษาบาลี และสันสกฤต มีข้อแตกต่างหลายประการ เช่น

- สระ ภาษาบาลีมีสระ 8 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ส่วนภาษาสันสกฤตมีสระ 14 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา

- พยัญชนะ ภาษาบาลีมีพยัญชนะ 33 เสียง ส่วนภาษาสันสกฤตมีพยัญชนะ 35 เสียง (ตัวอักษร ศ และ ษ ไม่มีในบาลี)

- พยัญชนะควบกล้ำ ภาษาบาลีไม่นิยมควบกล้ำ แต่ภาษาสันสกฤตนิยมคำควบกล้ำ เช่น

คำบาลี

คำสันสกฤต

กีฬา

กรีฑา

กิเลส

เกลศ

เขต

เกษตร

ขัตติยะ

กษัตริย์

จัก

จักร

เขม

เกษม

จักขุ

จักษุ

ปณีต

ประณีต

ภัททะ

ภัทร

ภิกขุ

ภิกษุ

นิพพาน

นิรวาณ

สัตตุ

ศัตรู​

- พยัญชนะ ฬ และ ฑ ภาษาบาลีนิยมใช้ ฬ ส่วนภาษาสันสกฤตนิยมใช้ ฑ เช่น

คำบาลี

คำสันสกฤต

กีฬา

กรีฑา

จุฬา

จุฑา

ครุฬ

ครุฑ

เวฬุริยะ

ไพฑูรย์

- ภาษาสันสกฤต นิยมใช้ “รร” ส่วนภาษาบาลีไม่ใช้ “รร” ตัวอย่างภาษาสันสกฤตที่ใช้ “รร” เช่น กรรม กรรณ ครรภ์ จรรยา ดรรชนี ธรรม

 

การยืมคำจากภาษาเขมร

คำยืมจากภาษาเขมรที่นำมาใช้ในภาษาไทย มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

- มักใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น เสวย เขนย ถวาย ขนง โปรด ตรัส

- คำเขมรที่ใช้ในคำสามัญทั่วไป เช่น กระบือ กระบาล (กบาล) โตนด โขมด จมูก เสนียด เพนียด ตำบล ถนน จังหวัด ทำเนียบ ลำเนา ชุมนุม ชมรม ฯลฯ

- คำเขมรที่เป็นคำโดดคล้ายกับภาษาไทย จนเราเองลืมไป คิดว่าเป็นคำไทยเพราะความใกล้ชิด ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด แต่มีที่สังเกตได้ว่าเป็นคำเขมร ต้องแปลความหมายก่อนจึงจะเข้าใจ เช่น แข (ดวงจันทร์) บาย (ข้าว) เมิล (มอง) ศก (ผม) ฯลฯ

 

ข้อสังเกตคำที่มาจากภาษาเขมร

1. คำเขมรนิยมใช้เสียงพยัญชนะควบกล้ำ ร ล ว เช่น กระบือ ไกร ขลัง

2. คำเขมรนิยมใช้คำเติมหน้าเพื่อให้เกิดคำใหม่ เช่น บัง – กำบัง, จง – บรรจง, ดาล – บันดาล, เพ็ญ – บำเพ็ญ, ชุม – ประชุม, รวม – สำรวม เป็นต้น

3. คำเขมรนิยมใช้คำเติมตรงกลางเพื่อให้เกิดคำใหม่ เช่น กราบ (อำ) – กำราบ, เกิด (อำ-น) – กำเนิด, แข็ง (อำ-ห) – กำแหง, บวช (น) – ผนวช, เรียบ (อะ-บ) – ระเบียบ, โลภ (อะ-ม) – ละโมบ เป็นต้น

4. คำเขมรนิยมสะกดไม่ตรงมาตรา เช่น แม่กด ใช้ จ ส สะกด เช่น ตรวจ เสด็จ ตรัส จรัส ส่วนแม่กน ใช้ ญ ร ล สะกด เช่น เจริญ ขจร สมควร ถกล เป็นต้น

 

ภาษาจีนที่มีใช้ในภาษาไทย

ภาษาพื้นถิ่นเดิมของไทยมีลักษณะเรียบง่าย เป็นคำโดด และมีการผันเสียงวรรณยุกต์ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท ซึ่งใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบตอนใต้ของจีน หากไม่นับการดัดแปลงอักษรขึ้นใช้เอง ตามระบบผสมคำแบบบาลีและสันสกฤตแล้ว ภาษาไทยเดิมมีความใกล้ชิดกับภาษาจีนมากกว่า

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ชาวจีนเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนศิลปะ รวมถึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสยาม จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ภาษาจีนจะเข้ามาปะปนกับภาษาไทย จนมีคำศัพท์จากภาษาจีนที่เราใช้กันจนติดปากและ ยากที่จะหาคำอื่นมาแปลได้

 

หลักการสังเกตคำภาษาไทยที่มาจากภาษาจีน

- เป็นชื่ออาหารการกิน เช่น ก๋วยเตี๋ยว เต้าทึง แป๊ะซะ เฉาก๊วย จับฉ่าย เป็นต้น

- เป็นคำที่เกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ที่เรารับมาจากชาวจีน เช่น ตะหลิว ตึก เก้าอี้ เก๋ง ฮวงซุ้ย

- เป็นคำที่เกี่ยวกับการค้า เช่น เจ๊ง หุ้น ห้าง โสหุ้ย เป็นต้น

- เป็นคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรี จัตวา เป็นส่วนมาก เช่น ก๋วยจั๊บ กุ๊ย เก๊ เก๊ก ก๋ง ตุ๋น เป็นต้น

 

คำที่มาจากภาษาอังกฤษ

คนไทยได้ศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเป็นเวลานาน จากการติดต่อค้าขาย และการทูต จนภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการพูด และการเขียนสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในปัจจุบัน คนไทยศึกษาความรู้และวิทยาการต่างๆ จากตำราภาษาอังกฤษ และสนใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น คำยืมจากภาษาอังกฤษจึงหลั่งไหลเข้ามาในภาษาไทยมากขึ้นทุกขณะ ทั้งในวงการศึกษา ธุรกิจ การเมือง การบันเทิง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรารับภาษาอังกฤษมาใช้ในรูปแบบของการทับศัพท์เท่านั้น การทับศัพท์หมายถึง การถ่ายเสียง และถอดตัวอักษรเป็นภาษาไทย

 

ตัวอย่างคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษที่มีใช้ในภาษาไทย

กราฟ การ์ตูน กลูโคส กัปตัน แก๊ส กุ๊ก เกียร์ แก๊ง แกลลอน คริสต์มาส ไดนาโม ไดโนเสาร์ ครีม คลอรีน คอนกรีต คลินิก คอนเสิร์ต คอมพิวเตอร์ คุกกี้ เคเบิล เครดิต แคปซูล เคาน์เตอร์ แคลอรี โควตา ชอล์ก ช็อกโกเลต เช็ค เชิ้ต เชียร์ โชว์ ซีเมนต์ เซลล์ ไซเรน ดีเซล ดอลลาร์ ดีเปรสชัน เต็นท์ ทอนซิล เทอม แท็กซี่ แทรกเตอร์ นิโคติน นิวเคลียร์ นีออน นิวเคลียส โน้ต ไนลอน บล็อก เบนซีน แบคทีเรีย ปลั๊ก ปิกนิก เปอร์เซ็นต์ พลาสติก พีระมิด ฟลูออรีน ฟอร์มาลีน ฟังก์ชัน ฟาร์ม ฟิสิกส์ มอเตอร์ มัมมี่ มาเลเรีย โมเลกุล ไมล์ ไมโครโฟน ไมโครเวฟ ยิปซัม ยีราฟ ริบบิ้น เรดาร์ ลิกไนต์ ลิปสติก เลเซอร์ วัคซีน วิตามิน ไวโอลิน

 ​

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว