กลอนสุภาพ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 19:35:13
กลอนสุภาพ เป็นร้อยกรองที่ได้รับความนิยมมาก เพราะมีความไพเราะและเรียบง่าย เป็นแม่แบบของกลอนอีกหลายรูปแบบ เช่น กลอนดอกสร้อย ที่แตกต่างกันตรงวรรคแรกที่มีเพียง 4 คำ โดยคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำเดียวกัน และคำที่ 2 ต้องใช้คำว่า “เอ๋ย” รวมถึงกลอนสักวา ที่จะต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “สักวา” และลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” ส่วนสัมผัสและความไพเราะอื่นๆ จะเหมือนกับกลอนสุภาพ
กลอนสุภาพ
หรือ กลอนแปด เป็นร้อยกรองที่ได้รับความนิยมมากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีความไพเราะ และเรียบง่าย เป็นแม่แบบของกลอนอีกหลายรูปแบบ
สุนทรภู่กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นแม่แบบของกลอนสุภาพชนิดหาตัวจับได้ยาก บทกลอนของสุนทรภู่เน้นเสียงสัมผัสในทุกวรรค เพิ่มความไพเราะของภาษาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพทางด้านภาษาของท่าน ส่งผลให้กลอนของสุนทรภู่เป็นที่นิยมไม่เปลี่ยนแปลงตราบจนปัจจุบัน
ตัวอย่างกลอนสุภาพของสุนทรภู่
"ทั้งต้องน้ำอำมฤกเมื่อดึกเงียบ
แสนยะเยียบเนื้อเย็นเป็นเหน็บหนาว
ทั้งหนาวลมหนาวพรมน้ำค้างพราว
ไหนจะหนาวซากผาศิลาเย็น
โอ้หนาวอื่นพอขืนอารมณ์ได้
แต่หนาวใจยากแค้นนี้แสนเข็ญ
ทั้งหนาวนอนไกลนุชสุดจะเย็น
ใครปะเป็นเหมือนหนึ่งข้าจะว่าจริง"
(จาก นิราศพระบาท ของ สุนทรภู่)
แผนผังกลอนสุภาพ (กลอนแปด)
ฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพ
- 1 วรรค มี 8 คำ (บางครั้งมี 7-9 คำ)
- 2 วรรค เรียกเป็น 1 คำกลอน
- 2 คำกลอน เรียกเป็น 1 บท
- สัมผัสนอก คือ คำคล้องจองที่อยู่นอกวรรค (สัมผัสสระ) เป็นสัมผัสบังคับ
- สัมผัสใน คือ คำคล้องจองที่อยู่ในวรรค (สัมผัสสระ หรือสัมผัสพยัญชนะ)
วรรค และคำท้ายวรรค
ในแต่ละวรรค คำท้ายวรรคจะต้องลงเสียงวรรณยุกต์ให้ถูกต้องตามข้อบังคับดังนี้
- วรรคแรก ชื่อว่า วรรคสดับ คำท้ายใช้เสียงวรรณยุกต์อะไรก็ได้ แต่ไม่นิยมเสียงสามัญ
- วรรคสอง ชื่อว่า วรรครับ คำท้ายห้ามใช้เสียงสามัญ และตรี โดยนิยมใช้เสียงจัตวา
- วรรคสาม ชื่อว่า วรรครอง คำท้ายห้ามใช้เสียงเอก โท และจัตวา ให้ใช้เสียงสามัญ และตรี
- วรรคสี่ ชื่อว่า วรรคส่ง คำท้ายห้ามใช้เสียงเอก โท และจัตวา ให้ใช้เสียงสามัญ และตรี
กลอนดอกสร้อย
กลอนดอกสร้อยมีรูปแบบคล้ายกับกลอนสุภาพ ฉันทลักษณ์คล้ายกันในเรื่องสัมผัส แตกต่างกันที่วรรคแรกที่มีเพียง 4 คำ โดยคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำเดียวกัน และคำที่ 2 ต้องใช้คำว่า “เอ๋ย” เช่น
“วัดเอ๋ย วัดโบสถ์”
“แมวเอ๋ย แมวเหมียว”
“จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า”
และคำลงท้ายของกลอนในวรรคส่งต้องจบด้วยคำว่า “เอย” เสมอ
ตัวอย่างกลอนดอกสร้อย
“ความเอ๋ยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี
แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง
อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี
ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย”
“ตอบเอยตอบถ้อย
เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซร้
เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน
ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย”
(จากพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 เรื่อง “เวนิสวาณิช”)
แผนผังกลอนดอกสร้อย
ภาพประกอบ Coming soon
ฉันทลักษณ์กลอนดอกสร้อย
- กลอนดอกสร้อย 1 บทมี 4 คำกลอน หรือ 8 วรรค ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องขึ้นบทใหม่ โดยไม่ต้องมีสัมผัสเกี่ยวข้องกับบทต้น
- กลอนดอกสร้อยวรรคแรกมี 4 คำ โดยคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำเดียวกัน คำที่สองเป็นคำว่า “เอ๋ย” คำสุดท้ายของวรรคสุดท้ายต้องลงด้วยคำว่า “เอย”
- สัมผัสและความไพเราะอื่นๆ เหมือนกับกลอนสุภาพ
กลอนสักวา
กลอนสักวามาจากการเล่นสักวาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง ส่วนใหญ่จะลอยเรือพายโต้ตอบกันในช่วงเวลาน้ำหลาก เช่นเดือน 12 ต่อมาค่อยๆ เลือนหายไปเพราะสภาพการคมนาคม ที่เปลี่ยนจากแม่น้ำลำคลองมาเป็นถนน และวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
ในปัจจุบันก็ยังมีการอนุรักษ์การเล่นสักวาไว้ เพราะนอกจากจะได้อรรถรสทางด้านภาษาจากการเล่นสักวาแล้ว ยังได้อรรถรสจากการบรรเลงดนตรี ขับร้อง และการร่ายรำอีกด้วย
ตัวอย่างกลอนสักวา
“สักวาดาวจรเข้ก็เหหก
ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณาดุเหว่าก็เร่าร้อง
พอแสงทองส่องฟ้าขอลาเอย”
(คาดว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง)
แผนผังกลอนสักวา
ภาพประกอบ Coming soon
ฉันทลักษณ์กลอนสักวา
- กลอนสักวา 1 บทมี 4 คำกลอน หรือ 8 วรรค ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องขึ้นบทใหม่ โดยไม่ต้องมีสัมผัสเกี่ยวข้องกับบทต้น
- กลอนสักวาต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “สักวา” และลงท้ายด้วยคำว่า “เอย”
- สัมผัสและความไพเราะอื่นๆ เหมือนกับกลอนสุภาพ
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว