www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > ม.2

ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง การแต่งคำประพันธ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-09-08 23:13:04

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การแต่งคำประพันธ์

 

 

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแต่งกลอน
กลอน เป็นคำประพันธ์ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ๆ
ประเภทของกลอน
๑. กลอนสุภาพ เป็นกลอนที่ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบ ๆ มี ๕ ชนิด ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
๒. กลอนลำนำ เป็นกลอนที่ใช้ขับร้องหรือสวดให้เป็นทำนอง เช่น กลอนเสภา กลอนสักวา กลอนบทละคร กลอนดอกสร้อย
๓. กลอนตลาด เป็นกลอนที่ไม่มีกำหนดคำสัมผัสตายตัวเหมือนกลอนสุภาพ เช่น กลอนนิทาน กลอนเพลงยาว กลอนนิราศ

การแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอน มีความรู้ทั่วไปดังนี้
๑. คำ มีการกำหนดจำนวนคำที่แน่นอนในแต่ละวรรคของแต่ละคำประพันธ์ บางครั้งอาจมีคำสองพยางค์ ถ้าพยางค์ต้นประสมสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น สนุก ขนม คณะ อาจนับเป็นหนึ่งคำหรือสองคำก็ได้
๒. คณะ เป็นลักษณะของคำประพันธ์ กลอน ๑ บท จะมี ๔ วรรค แต่ละวรรคจะมีชื่อเรียกต่างกัน คือ วรรคที่ ๑ วรรคสดับ วรรคที่ ๒ วรรครับ วรรคที่ ๓ วรรครอง วรรคที่ ๔ วรรคส่ง
กลอน ๒ วรรคเท่ากับ ๑ บาท ๒ บาทเท่ากับ ๑ บท ตามแผนผังต่อไปนี้

 

 

คณะ

 

 

๓. สัมผัส คือ เสียงพยัญชนะหรือสระที่คล้องจองกันระหว่างคำ มี ๒ ชนิด คือ
     ๓.๑ สัมผัสสระ คือ เสียงสระเดียวกันภายในคำ โดยมีพยัญชนะต้นต่างกัน ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกด จะต้องเป็นตัวสะกดแม่เดียวกัน ส่วนวรรณยุกต์จะต่างรูปหรือต่างเสียงกันก็ได้
          ๑) สัมผัสสระที่ไม่มีตัวสะกด เช่น ดี-ปี   โต-โข   เก-เฉ   ครู-หนู   แน่-แข
          ๒) สัมผัสสระที่มีตัวสะกด เช่น ทุกข์-ยุค   ยาม-คร้าม   กิน-ศิลป์   นิ่ง-ทิ้ง
     ๓.๒ สัมผัสอักษร คือเสียงพยัญชนะต้นเดียวกันภายในคำซึ่งมีเสียงสระต่างกัน จะมีหรือไม่มีตัวสะกดหรือเสียงวรรณยุกต์ก็ได้ ถ้ามีเสียงสระเดียวกันต้องเป็นคำที่มีตัวสะกดต่างมาตรากัน อักษรคู่กับอักษรสูงซึ่งเป็นคู่ด้วยถือว่าเป็นเสียงพยัญชนะต้นเดียวกัน เช่น ข-ฃ   ค-ฅ-ฆ   ฉ-ช-ฌ   ฐ-ถ-ฑ-ฒ-ท-ธ   ผ-พ-ภ   ฝ-ฟ   ศ-ษ-ส-ซ   ห-ฮ
คำสัมผัสอักษรมีหลายลักษณะ ดังนี้
          ๑) สัมผัสอักษรที่ไม่มีตัวสะกด เช่น เฉ-ชา   โถ-ทำ-เธอ   ผา-เพาะ-ภู
          ๒) สัมผัสอักษรที่มีตัวสะกด เช่น ถาก-ถาง   ขัน-คาบ-ฆ้อง   ฝูง-ฟัน
          ๓) สัมผัสอักษรที่มีตัวสะกดกับไม่มีตัวสะกด เช่น ฉัน-ชิง-ชา-เฌอ   ฝี-ฝาก-ฟัง-ฟู   ถู-ถึง-เฒ่า
การแบ่งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ถ้าเป็นสัมผัสภายในวรรคเดียวกัน เรียกว่า สัมผัสใน ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าเป็นคำสัมผัสระหว่างวรรค เรียกว่า สัมผัสนอก เป็นสัมผัสบังคับของคำประพันธ์ทุกชนิด ใช้สัมผัสสระ

 

ตัวอย่างสัมผัสใน 

     พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด                   จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง

สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง                  เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง

 

สัมผัสสระ ได้แก่ คำ-อ้ำ   อึ้ง-(ตะ)ลึง   ปัด-ขัด   (ลัง)กา-ว่า   งอก-หลอก

สัมผัสอักษร ได้แก่ อ้ำ-อึ้ง คำ-คิด เบือน-บิด ป้อง-ปัด ขัด-ขวาง สง-สาร ลูก-ลัง(กา) เจ้า-จึง งา-งอก หลอก-ลวง

 

