ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-04-30 18:25:16
บทความ
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเริ่มกำเนิดในช่วงทศวรรษที่ 40 (ค.ศ. 1940-1949 ) โดยในช่วงต้นของทศวรรษนี้ ผ้าอ้อมเด็กก็ยังเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าลินินผืนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่และทำการพับด้วยวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่และปู่ย่าตายาย แต่พอเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาพการดำรงชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลง ครอบครัวเริ่มแยกเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อกับแม่ที่มีลูกน้อยก็ต้องดูแลลูกเองโดยไม่มีปู่ยาตายายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเหมือนเมื่อก่อน และยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงเริ่มออกทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้ไม่มีเวลาในการดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ การหาตัวช่วยในการดูแลน้อยจึงเริ่มต้นขึ้น
ในปี ค.ศ. 1946 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีแม่บ้านท่านหนึ่งชื่อ มาเรียน โดโนแวน (Marion Donovan) คิดค้นและประดิษฐ์สิ่งที่เธอเรียกว่า “โบทเตอร์” (Boarter) โดยการตัดแผ่นพลาสติกจากม่านห้องน้ำมาเย็บคลุมผ้าอ้อมผ้าทำให้ผ้าอ้อมมีสมบัติในการกันน้ำได้ และในการตรึงผ้าอ้อมให้อยู่กับตัวเด็ก เธอก็ได้ทำเป็นกระดุมติดแทนการใช้เข็มกลัดแบบเดิม เธอได้จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการทำผ้าอ้อมกันน้ำนี้ไว้ถึง 4 ฉบับ แต่ในเวลานั้นยังไม่มีบริษัทไหนกล้าลงทุนผลิตและพัฒนาผ้าอ้อมตามแนวทางที่มาเรียนจดสิทธิบัตรไว้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1947 นายจอร์ท เอ็ม โชรเดอร์ (George M. Schroder) ได้พัฒนาผ้าอ้อมที่ใช้ผ้าแบบไม่ถักไม่ทอ (nonwoven) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นผ้าที่เกิดจากการสานกันไปมาของเส้นใย และยึดติดกันด้วยการอัดด้วยความร้อน ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก โดยรูปร่างของผ้าอ้อมนี้ก็ยังคงเป็นผืนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เช่นเดิม ในปลายทศวรรษนั้นก็ได้มีการพัฒนาผ้าอ้อมที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบแรกของผ้าอ้อมสำเร็จรูปขึ้นมาได้ โดยมีรูปแบบคล้ายกับผ้าอ้อมผ้า มีรูปร่างสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ด้านนอกใช้ฟิล์มพลาสติกหุ้ม ด้านในมีแผ่นกระดาษทิชชูวางเรียงกันเป็นชั้น ๆ ประมาณ 15 ถึง 25 ชั้น ทำหน้าที่ดูดซับของเหลว ไม่มีเทปกาวเพื่อการยึดติด สามารถรองรับของเหลวได้ประมาณ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้ระยะเวลาในการใช้งานน้อย ใช้ได้เพียงครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง
ในช่วงทศวรรษที่ 50 ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเริ่มถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการเติบโตของตลาดผ้าอนามัยในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยผู้ที่มองเห็นช่องทางในการพัฒนาผ้าอ้อมสำเร็จรูป คือ วิค มิลส์ (Vic Mills)
ซึ่งทำงานอยู่ที่ บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter and Gamble) เขาได้นำเอาวัสดุที่ใช้สำหรับดูดซับของเหลวที่ใช้กับผ้าอนามัยมาทำเป็นวัสดุดูดซับสำหรับผ้าอ้อมสำเร็จรูป เด็กคนแรกที่ได้มีโอกาสใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เขาคิดก็คือหลานชายของเขาเอง และในปี ค.ศ. 1961 ผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อ
“แพมเพอร์ส” ก็ได้มีโอกาสออกสู่ท้องตลาดและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเลยทีเดียว แต่การใช้งานก็ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกาและประเทศในแถบยุโรป
ในช่วงทศวรรษที่ 60 เริ่มเปลี่ยนวัสดุดูดซับ วัสดุสำหรับดูดซับได้เปลี่ยนจากกระดาษทิชชูมาเป็นเศษเยื่อไม้แบบที่ใช้ในการผลิตผ้าอนามัย “แพมเพอร์ส” เป็นเจ้าแรกที่ทำการพัฒนาผ้าอ้อมสำเร็จรูปนี้และในตอนนั้นผ้าอ้อมสำเร็จรูปยังไม่มีเทปกาวในตัวจึงทำให้การใช้งานยังคงไม่สะดวกมากนัก
ในช่วงทศวรรษที่70 ช่วงทศวรรษนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองของผ้าอ้อมสำเร็จรูปการใช้งานเริ่มแพร่กระจายออกสู่หลาย ๆ ภูมิภาคในโลกไม่จำกัดอยู่แค่ประเทศพัฒนาแล้วเหมือนอย่างที่ผ่านมา นอกเหนือจากบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แล้ว ก็ยังมีบริษัท คิมเบอรี่ คลาส์ก (Kimberly Clark) เป็นคู่แข่งที่สำคัญซึ่งทำให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และราคาของผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ลดต่ำลงด้วย แถบกาวของผ้าอ้อมสำเร็จรูปถูกคิดค้นได้โดยบริษัท จอห์สัน ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งทำให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น นอกเหนือจากพัฒนาการต่าง ๆ แล้วก็เริ่มมีข้อคิดเห็นจากวงการแพทย์ว่าด้วยเรื่องของขนาดที่ใหญ่เกินไปของผ้าอ้อมสำเร็จรูปซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหากับกระดูกระหว่างขาของเด็กทำให้เกิดการโก่งงอได้
