บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-11-22 00:16:31
ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. มาตรการในการจัดการวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินการต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติเอื้ออำนวยให้มวลมนุษย์มีใช้ตลอดไป โดยประชาคมโลกได้ออกมาตรการด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งจัดทำเป็นกติกาและนำมาปฏิบัติมีหลายรูปแบบ เช่น สนธิสัญญา อนุสัญญารวมถึงข้อตกลงต่าง ๆ ดังนี้
1.1 อนุสัญญาไซเตส (CITES)
อนุสัญญาไซเตสหรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora–CITES) มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของสัตว์ป่าและพืชป่า โดยมีการควบคุมการค้า และสร้างระบบใบอนุญาตในการนำเข้า – ส่งออก เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ป่าและพืชป่าสูญพันธุ์ไปจากโลก ส่วนในประเทศไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไซเตสประจำประเทศไทย คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
1.2 อนุสัญญาเวียนนา (Vienna Convention) และพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocal)
อนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออลนี้มีวัตถุประสงค์ลดและยกเลิกการใช้สารซีเอฟซี สารฮาลอน และสารอื่น ๆ รวมถึงสารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และเมทิลโบรไมด์ด้วย ซึ่งสารเหล่านี้มีผลทำให้ชั้นโอโซนเบาบางลง พิธีสารนี้ใช้มาตรการจำกัดการนำเข้า – ส่งออก การบริโภค และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารเคมีเหล่านี้โดยกำหนดให้การใช้สารเคมีเหล่านี้หมดไปภายในช่วงเวลาที่กำหนด
ในประเทศไทยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่กำหนดให้เลิกการใช้สารทำลายชั้นโอโซนในการผลิตสินค้าใหม่ทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2541 สำหรับการใช้สารทำลายชั้นโอโซนในเครื่องมือ อุปกรณ์และสินค้าเดิมที่มีอยู่ให้สามารถกระทำได้จนถึง พ.ศ. 2553
1.3 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change–UNFCCC)
มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศของโลก โดยการรักษาระดับปริมาณแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยประเทศภาคีต้องดูแลควบคุมให้แก๊สที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกในประเทศของตนอยู่ในระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลก โดยสนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับแก๊สเรือนกระจก ส่งเสริมความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการระดับชาติและคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำกับดูแล ให้คำปรึกษา วางกรอบนโยบาย ตลอดจนจัดประชุมเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศผ่านทางสื่อต่าง ๆ
1.4 อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity–CBD)
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นผลมาจากความวิตกกังวลของประชาคมโลกต่อปัญหาวิกฤตการณ์ของการสูญเสียชนิดพันธุ์และระบบนิเวศของโลก โดยวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้ ได้แก่ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประเทศภาคีสมาชิกจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิทั้งหมดเหนือทรัพยากรและเทคโนโลยี โดยที่รัฐภาคีมีสิทธิในอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง แต่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะที่ยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่รัฐอื่น ๆ ส่วนในประเทศไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีการจัดทำนโยบายอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
1.5 อนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention)
เป็นอนุสัญญาว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาของการถ่ายเทกากของเสียอันตรายจากประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา อนุสัญญาฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการขนส่งสารเคมีอันตรายข้ามพรมแดนและควบคุมการกำจัดกากของเสียอันตรายโดยการผลักดันจากประเทศตนไปสู่ประเทศภาคีอื่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการนำเข้า– ส่งออก หรือนำผ่านจึงต้องได้รับอนุญาตจากประเทศผู้เกี่ยวข้อง การขนส่งจะต้องมีการประกันการขนส่ง มีการรับรองความปลอดภัย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาจะต้องนำกลับประเทศผู้ส่งออกและต้องมีการชดใช้ให้กับประเทศนั้น ๆ ด้วย ส่วนในประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณี โดยการแจ้งรายละเอียดข้อมูล เช่น การแจ้งชื่อของเสียอันตรายที่ควบคุมภายใต้กฎหมายของประเทศ การรายงานข้อมูลการส่งออก การนำเข้า การนำผ่าน และการจัดการของเสียอันตรายประจำปี นอกจากนี้ยังได้แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 หมวดของเสียเคมีวัตถุให้เป็นไปตามบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมภายใต้อนุสัญญาที่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น
2. องค์กรที่มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.1 องค์กรในประเทศที่มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
องค์กรในประเทศในที่นี้หมายถึง องค์กรที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นองค์กรของรัฐ องค์กรประชาชนและองค์กรเอกชนที่มีจุดเริ่มต้นภายในประเทศไทย โดยองค์กรเหล่านี้มีหลายองค์กรและหลายรูปแบบ ในที่นี้จะกล่าวถึงองค์กร 2 กลุ่ม คือ
2.1.1 องค์กรภาครัฐ
ปัจจุบันองค์กรที่ดำเนินการโดยตรงคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมาย หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดนโยบายการดำเนินงาน เช่น อนุรักษ์และจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการ ป้องกันและควบคุมมลพิษจากขยะ น้ำเสีย ฝุ่นละออง แก๊ส กลิ่น และเสียง ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
2.1.2 องค์กรประชาชนและองค์กรเอกชน
องค์กรประชาชน หมายถึงองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในหมู่บ้านหรือในท้องถิ่น ที่มีเจตคติด้านการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและท้องถิ่นร่วมกัน โดยองค์กรนี้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนตามกฎหมาย
องค์กรเอกชน หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งจากการรวมตัวของเอกชนโดยมีการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
1. บทบาทองค์กรประชาชนและองค์กรเอกชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
ภาคเหนือ องค์กรชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำตลอดจนร่วมกันจัดการป่าชุมชน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ที่สำคัญ เช่น กลุ่มฮักป่าเชียงดาว องค์กรเครือข่ายกะเหรี่ยงรักษ์ลุ่มน้ำแม่อิง คณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำโขง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีการเคลื่อนไหวขององค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาและจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดการกับปัญหาทรัพยากรพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ โดยองค์กรเหล่านี้ เช่น องค์กรสมัชชาคนจนภาคอีสาน กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรฝายราศีไศล คณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำมูล
ภาคใต้ เป็นภาคที่ชุมชนมีความเป็นท้องถิ่นสูง จึงมีการรวมกลุ่มที่มีคุณภาพ เกิดเป็นเครือข่ายขององค์กรประชาชนที่เข้มแข็งภายใต้ชื่อ สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของเมืองหลักชายฝั่งทะเลอีกด้วย
ภาคตะวันตก เป็นภาคที่มีการรวมตัวของประชาชนในท้องถิ่นจนเป็นองค์กรประชาชน องค์กรเหล่านี้ เช่น ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองกาญจนบุรีที่มีผลงานในการรณรงค์เรียกร้องให้มีการระงับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น
2. ตัวอย่างองค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1) มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (Wildlife Fund Thailand Under the Royal Patronage of H.M. the Queen) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ระบบธรรมชาติให้คงไว้ซึ่งความหลากหลายของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ รวมทั้งภาวะสมดุลของธรรมชาติ แต่ปัจจุบันมูลนิธินี้ได้หยุดดำเนินการชั่วคราว แต่มีงานด้านต่าง ๆ ที่เคยดำเนินการ เช่น (1) จัดทำโครงการสำรวจนิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (2) การเข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา และ (3) จัดทำโครงการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำปิงตอนบนโดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (SeubNakhasathien Foundation) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการก่อให้เกิดความรู้ความคิดเห็นและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า และให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้น โดยมูลนิธิรณรงค์ให้มีการรักษาป่าอนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการดำเนินงานของมูลนิธิ เช่น การให้การสนับสนุนงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
3) สมาคมหยาดฝน (Yadfon Association) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรเอกชนที่ส่งเสริมและดำเนินการพัฒนาชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพึ่งพาตนเองของชุมชน โดยสนับสนุนให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างศักยภาพให้องค์กรชุมชน ความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่ง ป่าชายเลน และวิถีการประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพของท้องถิ่น โดยผลการดำเนินงานของสมาคมหยาดฝน เช่น ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนและฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนในเขตจังหวัดตรัง ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลและพะยูน เป็นต้น
4) มูลนิธิเพื่อนช้าง (Friends of the Asian Elephant-FEA) มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือช้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถดำรงพันธุ์และปรับตัวในสภาพธรรมชาติได้ ตลอดจนช่วยเหลือผู้มีอาชีพเกี่ยวกับช้าง โดยบทบาทและผลการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อนช้าง คือ ผลักดันให้มีการออกระเบียบการห้ามนำช้างเข้ามาเดินในเขตกรุงเทพมหานคร แก้ไขปัญหาหารทรมานช้างและรับรักษาช้างในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมก่อสร้างโรงพยาบาลช้างที่จังหวัดลำปางโดยเป็นแห่งแรกของโลก
2.2 องค์กรต่างประเทศที่มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
1. องค์กรกรีนพีช (Greenpeace) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มุ่งผลกำไรและไม่รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากภาครัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานการเมือง แต่รับการสนับสนุนเฉพาะจากกลุ่มเอกชนและดอกผลจากกองทุนเท่านั้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการฟื้นฟูสิ่งที่มีชีวิตในโลกให้มีความเข้มแข็ง ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางด้านชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กรีนพีชรณรงค์ในด้านปัญหาของสิ่งแวดล้อมของโลกต่าง ๆ เช่น ปัญหาของการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นในแหล่งต่าง ๆ ปัญหาของการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรที่เกินความจำเป็น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก การขจัดแหล่งกำเนิดของมลพิษตกค้าง เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยนั้น องค์กรกรีนพีชได้ตั้งสำนักงานขึ้นเพื่อการประสานงานกับองค์กรกรีนพีชสากลในเนเธอร์แลนด์ โดยรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาทางด้านมลพิษที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รณรงค์เกี่ยวกับการยับยั้งการเคลื่อนย้ายกากสารพิษ กากกัมมันตภาพรังสีข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนอีกด้วย
2. องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature–WWF) ในปัจจุบันดำรงสถานะเป็นองค์การที่ให้คำปรึกษาแก่สมัชชาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติลำดับแรก กองทุนสัตว์ป่าโลกได้ดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ขยายเครือข่ายจากกองทุนสัตว์ป่าโลกออกไปเป็นหน่วยงานบริหารและปฏิบัติการต่าง ๆ ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติอย่างจริงจัง
สำหรับบทบาทของกองทุนสัตว์ป่าโลกในประเทศไทยได้มีการนำเสนอข่าวสาร เพื่อการกระตุ้นเตือนในเรื่องการพัฒนาประเทศที่ต้องกระทำควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติให้อยู่คู่กัน ต่อมาได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังได้สนับสนุนงานวิจัยด้านสัตว์ป่าและพืชป่าอีกหลายโครงการ
3. กฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่าง ๆ และกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
3.1 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
3.1.1 ความหมายของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น ส่วนคุณภาพสิ่งแวดล้อม หมายถึง ดุลยภาพของธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ สัตว์ พืช และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษย์
3.1.2 สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการร่วมกันส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติ
1. มีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารของทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยกเว้นข้อมูลทางราชการที่ถือว่าเป็นความลับ
2. มีสิทธิได้รับชดเชยค่าเสียหายจากรัฐ ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากภยันตรายที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษจากกิจการหรือโครงการที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจริเริ่ม สนับสนุน หรือดำเนินการ
3. มีสิทธิร้องเรียนกล่าวโทษผู้กระทำผิดที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
4. ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
3.1.3 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
1. มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม หมายถึง ค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ อากาศ เสียง และสภาวะอื่น ๆ ของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สำหรับเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดข้างต้น ในกรณีที่ปรากฏว่าพื้นที่ใดมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าอันควรแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่นี้ยังไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกกฎหมายกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
3.1.4 การควบคุมมลพิษ
มลพิษ หมายถึง ของเสีย วัตถุอันตราย และมวลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิด หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ รวมไปถึงรังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ
1. เขตควบคุมมลพิษ ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ
2. มลพิษทางอากาศและเสียง
1) ยานพาหนะที่นำมาจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐาน หากตรวจพบว่าก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานก็จะออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นโดยเด็ดขาด หรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข
2) ในการออกคำสั่งห้าม เจ้าหน้าที่จะทำเครื่องหมายเป็นตัวอักษรที่มีข้อความว่า “ห้ามใช้เด็ดขาด” หรือ “ห้ามใช้ชั่วคราว” หรือเครื่องหมายอื่นใดที่มีความหมายอย่างเดียวกัน ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของยานพาหนะนั้นให้เห็นเด่นชัด
3) ในการตรวจสอบยานพาหนะ เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ยานพาหนะหยุดเพื่อตรวจสอบ หรือเข้าไปในยานพาหนะหรือกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของยานพาหนะนั้นได้
4) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศมีหน้าที่ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดสำหรับควบคุม กำจัด ลด หรือขจัดมลพิษซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออากาศ
3. มลพิษทางน้ำ
1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหน้าที่ต้องก่อสร้าง ติดตั้ง หรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียตามที่เจ้าหน้าที่ควบคุมมลพิษกำหนด
2) ในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่ที่ทางราชการได้จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมไว้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ประสงค์จะทำการก่อสร้างหรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียขึ้นเอง มีหน้าที่ต้องจัดส่งน้ำเสียหรือของเสียเหล่านั้นไปทำการบำบัดหรือกำจัดโดยระบบบำบัดหรือระบบกำจัดรวมนั้น แต่ต้องเสียค่าบริการตามอัตราที่กำหนด ยกเว้นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผู้ใช้รายย่อยไม่ต้องเสียค่าบริการ
3) ในกรณีที่ทางราชการยังไม่ได้จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำหนดวิธีการชั่วคราวสำหรับการบำบัดน้ำเสียหรือการกำจัดของเสียได้ตามที่จำเป็น จนกว่าจะได้มีการจัดระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น
4. มลพิษอื่นและของเสียอันตราย
1) การเก็บรวบรวม การขนส่ง และการจัดการมลพิษอื่นและของเสียอันตราย เช่น ขยะมูลฝอย วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ เป็นต้น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนั้น ๆ
2) ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดชนิด ประเภท การเก็บรวบรวม การขนส่ง และการจัดการมลพิษอื่น และของเสียอันตรายนั้นด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้อง
3.1.5 ค่าบริการและค่าปรับ
1. อัตราค่าบริการ มีการกำหนดให้มีอัตราแตกต่างกันตามความเหมาะสม
2. ค่าปรับ มีบทบัญญัติที่ควรรู้ดังนี้
1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่หลีกเลี่ยงไม่จัดส่งน้ำเสียหรือของเสียไปบำบัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวม และลักลอบปล่อยน้ำเสียหรือของเสียทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกเขตที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษ จะต้องเสียค่าปรับ 4 เท่าของอัตราค่าบริการจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
2) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหรือทางน้ำละเว้นไม่ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของตนที่มีอยู่สำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศ เสียงและความสั่นสะเทือน หรือละเว้นไม่ทำการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียโดยระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียของตนที่มีอยู่ และลักลอบปล่อยทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก จะต้องเสียค่าปรับรายวันในอัตรา 4 เท่าของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประจำวันสำหรับการเปิดเดินเครื่องทำงานของอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียของตนตลอดเวลาที่ดำเนินการ
3.1.6 ความผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ
1. ความผิดทางแพ่ง มีบทบัญญัติที่ควรรู้ดังนี้
1) แหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย ยกเว้นการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้นพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือสงคราม การกระทำตามคำสั่งของรัฐ หรือการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือของบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อมในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
2) ผู้ที่กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสูญหายหรือเสียหาย ต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป
2. บทกำหนดโทษ มีบทบัญญัติที่ควรรู้ดังนี้
1) ผู้ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือขัดขวางการกระทำใด ๆ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้สั่งเพื่อดำเนินการป้องกันแก้ไขอันตรายจากเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายต่อสาธารณชน อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติหรือภาวะมลพิษ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ผู้ที่บุกรุกหรือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าไปกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ หรือก่อให้เกิดมลพิษอันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) ผู้ที่เผยแพร่หรือให้ข่าวที่ไม่เป็นจริงเกี่ยวกับแหล่งอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษโดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเผยแพร่หรือให้ข่าวทางสื่อมวลชน ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4) ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ยินยอมหยุดยานพาหนะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ มีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่จัดส่งน้ำเสียหรือของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจการของตนไปทำการบำบัด หรือกำจัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมที่มีอยู่ในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น และไม่เสียค่าบริการตามอัตราที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.2 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550
3.2.1 การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย
1. สิ่งปฏิกูล หมายถึง อุจจาระหรือปัสสาวะ และสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งโสโครกหรือมีกลิ่นเหม็น ส่วนมูลฝอย หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น รวมทั้งมูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน
2. การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น และอาจร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือส่วนราชการท้องถิ่นอื่น รวมทั้งอาจมอบให้บุคคลใดดำเนินการแทนหรืออาจอนุญาตให้บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการรับทำการก็ได้
3.2.2 สุขลักษณะของอาคาร
1. เมื่อพบว่าอาคารหรือส่วนของอาคาร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อเนื่องกับอาคารมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ครอบครองอาคารนั้นจัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอนอาคาร หรืออย่างใดอย่างหนึ่งตามความจำเป็นภายในเวลาที่กำหนด
2. เมื่อพบว่าอาคารมีสินค้า เครื่องเรือน หรือสัมภาระสะสมไว้มากเกินสมควร จนอาจเป็นเหตุให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ให้โทษ หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือไม่ถูกด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารย้ายสิ่งเหล่านั้นออกจากอาคารนั้นหรือจัดใหม่ตามเวลาที่กำหนด
3.2.3 เหตุรำคาญ
1. ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ
1) แหล่งน้ำ ทางระบายน้ำ ที่อาบน้ำ ส้วม หรือที่ใส่มูลหรือเถ้า หรือสถานที่อื่นใดซึ่งอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม สกปรก มีการสะสมหรือหมักหมมสิ่งของ มีการเททิ้งสิ่งใดเป็นเหตุให้มีกลิ่นเหม็นหรือละอองสารเป็นพิษ เป็นหรือน่าจะเป็นที่เพาะพันธุ์พาหะนำโรค หรือก่อให้เกิดความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2) การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือโดยวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควรจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
3) อาคารอันเป็นที่อยู่ของคนหรือสัตว์ โรงงานหรือสถานประกอบการใดที่ไม่มีการระบายอากาศ การระบายน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือการควบคุมสารเป็นพิษ หรือมีแต่ไม่มีการควบคุมให้ปราศจากกลิ่นเหม็นหรือละอองสารเป็นพิษอย่างเพียงพอ จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2. เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญในที่หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชน รวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษาบรรดาถนน ทางบก ทางน้ำ และสถานที่ต่าง ๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญ ในการนี้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่าง ๆ ได้
3. ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้ระบุไว้ในคำสั่งได้
4. ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่เอกชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นว่าสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีกในอนาคตให้ระบุไว้ในคำสั่งได้ ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้น และอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก และถ้าเหตุรำคาญเกิดขึ้นจากการกระทำ การละเลย หรือการยินยอมของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการนั้น
3.2.4 ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร
1. ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งตลาด ยกเว้นได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
2. ผู้ที่จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และไม่ใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ถ้าสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการจัดตั้ง
3. ผู้จัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร และผู้จำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง หรือเก็บสะสมอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของท้องถิ่นหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้ง
3.2.5 บทลงโทษ
1. ผู้ที่ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย โดยทำเป็นธุรกิจหรือคิดค่าบริหาร โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากเป็นการทำความผิดเกี่ยวกับมูลฝอยติดเชื้อหรือมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผู้ที่จัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร ซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนผู้ที่จัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร โดยไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
3. เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งให้จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอนอาคารที่มีสภาพทรุดโทรมหรือรกรุงรัง หรือให้ย้ายสินค้า เครื่องเรือน หรือสัมภาระที่สะสมไว้มากเกินสมควรออกจากอาคาร และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.3 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
3.3.1 การรักษาความสะอาดในที่สาธารณะและสถานสาธารณะ
1. ที่สาธารณะ หมายถึง สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นอกจากที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งรวมถึงถนนและทางน้ำด้วย
2. สถานสาธารณะ หมายถึง สถานที่ที่จัดไว้เป็นสาธารณะสำหรับประชาชนเพื่อการบันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจ หรือการชุมนุม
3. การรักษาความสะอาดในที่สาธารณะและสถานสาธารณะ มีบทบัญญัติที่ควรรู้ดังนี้
1) ห้ามอาบน้ำหรือซักล้างสิ่งใด ๆ บนถนน หรือในสถานสาธารณะซึ่งไม่ได้จัดไว้เพื่อการนี้ หรือในบริเวณทางน้ำที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
2) ห้ามขูด กะเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำการด้วยวิธีใด ๆ ให้ภาพ ข้อความ หรือรูปรอยต่าง ๆ ปรากฏที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้ที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ยกเว้นเป็นการกระทำของราชการส่วนท้องถิ่น หรือราชการส่วนอื่นที่มีอำนาจกระทำได้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
3) ห้ามล้างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนถนนหรือสถานสาธารณะ และทำให้ถนนหรือสถานสาธารณะสกปรกเลอะเทอะ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
4) ห้ามปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
5) ห้ามผู้ที่อยู่ในรถยนต์หรือผู้ขับขี่ หรือผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซื้อสินค้าที่ขายหรือจำหน่ายในสถานสาธารณะหรือบนถนน ยกเว้นถนนส่วนบุคคล ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
3.3.2 การดูแลรักษาสนามหญ้าและต้นไม้บนถนนและสถานสาธารณะ
1. ถนน หมายถึง ทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทาง ทางข้ามตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ตรอก ซอย สะพาน หรือถนนส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้
2. การดูแลรักษาสนามหญ้าและต้นไม้บนถนนและสถานสาธารณะ มีบทบัญญัติที่ควรรู้ดังนี้
1) ห้ามโค่นต้นไม้ ตัด เด็ด หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เกิดความเสียหายต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ปลูกไว้หรือขึ้นเองตามธรรมชาติในที่สาธารณะหรือที่สถานสาธารณะ ยกเว้นเป็นการกระทำของผู้ได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2) ห้ามปล่อยหรือจูงสัตว์เข้าไปในบริเวณที่ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือรัฐวิสาหกิจได้ปลูกหญ้าหรือต้นไม้ไว้ หรือได้ปิดประกาศหรือปักป้ายห้ามไว้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
3.3.3 การห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูล
1. ห้ามถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะลงในที่สาธารณะหรือที่สถานสาธารณะ ซึ่งมิใช่สถานที่ที่ราชการท้องถิ่นได้จัดไว้เพื่อการนี้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2. ห้ามบ้วนหรือถ่มน้ำลาย เสมหะ บ้วนน้ำหมาก สั่งน้ำมูก เท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนถนน หรือบนพื้นรถหรือพื้นเรือโดยสาร ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3. ห้ามเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3.3.4 การรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย
1. ห้ามกระทำด้วยประการใด ๆ ให้โคมไฟ ป้าย ศาลาที่พัก ม้านั่ง ส้วม หรือสิ่งอื่นใดที่ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือรัฐวิสาหกิจได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2. ห้ามเล่นว่าว ฟุตบอล ตะกร้อ หรือกีฬาใด ๆ บนถนน หรือในสถานสาธารณะ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสถานสาธารณะที่มีประกาศของเจ้าพนักงานท้องถิ่นห้ามไว้ ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
3. เจ้าของอาคารซึ่งตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 20 เมตร จากขอบทางเดินรถที่มีผิวจราจรกว้างไม่ต่ำกว่า 8 เมตร และที่ผู้สัญจรไปมาอาจเห็นอาคารได้จากถนน ต้องดูแลรักษาอาคารนั้นไม่ให้สกปรกรกรุงรัง ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3.4 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
3.4.1 ความหมายของป่าและป่าสงวนแห่งชาติ
1. ป่า หมายถึง ดิน รวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล
2. ป่าสงวนแห่งชาติ หมายถึง ป่าที่ได้กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.4.2 การควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ
1. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
2. ผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องจัดให้คนงาน ผู้รับจ้าง หรือผู้แทน มีใบคู่มือสำหรับทำการตามที่ได้รับอนุญาต ตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.4.3 บทกำหนดโทษ
1. ผู้ที่ยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นเหตุให้สภาพป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท ในกรณีกระทำความผิด ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ 1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือ 2) ไม้อื่นที่เป็นต้นหรือท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 อย่างรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือ 3) ต้นน้ำลำธาร ผู้กระทำความผิดมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำผิด ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิดออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติได้
2. ผู้ที่รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตไม่จัดให้คนงาน ผู้รับจ้าง หรือผู้แทนมีใบคู่มือสำหรับทำการตามที่ได้รับอนุญาตตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
3.5 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
3.5.1 ความหมายของสัตว์ป่า
ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ สัตว์ป่า หมายถึง สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลงหรือแมง ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และหมายความรวมไปถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว
3.5.2 ประเภทของสัตว์ป่า
1. สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าที่หายาก มี 15 ชนิด ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมันหรือเนื้อสมัน เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ กวางผา นกแต้วแร้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูนหรือหมูน้ำ
2. สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 7 จำพวก ได้แก่
1) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น กระจงเล็ก ค้างคาวคุณกิตติ เสือโคร่ง อีเก้ง
2) สัตว์ป่าจำพวกนก เช่น นกกระสาขาว นกตะกรุม นกปากห่าง นกฮูก เหยี่ยวดำ อีกา
3) สัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่าหัวสีฟ้า ตุ๊กแกบ้านสีเทา เต่าตนุ เหี้ย
4) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบอกหนาม คางคกต้นไม้
5) สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลัง (แมลง) เช่น ด้วงกว่างดาว ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง
6) สัตว์ป่าจำพวกปลา เช่น ปลาฉลามวาฬ ปลาหมูอารีย์
7) สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เช่น กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea ปูราชินี หอยสังข์แตร
3.5.3 การล่า การเพาะพันธุ์ การครอบครอง และการค้า
1. ห้ามล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับการยกเว้น เช่น การกระทำเพื่อการศึกษาและการวิจัยทางวิชาการ ซึ่งกระทำโดยทางราชการและต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมป่าไม้หรืออธิบดีกรมประมงในส่วนที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
2. ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่
1) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ โดยได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จากอธิบดี
2) เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีให้เพาะพันธุ์เพื่อประโยชน์แก่กิจการสวนสัตว์สาธารณะของตน
3. ห้ามมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์กฎหมายที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี รวมทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
4. ห้ามค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากดังกล่าว เว้นแต่เป็นการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ทั้งนี้ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
5. ห้ามเก็บ ทำอันตราย หรือมีรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ครอบครอง
3.5.4 การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และนำเคลื่อนที่ซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า
1. การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าชนิดที่ต้องมีใบอนุญาต หรือใบรับรองการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า ต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองจากอธิบดี
2. การนำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่ เพื่อการค้าของผู้รับใบอนุญาตต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ซึ่งการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. ผู้ใดนำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ต้องแจ้งเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่าโดยแสดงใบอนุญาต เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตเป็นหนังสือแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้
3.5.5 สวนสัตว์สาธารณะ
ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีในการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนด
3.5.6 บริเวณหรือสถานที่ห้ามล่าสัตว์ป่า
เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ ก็สามารถกระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ดินที่กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีบทบัญญัติที่ควรศึกษาและปฏิบัติ เช่น
1. ห้ามล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ รวมทั้งห้ามเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า เว้นแต่จะกระทำเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีโดยความชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
2. ห้ามยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตัด โค่น แผ้วถาง เผาทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น ขุดหาแร่ ดิน หิน เลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์หรือสัตว์ป่า เปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า
3.5.7 บทกำหนดโทษ
1. ผู้ที่ล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง หรือค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผู้ที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้ที่ทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. แนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
1. การถนอมรักษา เป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงสภาพเดิมอยู่ได้นานที่สุด โดยมีวิธีการต่าง ๆ เช่น การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาป่าไม้ แหล่งน้ำ สัตว์ป่าให้อยู่ในสภาพตามธรรมชาติ
2. การใช้วัสดุอื่นทดแทน เป็นการใช้วัสดุอื่นแทนทรัพยากรที่มีจำนวนลดน้อยลง
3. การหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น การนำเศษเหล็ก สังกะสี อะลูมิเนียม ที่ทิ้งแล้วกลับมาหลอมหรือเปลี่ยนสภาพ นำมาใช้ใหม่
4. การปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงสภาพแม่น้ำ
5. การบูรณะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม เป็นการจัดการทรัพยากรที่สามารถฟื้นฟูคืนสู่สภาพเดิม
6. การสำรวจหาแหล่งทรัพยากรเพิ่มเติม เช่น การใช้ระบบคลื่นแผ่นดินไหวเทียมเพื่อการสำรวจหาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ
7. การประดิษฐ์ของเทียมขึ้นใช้ แทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ยางเทียม ไหมเทียม
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th