ตัวอย่างสัมผัสนอก  

ตัวอย่างสัมผัสนอก

 

 

สัมผัสนอก ได้แก่ โลม-โฉม หา-(สัจ)จา (สัจ)จา-ผ่า ได้-ไป อยู่-ศัตรู สัตรู-สู้
สัมผัสระหว่างบท คือ ดู-อยู่

 

การแต่งกลอน
๑. กลอนหก
คณะ บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค วรรคละ ๖ คำ

 

 

กลอนหก

 

 

๒. กลอนแปด
คณะ บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค วรรคละ ๘-๙ คำ บาทแรกเรียก บาทเอก บาทสองเรียก บาทโท

 

 

กลอนแปด

 

 

กลอนแปดนิยมเพิ่มสัมผัสในเพื่อความไพเราะ อาจเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรก็ได้ สัมผัสในมักส่งสัมผัส ดังนี้

 

 

สัมผัสในกลอนแปด

 

 

เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค คือ เสียงวรรณยุกต์ของคำสุดท้ายในแต่ละวรรค
วรรคที่ ๑ ใช้เสียงวรรณยุกต์ได้ทุกเสียง ยกเว้นเสียงสามัญ
วรรคที่ ๒ ใช้เสียงวรรณยุกต์เอก โท จัตวา
วรรคที่ ๓ ใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญและตรี
วรรคที่ ๔ ใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญและตรี

๓. กลอนสักวา มักร้องในหมู่ขุนนาง เล่นกันบนเรือในคืนเดือนหงาย วันเทศกาลสำคัญ
คณะ ๑ บทมี ๔ คำกลอน หรือ ๘ วรรค วรรคแรกมี ๖-๙ คำ ทุกบทต้องขึ้นต้นด้วย สักวา คำท้ายบทลงด้วย เอย เสมอ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู และจบลงด้วยบทลา

 

 

กลอนสักวา

 

 

๔. กลอนดอกสร้อย สมัยก่อนนิยมร้องโต้ตอบกัน แต่ปัจจุบันนิยมใช้เป็นคำกลอนเพื่อสอนใจ
คณะ ๑ บทมี ๔ คำกลอน หรือ ๘ วรรค วรรคแรกมี ๔-๕ คำ โดยคำที่ ๑ และ ๓ เป็นคำเดียวกัน คำที่ ๒ ต้องเป็นคำว่า เอ๋ย คำที่ ๔ เป็นคำเดินเรื่อง และลงท้ายบทด้วย เอย

 

 

กลอนดอกสร้อย

 

 

๕. กลอนเสภา แต่งเป็นเรื่องราวเพื่อขับร้องแบบเสภา เรียกว่า ขับเสภา โดยมีกรับเป็นเครื่องทำจังหวะ
กลอนเสภา เป็นกลอนแปดชนิดหนึ่ง ๑ บทมี ๔ วรรค วรรคหนึ่งมี ๗-๙ คำ วรรคแรกเมื่อขึ้นตอนใหม่หรือเมื่อกล่าวถึงตัวละครสำคัญจะใช้คำขึ้นต้นว่า ครานั้น และมีสัมผัสเหมือนกลอนแปด

 

 

กลอนเสภา

 

 

๖. กลอนบทละคร
กลอนบทละครเรื่องแรกที่ได้รับความนิยมคือ เรื่อง อิเหนาและดาหลัง โดยวรรคหนึ่งมี ๖–๙ คำ มีสัมผัสเหมือนกลอนแปด ตอนขึ้นต้นเรื่องหรือตอนใหม่ต้องใช้คำว่า เมื่อนั้น บัดนั้น มาจะกล่าวบทไป แตกต่างกันดังนี้

     ๑) เมื่อนั้น ใช้ขึ้นต้นบทละครที่กล่าวถึงตัวละครสำคัญในเรื่อง ซึ่งเป็นตัวเอกหรือมีศักดิ์สูง เช่น

เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีเรืองศรี (บทละครเรื่องอิเหนา : รัชกาลที่ ๒)
     ๒) บัดนั้น ใช้ขึ้นต้นบทละครที่กล่าวถึงตัวประกอบ เช่น
บัดนั้น ขุนโหรคูณควณถ้วนถี่ (บทละครเรื่องอิเหนา : รัชกาลที่ ๒)
     ๓) มาจะกล่าวบทไป ใช้ขึ้นต้นเมื่อเริ่มเรื่องหรือจับตอนใหม่ หรือเรื่องที่แทรกเข้ามาคั่นตอน เช่น
มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสหัสนัยน์ตรัยตรึงษา (สังข์ทอง : รัชกาลที่ ๒)

 

สรุป
คำประพันธ์ที่นิยมแต่งกันคือ กลอน เพราะแต่งง่าย ไพเราะ บังคับเพียงคณะและสัมผัสเท่านั้น ซึ่งการแต่งกลอนแต่ละประเภทต้องมีความรู้ในลักษณะบังคับหรือฉันทลักษณ์ เพื่อจะได้แต่งออกมาถูกต้องและไพเราะ

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th