www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สื่อพัฒนานอกระบบ > มัธยมปลาย

มองใหม่ด้ายไหม ตอน ประวัติศาสตร์ไหม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-04-23 17:49:15

ประวัติศาสตร์ไหม

รังไหม

 

  • ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 2640  ในสมัยบัลลังค์ของจักรพรรดิหวงตี้ (Huang-Ti) พระมเหสีชื่อว่า นางซี หลิง ชี (Si-Ling-Shi) นับเป็นผู้ค้นพบไหมเป็นคนแรก จากเหตุการณ์ที่รังไหมตกลงในถ้วยน้ำชา และเป็นคนแรกที่ส่งเสริมการปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหม และเริ่มการทอผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยใช้กี่ทอผ้า

  • ชื่อ Si ในภาษาจีน และคำว่า Silk เป็นคำภาษาอังกฤษ ซึ่งนาง Si ได้รับขนานนามว่าเป็น “The Goddess of Silkworms)

  • เกือบสองพันปีตั้งแต่ค้นพบไหม จีนได้เก็บรักษาความลับการผลิตไหมและป้องกันการรั่วไหลของหนอนไหมในจีนไปที่อื่นด้วยการที่เจ้าหญิงของจีนจะนำไข่หนอนและเมล็ดหม่อนได้ถูกซ่อนไว้บนผ้าคลุมหัวในจีนห้ามผู้ใดส่งออกไข่หนอนไหม มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษถึงขั้นเสียชีวิตทีเดียว  นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนเก็บความลับการผลิตไหมได้เกือบสองพันปีทีเดียว

  • จาก 200  ปีก่อนคริสต์ศักราช  “กำเนิดเส้นทางสายไหม” เริ่มในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนได้เชื่อมโยงการค้าทั่วตะวันออกไปสู่โลกตะวันตก   จีน  ญี่ปุ่น เกาหลี เปอร์เซีย อินเดีย เอเชียไมเนอร์ เมดิเตอร์เรเนียน โรม  อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ

  • จีนได้ค้าขายเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูปให้กองคาราวานเปอร์เซียมาร่วม 1,000 ปี ด้วยกองคาราวานที่ผ่านอินเดีย และไซเรีย แล้วนำไปขายให้กับตะวันตก ตลอดหนึ่งพันปีเปอร์เซียไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าผ้าไหมทำมาจากอะไรและทำอย่างไร

  • ก่อน ค.ศ. 555 การผลิตไหมของจีน จนกำเนิดเส้นทางสายไหม ไหมได้กลายเป็นอาภรณ์ที่เมืองแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งอาณาจักรเปอร์เซีย โรมัน อินเดีย กรีก อียิปต์ ต้องการซื้อผ้าไหมเป็นจำนวนมาก และถูกนำมาเป็นอาภรณ์สำหรับกลุ่มคนชั้นสูง ราชสำนัก แม่ทัพ  โดยพวกเขาไม่เคยล่วงรู้เลยว่าไหมทำมาจากอะไร ในขณะที่โรมันได้สันนิษฐานว่าผ้าไหมทำมาจากพืชชนิดหนึ่ง จึงได้พยายามคิดค้นผลิตเอง เพื่อนำรายได้เข้าสู่อาณาจักรตนเอง แต่การสันนิษฐานไม่ถูกต้อง โรมันจึงสูญเสียรายได้ออกนอกประเทศจากการสั่งนำเข้ามาไหมเป็นจำนวนมาก

  • ค.ศ. 555  ตะวันตกล่วงรู้ความลับของไหม จากจักรพรรดิ Justinian ในอาณาจักรไบเซนไทน์ โดยติดสินบนให้กับพระชาว Nestorian 2 รูปได้ลักลอบไข่ไหมจากจีนแล้วนำซ่อนไว้ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไข่ไหมไปที่กรุง Constantinople ซึ่งครั้งนี้เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปสู่ตะวันตก

  • ค.ศ. 711 ไบเซนไทน์ ได้ทำการค้าขายกับแขกมุสลิมทำให้ความรู้ดังกล่าวได้แพร่ขยายไปทั่วโลกตะวันออกและตะวันตก ขยายไปถึงกรีซ ซีเรีย สเปน

  • ในเวลาต่อมาอาณาจักรไบเซนไทน์ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน โรมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิตาลี โดยได้ถ่ายทอดการเลี้ยงไหมสืบต่อกันมาตลอดเป็นพันปี

  • ประมาณ ค.ศ. 983- 1045 ยุคไบเซนไทน์ ไหมในยุคไบเซนไทน์เป็นเรื่องของการทูต การแสดงไมตรีจิตกับต่างประเทศ เพราะมีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการขนส่งเพื่อเป็นของขวัญทางการทูตซึ่งในไบเซนไทน์ได้ใช้ไหมเพื่อยุติการโจมตีและตั้งใจช่วยในการเจรจาระหว่างไบเซนไทน์กับอาหรับ ตัวอย่าง ในสมัยพระเจ้า Basil ที่ 2 ได้ส่งเครื่องแต่งกายผ้าไหมให้กับ Abud al Daulah ในปี 983 และผ้าไหมกว่าพันชิ้นที่ส่งจาก Constantin ที่ 9 ส่งให้ Caliph Al Mustensir ในปี 1045

    • ในยุคไบเซนไทน์ ผ้าไหมที่ใช้ในราชสำนัก เป็นผ้าไหมสีม่วงที่ย้อมมาจากทากทะเลที่เรียกว่า murex

    • ในยุคไบเซนไทน์ ไหมถูกออกแบบให้เป็นการระดมพล/ปลุกระดมพลพรรค

 

silk

Photo : www.metmuseum.org

  • เวลาออกรบจักรพรรดิจะใส่ผ้าไหมที่ทอลวดลายเป็นสิงโต อินทรีย์ หรือgriffin เพื่อให้ปรากฏเด่นชัดในสนามรบ

  • กองทัพไบเซนไทน์จำเป็นต้องมีสัญญะที่ชัดเจนปรากฏในเสื้อผ้าอาภรณ์หรูหราที่ทำจากผ้าไหมเช่นเดียวกับกองทัพอาหรับก็เช่นกัน เป็นการต่อสู้กันด้วยการใส่ผ้าไหม “ใส่ข่มกัน”

  • ศตวรรษที่ 12 และ 13 ของอังกฤษ ฝรั่งเศส จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรมันใน ในวันราชาภิเษกช่วงเช้า คณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทางศาสนา จะช่วยกันแต่งตัวกษัตริย์ และสวมเสื้อคลุมที่เป็นผ้าไหม เสื้อคลุมนี้มีลักษณะคล้ายกับ Alb ที่สันตะปาปาใส่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากษัตริย์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา

  • ในปี ค.ศ. 1480 ฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ได้เริ่มต้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยนำไข่หนอนไหมจาจากมิลาน จนกระทั่งกลายเป็นอุตสาหกรรมการทอผ้าไหมในฝรั่งเศส ในเมือง Tour

  • ค.ศ. 1585 ประเทศอังกฤษได้เริ่มอุตสาหกรรมการผลิตไหม ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6  การผลิตไหมในอังกฤษเริ่มจากกลุ่มคนอพยพช่างทอผ้าชาวเฟรมมิชหลบหนีเข้ามาอาศัยในอังกฤษ จากเหตุการณ์ต่อสู้ครอบครองจากสเปน

  • ประมาณร้อยปีต่อมาได้เกิดปัญหาด้านศาสนาในอังกฤษได้ส่งผลกระทบต่อการค้าไหมในอังกฤษ ในขณะที่ช่างฝีมือของฝรั่งเศสได้เริ่มการทอผ้าไหมในประเทศอาณานิคม ซึ่งได้กลายเป็นคู่แข่งด้านอุตสาหกรรมไหมของอังกฤษทีเดียว

 

เส้นทางสายไหม

  • ค.ศ. 1877 เอฟ วอน ริชโทเฟนนักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันได้บัญญัติคำเรียก “เส้นทางสายไหม” ขึ้นโดยให้คำจำกัดความว่าหมายถึง เส้นทางการคมนาคมที่มีการค้าขายผ้าไหมระหว่างชาวจีนกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้และตะวันตกของทวีปเอเชียกลางรวมไปถึงประเทศอินเดีย

  • ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 ไหมเป็นที่นิยมสูงมากในตะวันตกในกลุ่มคนชนชั้นกลาง พ่อค้า และชนชั้นสูง  เห็นได้ชัดจากพระนางมารีอังตัวเนตต์ ชายาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และข้าราชบริพารในราชสำนักแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าไหมทั้งชุด ตลอดทุกกิจกรรม รวมถึงรองเท้าผ้าที่ทำจากไหม การแต่งกายของพระนางสืบทอดมาเป็นแฟชั่นชั้นสูงหรือ Haute Couture ในปัจจุบัน  ในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง เริ่มให้ศิลปินวาดรูปเหมือน โดยอยู่ในชุดแต่งกายด้วยผ้าไหมที่ดูหรูหราที่สุด

  • ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 นี้ทั้งอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส ต่างก็พยายามที่จะทำอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อการส่งออก และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

  • ค.ศ. 1735- 1765 หลังที่อเมริกาได้มีสงครามปฏิวัติ  ซึ่งหลายส่วนของประเทศเกิดความเสียหาย ทหารล้มเจ็บ พิการ ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  ดังนั้นรัฐบาลในยุคประธานาธิบดี Benjamin Franklin จึงมีเป้าประสงค์ที่จะรื้อฟื้นประเทศที่ได้รับความบอบช้ำและสร้างอาชีพให้กับทหารและประชาชนหลังสงคราม  จึงได้พยายามพยายามสร้างอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการปั่นไหมด้วยระบบเครื่องจักร เพราะเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมไหมจะช่วยให้เศรษฐกิจและรายได้ประชาชาติอเมริกันสูงขึ้น

  • ราว ค.ศ. 1800 -1900 ญี่ปุ่นได้พัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเป็นอาชีพหลักของประเทศและเพิ่มพูนรายได้ให้กับประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกผ้าไหม และไหมดิบไปสู่ตลาดยุโรปและอเมริกา ซึ่งญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำในการส่งออกไหมเป็นอันดับหนึ่งในเวลานั้น มีรายได้เข้าประเทศสูงสุดถึง 100 – 150 ล้านเหรียญทีเดียว

  • ญี่ปุ่นได้กำหนดกฎหมายออกมาว่าไข่หนอนไหมทุกใบ ต้นหม่อนทุกต้น หรืออุปกรณ์อื่นๆ ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำไหมดิบ จะต้องได้รับการจัดหาและรับรองโดยรัฐบาลญี่ปุ่น  อีกทั้งไม่มีเกษตรกรหรือใครก็ตามในญี่ปุ่นจะได้รับการอนุญาตใช้ไข่หนอนไหม ต้นหม่อนโดยพลการแต่ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรก่อน

  • ปี ค.ศ. 1953 พิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินี Elizabeth II เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แอฟริกาใต้, ศรีลังกาและปากีสถานที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 มิถุนายน 1953 ในพิธีนี้สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ต้องสาบานว่าจะรักษากฎหมายของประเทศและคริสตจักรในการปกครองของอังกฤษ สำหรับเครื่องแต่งกายในพิธีราชาภิเษกจะต้องสวมมงกุฎ สวมชุดผ้าไหมสีขาวปักด้วยดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเครือจักรภพ ซึ่งคือดอก Tudor Rose ของอังกฤษ พืชไม้มีหนามแห่งสกอตต์ leek (พืชชนิดหนึ่งในตระกูลหอม กระเทียม) แห่งเวลล์ ดอกแชมร็อกของไอร์แลนด์เหนือ ต้น wattle ของออสเตรเลีย ใบเมเปิลของแคนาดา เฟิร์นนิวซีแลนด์ protea ของอเมริกาใต้ ดอกบัวสองดอกจากอินเดียและศรีลังกา ข้าวสาลี ฝ้าย ปอกระเจาของปากีสถาน

  • ในขบวนพาเหรดที่สมเด็จพระราชินีอลิซเบธ ที่พระองค์จะต้องเสด็จพระราชดำเนินทั่วลอนดอน ผ่านพระราชวังบัคกิ้งแฮม ผ่านจัตุรัส Trafagar ซึ่งผ้าคลุมไหมที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ปกครองรัฐพระองค์เป็นผ้าไหมยาว 5.5 เมตร เป็นผ้าไหมทอมือ โดยมีหญิงข้าหลวงจะช่วยประคองถือผ้าคลุมนั้น

 

ประวัติศาสตร์ไหมในประเทศไทย

  • ค.ศ. 1350   โจวต้ากวานราชทูตกรุงจีนบันทึกว่า  "ชาวเสียนใช้ไหมทอเป็นผ้าแพรบางๆ สีดำ ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มผู้หญิงเสียนนั้นเย็บชุนเป็น...."  และพบว่าในสุวรรณภูมิมีแหล่งขายผ้าหลายแห่ง อาทิ  ย่านฉะไกรใหญ่  ขายผ้าสุหรัด และผ้าขาว ที่วัดลอดช่องก็มีพวกแขกจามทอผ้าไหมกับผ้าด้ายขาย ย่านวัดขุนพรหมเขียนผ้าพิมพ์ ฯลฯ

  • ค.ศ. 1656 – 1688  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไหมได้ถูกนำมาใช้ในราชสำนัก และถูกใช้เป็นเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่มที่เสริมสร้างบารมีสำหรับคนชั้นสูงและเป็นเครื่องหมายของความศิวิไลซ์ เห็นได้จากคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุฟอร์บัง ว่า

“...พระนารายน์มหาราชซง เผยพระบัญชรสเด็ดออกไห้เราเฝ้า พระมหากสัตรพระองค์นี้ ซงพระมาลายอดแหลมคล้ายกันกับหมวกยอดที่เราเคยไช้กันไนประเทสฝรั่งเสสไนกาลก่อน แต่ริมไม่กว้างกว่าหนึ่งนิ้ว พระมาลานั้นมีสายรัดทำด้วยไหมทาบไต้พระหนุ ซงฉลองพระองค์เยียระบับสีเพลิงสลับทอง สอดพระแสงกริดไว้ที่รัด พิตรอันวิจิตรงดงาม และซงพระธำมรงค์อันมีค่าทุกนิ้วพระหัถ...” (กรมศิลปากร.(๒๕๐๙).ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๐ : จดหมายเหตุฟอร์บัง.หน้า ๗๗.)

  • ค.ศ. 1782 – 1909 (พ.ศ.2325 – พ.ศ.2452) สยามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งกาย ออกเมื่อ ค.ศ. 1800 (พ.ศ. 2343)  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 กำหนดการแต่งกายด้วยผ้าไหมเพื่อแสดงถึงความมีวัฒนธรรมและความร่ำรวยของประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้ต่างชาติรับรู้ว่าไทยเองก็มีอารยะหรือมีสถานภาพไม่เป็นรองใครนั่นเอง โดยใส่ผ้านุ่งทอด้วยไหมเรียกว่าผ้าสมปัก และสวมเสื้อนอกคือผ้าเยียรบับ คือ ผ้าไหมทอกับดิ้นทอง

  • ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ประกาศยกเลิกผ้าสมปักปูมเขมร และพระราชทานผ้าม่วงที่สั่งจากเมืองจีนสำหรับใส่เข้าเฝ้าแทน

  • ค.ศ. 1909 (พ.ศ.2452)  รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งกองช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการ ที่ตำบลศาลาแดง โดยรับวิทยาการจากญี่ปุ่น  เพื่อใช้ผ้าไหมเป็นสินค้าเศรษฐกิจอันดับต้นและสร้างรายได้เพื่อพัฒนาประเทศ  จึงว่าจ้างช่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องไหมจากญี่ปุ่นมาพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมอย่างมีคุณภาพ   ได้ว่าเวลานั้นสยามได้ลงทุนการพัฒนาไหมถึง 10 ล้านบาท( มูลค่าเงินลงทุนเท่ากับ 1 ใน 8 ของรถไฟ)  

  • ช่วงรัชสมัย รัชกาลที่ 5 มีวัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้สยามเป็นผลิตเส้นไหมและทอผ้าไหมอย่างมีคุณภาพเพื่อการส่งออกไปยังประเทศทางยุโรปและสร้างรายได้เข้าสยามเจริญรอยตามประเทศญี่ปุ่น

  • แต่เมื่อสิ้นสุดรัชกาลที่ 5 การผลิตไหมก็ยังไม่สามารถส่งออกนอกประเทศได้ประกอบกับนายช่างจากญี่ปุ่นก็ได้กลับประเทศไปโดยไม่ได้ร่วมพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต่อ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังกลายเป็นมรดกตกทอดของนวัตกรรมกี่ทอผ้า และการปลูกหม่อน พันธุ์ไหมที่เคยได้รับการพัฒนาก่อนหน้านี้มาจนถึงปัจจุบัน

  •  ค.ศ. 1932 (พ.ศ.2475)  ราชการได้รื้อฟื้นการเลี้ยงไหมอีกครั้งตั้งโรงสาวไหม จ.นครราชสีมา

 

Jim Thomson

Photo : https://www.nationmultimedia.com/

  • ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490)  เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมไหมไทยออกสู่ตลาดโลก และฮอลลีวู้ด โดยฝีมือของ  จิม ทอมป์สัน ซึ่งทำให้ไหมไทยออกสู่สายตาโลกตะวันตก ทั้งนิตยสารแฟชั่น ภาพยนตร์ฮอลลี่วู้ด ละครเวที หรือแม้แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ตบแต่งโรงแรมชื่อดังระดับโลก สรุปผลงานได้ดังนี้

    • ในภาพยนตร์มหากาพย์เรื่อง "เบน เฮอร์" (Ben Hur) ผู้สร้างใช้ผ้าไหมไทยตัดเย็บเครื่องแต่งกายของตัวละครสำคัญๆทุกตัว

    • ในภาพยนตร์เรื่อง "ไคนด์ เซอร์" (Kind Sir) ภาพเขียนที่ล้อมกรอบด้วยผ้าไหมไทยดูงดงามระเหิดระหงสะดุดตาของผู้ชมภาพยนตร์

    • โรงแรมซาวอยในกรุงลอนดอนใช้ผ้าไหมไทยตกแต่งห้องสวีตอย่างงดงามตระการตา

    • นอกจากนั้นการตกแต่งโฉมใหม่ของห้องคานาเล็ตโตในพระราชวังวินด์เซอร์ใช้ผ้าไหมไทยเป็นวัสดุตกแต่งอีกด้วย

    • บาร์บารา ฮัตตัน ซึ่งเป็นทายาทมหาเศรษฐีใช้ผ้าไหมไทยตกแต่งคฤหาสน์ในเม็กซิโกและบ้านหลังอื่นๆทุกหลังของเธอ

    • บริษัทเรย์โนลด์ส เมทัลในอเมริกาตกแต่งห้องทำงานผู้บริหารด้วยผ้าไหมไทยทอสลับเส้น อะลูมิเนียม

    • โรงแรมฮิลตันที่ฮ่องกงใช้ผ้าไหมไทยตกแต่งห้องบอลล์รูมและห้องสวีต

  • ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (2503) ไหมไทยได้ปรากฎต่อสายตาชาวโลกจนเป็นที่กล่าวขวัญ เมื่อครั้งพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงชุดผ้าไหมไทย

  • ฉลองพระองค์ของสมเด็จฯ ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง โดยใช้ไหมของทอมป์สันตัดเย็บ  จิม ทอมป์สันยังสั่งทอผ้าไหมยกทองลวดลายละเอียดประณีตหลายชิ้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯโดยเฉพาะ 

  • นับแต่นั้นมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการพลิกให้ไหมไทยกลับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง และได้ทรงส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงปัจจุบัน

  • ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519)   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ   เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมพ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในชนบทพระราชดำริในการก่อตั้งมูลนิธืส่งเสริมศิลปาชีพฯ นั้น มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมพ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทรงเล็งเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือในงานหัตถกรรมอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เพื่อได้มีรายได้ทดแทนกรณีที่ผลผลิตทางการเกษตรต้องเสียหาย ไม่ได้ผล อันเนื่องจากภัยธรรมชาติ

  • ในช่วงแรกสมเด็จพระบรมราชินีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ แล้วทรงรับซื้อเอาไว้ เป็นการสนับสนุน ฟื้นฟู และพัฒนาฝีมือการทอในเบื้องต้น

ความเลอค่า

  • ความเลอค่าทางเศรษฐกิจและความมั่นคง มั่งคั่งของชาติ ไหม คือ ของวิเศษสร้างความมั่นคั่งของชาติ และเป็นยาวิเศษแก้พิษเศรษฐกิจ กรณีญี่ปุ่นเปิดประเทศด้วยการค้าไหม ก่อนที่จะยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ มีมูลค่า   เป็นของบรรณาการที่พึงใจ ใช้ห้ามศึกได้ กรุงโรมรอดพ้นจากการถูกเผาเพราะให้ไหมเป็นบรรณาการ

  • ความเลอค่าทางวัฒนธรรม ไหมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้อัตลักษณ์ สถานภาพ  อำนาจ อายุ ให้กับผู้สวมใส่ อย่างกรณีคลีโอพัตราที่ 7 ที่ต้องสวมใส่ผ้าไหมซึ่งนับเป็นการแต่งกายที่แสดงเกียรติยศของการเป็นผู้ปกครองอียิปต์ ซึ่งจะสวมใส่ทุกครั้งเมือมีการออกว่าราชการ และการประชุมร่วมกับโรมัน

  • ไหมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้อัตลักษณ์ สถานภาพ อำนาจ อายุ สำหรับฝ่ายสยามก็เช่นกัน ที่ขุนนางจะได้รับพระราชทานผ้าไหม โดยลวดลายผ้าก็ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ทุกครั้งที่มีการออกราชการ และเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์   ได้มีส่วนประกาศการแต่งกายของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนัก ให้ทรงผ้าเยียรบับแบบต่างๆ ผ้าเยียรบับเป็นผ้าที่ทอด้วยทองแล่งกับไหม   ในขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแต่งตัวจะเข้าเฝ้าพระพันวษา เพื่อทูลขออภัยโทษให้ขุนช้าง ได้กล่าวถึงผ้าม่วงไว้ว่า

"…แล้วพระไวยอาบน้ำชำระกาย

กรายเข้าเคหาผลัดผ้าเก่า

นุ่งม่วงสีไพรไหมตะเภา

ห่มหนังไก่เปล่าปักเถาแท้…"

  • แม้แต่เครื่องแต่งกายนักบวชในศาสนาคริสต์   เสื้อผ้าอาภรณ์ของพระสังฆราชและบาทหลวงที่มีสมณศักดิ์สูง มีป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานภาพที่สูง

ผ้าไหม
 

Photo : https://www.lib.ru.ac.th/

  • ภูมิปัญญาไทย + เรื่องความได้เปรียบของสยามที่สามารถปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีภูมิปัญญา ช่างฝีมือการทอผ้าไหม  ความได้เปรียบที่สยามมีความหลายหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้มีเทคนิคการทอผ้าหลากหลายไปด้วย ได้แก่ ขิด จก ยก มัด และมีลวดลาย สีสันของผ้าแตกต่างหลากหลาย อาทิ ภูไททอผ้าแพรวา (เทคนิคขิด)  ผ้ามัดหมี่ในกลุ่มวัฒนธรรมลาว ผ้ายกดอกลำพูน ผ้ามัดหมี่ชลบทจังหวัดขอนแก่น  ไทยวนทอผ้าซิ่นตีนจก  ลาวครั่งทอผ้ามัดหมี่ตีนจก เป็นต้น

 

ขอบคุณเนื้อหา : นิทรรศการ “มองใหม่ด้ายไหม” มิวเซียมสยาม
14 กุมภาพันธ์ - 29 มิถุนายน 2557
https://www.museumsiam.org/