www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.2

การเขียนบรรยายและพรรณนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-05-26 16:51:06

ทักษะการเขียน เป็นเรื่องสำคัญในการถ่ายทอดกระบวนการคิดให้ออกมาในรูปแบบอักษร เพื่อใช้กับตนเองหรือให้ผู้อื่นได้อ่าน การเขียนจึงมีความสำคัญในการที่จะใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเขียน ประเภทของงานเขียน สำนวนภาษาที่ใช้เขียน เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเขียนทั้งสิ้น

ภาพ : shutterstock.com

 

โวหารในการเขียนมี 5 โวหาร คือ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหาร และ อุปมาโวหาร

บรรยายโวหาร และพรรณนาโวหาร เป็นโวหารหลักที่ใช้ในการเขียนทั่วๆ ไป การเขียนบรรยายและพรรณนา เป็นการเขียนเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเห็นภาพหรือรายละเอียด ซึ่งผู้เขียนก็ต้องมีความรู้พื้นฐานในการเขียน

 

บรรยายโวหาร 

คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่างๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนจะมีความชัดเจน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ได้แก่ เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ เป็นต้น

 

หลักการเขียนบรรยายโวหาร

1. เลือกเรื่องที่จะเขียนตามที่ตนเองถนัด หรือมีความรู้ในเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี ถ้าไม่รู้ก็ต้องค้นคว้าให้ละเอียดเพื่อนำมาเขียน
2. เขียนเฉพาะสาระสำคัญ รายละเอียดไม่จำเป็นต้องเน้น นำเสนอแบบตรงไปตรงมา
3. ใช้ภาษาให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย บางครั้งถ้าอธิบายได้ยาก อาจใช้อุปมาโวหาร และสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง
4. การเรียบเรียงความต้องสละสลวยต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน

 

พรรณนาโวหาร

คือ โวหารที่ใช้กล่าวถึงเรื่องราว สถานที่ บุคคล สิ่งของ หรืออารมณ์อย่างละเอียด สอดแทรกอารมณ์ ความรู้สึกลงไปเพื่อโน้มน้าวใจ ให้เกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วย

การใช้พรรณนาโวหาร ควรมีความประณีตในการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะเพราะพริ้ง ใช้ถ้อยคำทั้งเสียงและความหมาย ให้ตรงกับความรู้สึกที่ต้องการพรรณนา ให้ผู้รับสารเกิดภาพพจน์ บางกรณีอาจต้องใช้อุปมาโวหาร หรือสาธกโวหารประกอบเข้าไปด้วย

 

หลักการเขียนพรรณนาโวหาร

1. ต้องเลือกสรรถ้อยคำที่ไพเราะ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์ได้ อาจเลือกใช้คำที่ให้เสียงสัมผัสกันเพื่อให้เกิดความสวยงามของกลอักษร
2. ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา
3. อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน หรือใช้สาธกโวหารมาประกอบในการยกตัวอย่าง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว

 ​