www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.2

ประโยคในภาษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 19:27:12

ประโยคจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีทั้งภาคประธานและภาคแสดง ประโยคยังแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ประโยคความเดียว ที่มีประธานเดียวและภาคแสดงเดียว, ประโยคความรวม ที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคเข้าด้วยกัน และ ประโยคความซ้อน ที่มีประโยคความเดียว 1 ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม

ภาพ : shutterstock.com

 

ประโยค หมายถึง ข้อความที่มีทั้งภาคประธานและภาคแสดง

ภาคประธาน คือ ส่วนของผู้แสดงกริยาอาการต่างๆ

ภาคแสดง  คือ ส่วนของการแสดงกิริยาอาการต่างๆ โดยจะต้องมีคำกริยา และอาจมีกรรมเป็นภาคขยาย เพื่อแสดงรายละเอียดของประโยคให้ได้ความสมบูรณ์

 

ประโยคแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ

1. ประโยคความเดียว

ประโยคความเดียว (เอกัตถประโยค) คือประโยคที่มีใจความเดียว ซึ่งจะมีประธานเดียว และกริยาเดียว แบ่งออกได้เป็น

การจำแนกตามบทกริยา คือ ดูรายละเอียดที่บทกริยา แบ่งได้ดังนี้

(ก) ประโยคที่ใช้กริยาไม่มีกรรม เช่น “ม้าวิ่ง” เป็นประโยคเล็กที่สุด ประกอบด้วย ประธาน และกริยา

(ข) ประโยคที่ใช้กริยามีกรรม เช่น “นกเกาะกิ่งไม้” ประกอบด้วย ประธาน กริยา และกรรม

 (ค) ประโยคที่ใช้กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม เช่น “การวิ่งเป็นการออกกำลังกาย” ประกอบด้วย ประธาน กริยา และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม ในที่นี้คำว่า “เป็น” คือกริยาอาศัยส่วนเติมเต็มที่ต้องอาศัยคำว่า “ออกกำลังกาย” เพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์

(ง) ประโยคที่ใช้กริยาช่วย เช่น “ประสิทธิ์ได้เป็นนักร้อง” ประกอบด้วย ประธาน กริยาช่วย กริยา และและบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม โดยคำว่า “ได้” เป็นกริยาช่วย โดยมี “เป็น” เป็นกริยาหลักที่อาศัยส่วนเติมเต็มคือคำว่า “นักร้อง” อีกที

 

การจำแนกตามจุดประสงค์ของผู้พูด คือ ดูที่เป้าหมายของการพูด แบ่งได้ดังนี้

(ก) ประโยคบอกเล่า เช่น “ฉันไปโรงเรียนทุกวัน”

(ข) ประโยคปฏิเสธ เช่น “เราไม่ข้ามถนนขณะมีรถวิ่ง”

(ค) ประโยคคำถาม เช่น “คุณชอบเป็นทหารไหม”

(ง) ประโยคคำสั่งหรือขอร้อง เช่น “กรุณาถอดรองเท้าก่อนเข้าห้อง”

 

การประโยคจำแนกตามลำดับองค์ประกอบ คือ ดูที่โครงสร้างประโยค แบ่งได้ดังนี้

(ก) ประธานอยู่หน้าประโยค เช่น “แมวกินปลาทู”

(ข) กรรมอยู่หน้าประโยค เช่น “นักเรียนถูกครูทำโทษ” (“ทำโทษ” เป็นกริยา ดังนั้น “ครู” ซึ่งเป็นผู้กระทำกริยานี้ จึงต้องเป็นประธานของประโยค)

(ค) เริ่มต้นด้วยกริยา เช่น “มีงูอยู่ในห้อง”

 

2. ประโยคความรวม

ประโยคความรวม (อเนกัตถประโยค) คือ ประโยคที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าด้วยกัน โดยมีสันธานเป็นตัวเชื่อม เช่น

“ม้าอยู่ในทุ่งหญ้าและกำลังกินหญ้า”  มีประธานตัวเดียวคือ “ม้า” ทำ 2 กริยา คือ “อยู่ในทุ่งหญ้า” และ “กำลังกินหญ้า”

“ออกซิเจนและไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบของน้ำ”  มีประธานสองตัว คือ “ออกซิเจน” และ “ไฮโดรเจน” ทำกริยาเดียวกัน คือ “เป็นส่วนประกอบของน้ำ”

“เด็กๆ ช่วยกันทำงานจึงเสร็จเร็ว” มี “จึง” เป็นตัวเชื่อม 2 ประโยคเข้าด้วยกัน โดยคำว่า “งาน” เป็นกรรมในประโยคหนึ่ง และเป็นประธานในอีกประโยค คือ “เด็กๆ ช่วยกันทำงาน” และ “งานเสร็จเร็ว”

“คุณชอบไปทะเลหรือน้ำตก”  มี “หรือ” เป็นตัวเชื่อม 2 ประโยคเข้าด้วยกันคือ “คุณชอบไปทะเล” กับ “คุณชอบไปน้ำตก”  โดย “หรือ” ทำให้ประโยคใหม่กลายเป็นประโยคคำถาม

 

3. ประโยคความซ้อน

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) หมายถึง ประโยคที่รวมประโยคความเดียว 1 ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม มีข้อสังเกตคือ ประโยคหลัก (มุขยประโยค) กับ ประโยคย่อย (อนุประโยค) ของประโยคความช้อนมี น้ำหนักไม่เท่ากัน

 

อนุประโยค หรือประโยคย่อย มี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกันดังต่อไปนี้

ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธาน หรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ เช่น

“เด็กหนีเรียนไปร้านเกม” มีประโยค “เด็ก..... ไปร้านเกม” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “เด็กหนีเรียน” เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่บทประธาน

“เขาเห็นตำรวจยิงผู้ร้าย” มีประโยค “เขาเห็น.....” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “ตำรวจยิงผู้ร้าย” เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นบทกรรม

 

ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธาน หรือบทขยายกรรม หรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) เช่น

“คนที่ก้าวเท้ายาวเกินไปจะเดินได้ช้าลง” มีประโยค “คน.....จะเดินได้ช้าลง” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “คนก้าวเท้ายาวเกินไป” เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายประธาน (เป็นการบอกคุณสมบัติเพื่อชี้ชัดประธาน เชื่อมประโยคด้วยคำว่า “ที่”)

“ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรมซึ่งปัจจุบันคืออิตาลี” มีประโยค “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “กรุงโรมปัจจุบันคืออิตาลี” เป็นประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายกรรมในประโยคหลัก (เชื่อมด้วยคำว่า “ซึ่ง”)

 

ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) เช่น

“ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี” มีประโยค “ดวงจันทร์โคจรรอบโลก” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “ดวงจันทร์โคจรเป็นวงรี” เป็นประโยคย่อยขยายกริยา (ขยายความว่า “โคจร” อย่างไร)

“ดวงตะวันยามตกดินส่องแสงแดงจนดูเหมือนผลไม้สุกปลั่ง” มีประโยค “ดวงตะวันยามตกดินส่องแสงแดง” เป็นประโยคหลัก โดยประโยค “ดวงตะวันยามตกดินดูเหมือนผลไม้สุกปลั่ง” เป็นประโยคย่อยขยายวิเศษณ์ (ขยายความว่า “แดง” อย่างไร)

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์  พลอยแก้ว