ในช่วงทศวรรษที่ 80จากข้อคิดเห็นของแพทย์ทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มพัฒนารูปร่างของผ้าอ้อมสำเร็จรูปโดยทำให้คอดตรงส่วนกลาง (ลักษณะเหมือนนาฬิกาทราย) แทนการทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแบบเดิม เพื่อให้เด็กสวมใส่ โดยช่วงแรกยางยืดถูกใช้สำหรับส่วนขาก่อนต่อมาจึงพัฒนาใช้กับส่วนเอวด้วย
เริ่มมีการใช้สารดูดซับแบบพิเศษ (Soper-absorbent,SAP) ที่มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมโพลิอะคริเลต (sodium polycrylate) ทำให้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมีขนาดบางและน้ำหนักน้อยลงกว่าเดิม สวมใส่ได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพในการดูดซับเพิ่มขึ้น
แหล่งที่มาของบทความ: วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ปี 2549 เล่มที่ 42 เข้าถึงได้จาก https://www.mtec.or.th/index.php/2013-05-29-09-06-21/2013-05-29-09-22-45
วิเคราะห์บทความ
ตั้งคำถาม
ตั้งสมมติฐาน
การค้นคว้าหาคำตอบ
วัสดุที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำในผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปในอดีตนั้นทำจากเส้นใยเซลลูโลสสานเป็นแผ่นหลายๆชั้นจนมีความหนาที่พอเหมาะ แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตได้เปลี่ยนมาใช้สารพอลิเมอร์สังเคราะห์ ที่เรียกกันว่า พอลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวด (superabsorbent polymer ; SAP) วัสดุชนิดนี้จะมีสมบัติชอบน้ำสูง (hydrophilicity) มักเป็นอนุพันธ์ของอะคริลิก เอซิด (acrylic acid) เช่น โซเดียมอะคริเลท (sodium acrylate) โพแทสเซียม อะคริเลท (potassium acrylate) หรือ อัลคิล อะคริเลท (alkyl acrylate) อนุภาคของพอลิเมอร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำที่สามารถดูดซับน้ำไว้ได้หลายเท่าของน้ำหนักตัวมันเอง จนทำให้มันมีสภาพเป็นเจล นอกจากนี้ในส่วนของแผ่นดูดซับยังมีส่วนของวัสดุที่เป็นเส้นใย (fiber) ที่ทำหน้าที่คล้ายหลอดดูดน้ำ ช่วยดูดและกระจายน้ำให้เข้าสู่ภายในเนื้อของพอลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวด
นอกเหนือจากแผ่นดูดซับแล้วยังมีส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น แผ่นชั้นบนสุดของช่องขอบขาที่มักทำจากสารพอลิโพรพิลีน (polypropylene) เป็นผ้าไม่ทอหรือใยสังเคราะห์ (non-woven) และมีสมบัติไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) เพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลผ่านออกมา หรือ แผ่นรองด้านล่างสุดของผ้าอ้อมที่ทำจากสารพอลิเอธิลีน (polyethylene) ซึ่งมีสมบัติกันน้ำรั่วซึมออกจากผ้าอ้อม
จากการทดลอง ระหว่างผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ไม่มีสารช่วยในการดูดซับน้ำกับผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มีสารช่วยในการดูดซับน้ำพบว่า
หัวข้อการเปรียบเทียบ |
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ไม่มี สารช่วยในการดูดซับน้ำ |
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มี สารช่วยในการดูดซับน้ำ |
การดูดซับน้ำ |
ดูดซับน้ำได้ไม่ดี |
ดูดซับน้ำได้ดี(เร็วกว่า) |
การทดสอบการรั่วซึม |
มีน้ำซึมออกมาจากแผ่นซึมซับ |
แทบจะไม่มีน้ำซึมออกมาจากแผ่นซึมซับ |
สรุปองค์ความรู้
ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปหรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “แพมเพิส” นั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Diaper” ในสหรัฐอเมริกา หรือ “Nappy” ”Baby Napkin” ในอังกฤษในอดีตผ้าอ้อมเด็กก็ยังเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าลินินผืนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่และทำการพับด้วยวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่และปู่ย่าตายาย พอเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก็มีการพัฒนาวัสดุและรูปร่างของผ้าอ้อมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเพื่อทดแทนผ้าอ้อมแบบผ้าที่ดูดซับความเปียกชื้นได้น้อยและต้องซักตากให้แห้ง ทำให้ไม่สะดวกในการใช้สำหรับครอบครัวสมัยใหม่ ในยุคแรกผ้าอ้อมผลิตจากกระดาษทิชชูที่รองทับหลายๆ ชั้น ต่อมาจึงมีการนำเยื่อไม้มาใช้เป็นส่วนในการดูดซับ ภายหลังการพัฒนาเกี่ยวกับผ้าอ้อมเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีการนำความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันผ้าอ้อมเกือบทั้งหมดในท้องตลาดประกอบด้วย แผ่นใยสังเคราะห์โพลีเมอร์ เยื่อกระดาษ โพลีเอทิลีน โพลียูรีเทน ยางธรรมชาติ และกาว นอกจากนี้ในอนาคตเราคงอยากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าอ้อมที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพราะนับวันปริมาณการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะที่กำจัดได้ยากมากขึ้น เนื่องจากส่วนประกอบหลักของผ้าอ้อมเป็นวัสดุสังเคราะห์ประเภทพลาสติก