www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม > ม.1

บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ระบบเวลา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-11-13 17:51:15

 

 

 

1. ความสัมพันธ์ระหว่างลองจิจูดกับเวลา
   ความสัมพันธ์ระหว่างลองจิจูดกับเวลา มีดังนี้ 360 องศา เท่ากับ 24 ชั่วโมง 1 องศา เท่ากับ 4 นาที 1 ลิปดา เท่ากับ 4 วินาที และ 1 พิลิปดา เท่ากับ 1/15 วินาที และจากความสัมพันธ์ระหว่างลองจิจูดกับเวลานี้ สามารถนำมาใช้ในการจัดระบบเวลาบริเวณส่วนต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก โดยกำหนดเป็นเวลาท้องถิ่นและเวลามาตรฐาน

 

 

 

 

 

 

2. เวลาปานกลางกรีนิช (Greenwich Mean Time-GMT)
   เวลาปานกลางกรีนิช หรือเวลาสากล เป็นเวลาท้องถิ่นของตำบลกรีนิช กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ที่กำหนดให้เส้นเมริเดียนที่ 0 องศาลากผ่าน และให้ประเทศต่าง ๆ ใช้อ้างอิงเพื่อกำหนดเวลามาตรฐานใช้ในประเทศของตน โดยยึดเส้นเมริเดียนแรกที่ลากผ่านตำบลกรีนิชเป็นหลัก

 

 

 

 

 

 

3. เส้นวันที่ (Date Line)
   เส้นวันที่ เป็นเส้นสมมุติที่ลากแบ่งโลกออกเป็นซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก โดยลากทับเส้นเมริเดียนของลองจิจูดที่ 180 องศาเป็นแนวแบ่งและเส้นนี้ไม่ลากผ่านแผ่นดิน นานาชาติกำหนดให้เส้นนี้เป็นเส้นแบ่งวัน ซึ่งใช้เป็นเขตกำหนดการเปลี่ยนวันเมื่อเดินทางข้ามเส้นนี้ไป

 

 

 

                                    

 

 

 

4. เวลาท้องถิ่นและเวลามาตรฐาน
   4.1 เวลาท้องถิ่น (local time)
   เวลาท้องถิ่น เป็นเวลาที่ใช้เส้นเมริเดียนของท้องถิ่นเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเวลา ตำบลที่ตั้งอยู่บนเส้นเมริเดียนต่างกันจะมีเวลาท้องถิ่นต่างกันไป ระยะห่าง 1 องศา มีเวลาต่างกัน 4 นาที บริเวณที่อยู่ทางตะวันออกเวลาจะเร็วกว่าบริเวณที่อยู่ทางตะวันตก สำหรับประเทศไทยใช้เวลามาตรฐานประเทศไทยแทนเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าที่กรีนิช 7 ชั่วโมง
   4.2 เวลามาตรฐาน (standard time)
   เวลามาตรฐานถูกกำหนดโดยแบ่งออกเป็นเขตภาคเวลา (time zone) ทุก 15 องศาลองจิจูด เวลาจะเปลี่ยนไป 1 ชั่วโมง นับจากเส้นนี้ออกไป 7 องศา 30 ลิปดา ทั้งสองข้างเป็นเขตภาคเวลาเดียวกัน แต่บางประเทศมีพื้นที่กว้างหรือเป็นหมู่เกาะจะกำหนดเวลามาตรฐานของตนขึ้น
   ในการเดินเรือข้ามทวีปหรือระบบการบินระหว่างประเทศจะใช้เวลาที่ตำบลกรีนิชเป็นเวลามาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นเวลาเดียวที่เข้าใจตรงกันทั่วโลก

 

 

 

 

 

 

5. เปรียบเทียบวันเวลาของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ
   ประเทศที่อยู่ในเขตภาคเวลาเดียวกันกับประเทศไทยจะใช้เวลามาตรฐานเหมือนกัน ส่วนประเทศที่อยู่ต่างเขตภาคเวลากับประเทศไทยจะใช้เวลามาตรฐานต่างกัน โดยประเทศที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยจะมีเวลาช้ากว่าประเทศไทย ส่วนประเทศที่อยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศไทยจะมีเวลาเร็วกว่าประเทศไทย

 


ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบเวลาประเทศในทวีปต่าง ๆ กับประเทศไทย



 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th