มาทำความรู้จักกับธนบัตรแบบ 16
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-10 15:00:36
มาทำความรู้จักกับธนบัตรแบบ 16
ธนบัตรไทยที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของแบบธนบัตรและเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลง ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบขณะนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากธนบัตรแบบ 15 ไปสู่แบบ 16 นับจากปี 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มนำธนบัตรแบบ 16 ออกใช้แล้วจำนวน 3 ชนิดราคา คือ 20 บาท 50 บาท และ 500 บาท สำหรับชนิดราคา 100 บาท และ 1000 บาท จะนำออกใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
1) กว่าจะมาเป็นธนบัตรแบบ 16
ในการเตรียมการออกแบบธนบัตรแบบ 16 ธปท. ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชน และกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องราว สี ขนาด และรับฟังข้อเสนอแนะอื่นๆ ได้ข้อสรุปว่า แนวคิดที่เหมาะสมที่สุด คือ “ชุดเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละสมัย” จากนั้น ธปท. ได้มีหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ตราสัญลักษณ์ฯ และภาพพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ลงพิมพ์บนธนบัตร เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงทำการผลิตและดำเนินกระบวนการออกใช้ธนบัตรตามที่กฎหมายกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2) องค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีอยู่ในธนบัตรไทย
ในการออกแบบธนบัตร องค์ประกอบสำคัญที่ต้องคงไว้เสมอ คือ
(1) พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพิมพ์เป็นภาพประธานด้านหน้า อันหมายถึงธนบัตรไทยที่ออกใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
(2) รูปพระครุฑพ่าห์ซึ่งเป็นตราแผ่นดิน อันแสดงถึงสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์
3) ทำไมจึงต้องเปลี่ยนแบบธนบัตร
เมื่อธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ระยะเวลาหนึ่ง ธปท. จะทำการเปลี่ยนแบบธนบัตร เพื่อพัฒนาและปรับปรุงลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในธนบัตรให้ก้าวนำเทคโนโลยี มีความปลอดภัยสูง และปลอมแปลงได้ยากขึ้น สามารถสังเกตและตรวจสอบได้โดยง่าย ทั้งโดยประชาชนและเครื่องจักร นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ธนบัตรให้ทันสมัย มีความสวยงาม และเป็นสากลมากขึ้นด้วย
4) แนวคิดหลัก (Theme) ในการออกแบบธนบัตรแบบ 16
สำหรับธนบัตรแบบ 16 มีแนวคิดหลักคือ การมุ่งเน้นเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การออกแบบจะแบ่งออกเป็น องค์ประกอบโดยรวมที่สอดคล้องกันทุกชนิดราคา และองค์ประกอบเฉพาะของแต่ละชนิดราคา โดยนำเสนอเรื่องราว ดังนี้
ชนิดราคา 20 บาท ยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ชนิดราคา 50 บาท ยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ชนิดราคา 100 บาท ยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ชนิดราคา 500 บาท ยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ชนิดราคา 1000 บาท ยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช)
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวบนธนบัตรของแต่ละชนิดราคา จึงมิได้เชิญตราสัญลักษณ์ (ตราจักรี พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9) มาพิมพ์บนธนบัตร
หมายเหตุ:
- ธนบัตรแบบ 11 และแบบ 12 (แบบ 11 เริ่มนำออกใช้ในปี 2512 และแบบ 12 เริ่มนำออกใช้ในปี 2521) มีแนวคิดหลักในการออกแบบโดยมุ่งเน้นความเป็นไทยและลักษณะประจำชาติ จึงมิได้มีการเชิญตราสัญลักษณ์ใด มาพิมพ์บนธนบัตร
- ธนบัตรแบบ 13 (เริ่มนำออกใช้ในปี 2528) มีแนวคิดหลักในการออกแบบเพื่อ เฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้เชิญตราจักรีมาพิมพ์บนธนบัตรเป็นครั้งแรก
- ธนบัตรแบบ 14 และแบบ 15 (แบบ 14 เริ่มนำออกใช้ในปี 2535 และแบบ 15 เริ่มนำออกใช้ในปี 2540) มีแนวคิดหลักในการออกแบบเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี จึงได้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ตราจักรี และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 มาพิมพ์บนธนบัตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
มิถุนายน 2557
แบ่งปันข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย