www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ม. 5 ต้องรู้ "เอนทรานซ์" ระบบใหม่เข้ามหาวิทยาลัย ปี 61
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-12-28 14:16:17

เรื่อง : โสมนัส จันทรสอาด


ม. 5 ต้องรู้   "เอนทรานซ์" ระบบใหม่เข้ามหาวิทยาลัย ปี 61

 

คืออะไร  เอนทรานซ์ ! ระบบใหม่ น้อง ม. 5 จะเป็นรุ่นแรกที่เข้าสู่ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 หรือที่เรียกว่า “ระบบรับตรงกลางร่วมกัน” สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ไฟกระพริบ ที่เติบโตมาพร้อมกับระบบ “แอดมิชชั่น” คงจะตื่นตระหนก ตีอกชกตัวเอง ว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทำไมต้องมาเกิดที่รุ่นช้านนนนนน !!! วันนี้ พี่นอต จะพาไปทำความรู้จักกับระบบใหม่ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร ? จะต้องรับมืออย่างไร ?

 

เปลี่ยนทำไม ?

    เนื่องจากระบบเก่าที่ให้มหาวิทยาลัยจัดสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเอง (สอบตรง) ทำให้เกิดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ พี่นอตรู้จักเด็กบางคนที่ไล่สอบตั้งแต่เชียงรายยันสงขลา สอบกันเป็นสิบ ๆ แห่ง (แต่ห้ามถามว่าติดกี่ที่นะ เดี๋ยวน้ำตาไหล) และจุดนี้เองที่ทำเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะแต่ละครั้งในการสอบก็จะมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย บางคนหมดเงินกับการสอบไปหลายหมื่น และ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระบบเก่า จะเริ่มสอบคัดเลือก ตอนที่น้อง ๆ ยังเรียนไม่จบ ม.6 (OMG เรียนครบ ไปสอบยังเพลียเลยเนอะ)

 

    แท่นแท๊นนนน >>> พระเอกใหม่ของเราจะทำให้ปัญหานี้หมดไป เพราะนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องจบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบ “พร้อมกันครั้งเดียว” ทั่วประเทศ ในช่วงเดือน มี.ค. สอบกันแบบรัว ๆ ทั้ง GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ O-NET ก็ไม่หายไปไหนนะยังมีสอบอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์  หลังจากสอบกันจนเพลิน คะแนนออกแล้วก็ถึงเวลาที่น้อง ๆ ต้องยื่นคะแนน เพื่อให้ได้คณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ ในระบบ “เคลียริ่งเฮ้าท์” ตามสัดส่วนคะแนนที่คณะและมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด (จะประกาศเกณฑ์ภายใน เม.ย. 60 น้อง ๆ ต้องติดตามข่าวกันด้วยนะครับ ว่าคณะในฝันของเราใช้คะแนนวิชาอะไร ? และสัดส่วนคะแนนเป็นอย่างไร ? จะได้เตรียมตัวได้ทัน  ระบบใหม่นี้เลือกได้ 4 อันดับ และถ้าพลาดทั้ง 4 อันดับรอบแรก ก็สามารถนำคะแนนเดิมยื่นใหม่ได้ใน เคลียริ่งเฮ้าท์รอบ 2   ระบบใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ ไม่ได้เลวร้ายคล้ายจะเป็นลม >>

 

สอบตรง-โควตา ยังมีอยู่รึเปล่า ?

    สำหรับโควตา ที่ไม่มีการสอบข้อเขียน เช่น โควตานักกีฬา โควตาผู้มีความสามารถด้านกิจกรรมนักศึกษา ฯลฯ มหาวิทยาลัยสามารถเปิดรับได้ตลอดทั้งปี แต่สำหรับ “สอบตรง” ที่ต้องมีการสอบข้อเขียน มหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบได้แต่ต้องขออนุญาต ทปอ. ก่อน และจะให้จัดสอบหลังกระบวนการเคลียริ่งเฮ้าส์ เท่านั้น 

 

ข้อเสียมีหรือไม่ ?

    น้อง ๆ หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ หัวใจก็พลิกฟื้นคืนความชุ่มชื้น เหมือนตื่นจากฝันร้าย อย่าชะล่าใจไปในทุกระบบนั้นมีข้อเสีย โดยข้อเสียหลักของระบบใหม่นี้ ก็คือ  สอบรอบเดียว​  และ สอบกระจุกตัว หลายคนดีใจมีเวลาเตรียมตัวสอบมากขึ้น และ ได้เรียนเนื้อหาครบทั้ง 6 เทอมแล้วค่อยสอบ แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีโอกาสสอบใหม่ให้แก้ตัวนะครับ ถ้าคะแนนเน่าแล้วเน่าเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สายชิล” ที่ชอบเตรียมตัว ใกล้วันสอบ พวกที่มีพลังเพราะ Deadline หนูอาจจะตายอย่างสงบในระบบใหม่นะครับ เพราะ ระบบเก่า จะค่อย ๆ แบ่งสอบ ก็จะมีสนามสอบมากระตุ้น ให้อ่านหนังสือเป็นระยะ ต่อไปต้องบังคับใจตัวเองล้วน ๆ

 

วิธีรับมือกับระบบใหม่

    1. ค้นหาตัวเองให้ชัดเจน เนื่องจากเวลาเตรียมตัวที่มากขึ้นถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ศึกษาข้อมูล เพื่อให้ได้คณะ และ มหาวิทยาลัยที่เป็นตัวเรามากที่สุด ไม่ว่าจะไปเก็บข้อมูลตามงาน Open House หรือ การไปเข้าค่าย ก็เป็นทางเลือกที่ดี

    2. หาแรงบันดาลใจเพื่อสร้างพลัง ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเอาไว้ผลักดันตัวเอง เช่น อยากเป็นหมอ เพราะ อยากช่วยคนไข้และรายได้ดี หรือ อยากเป็นสถาปนิก เพราะ อยากออกแบบบ้านให้พ่อกับแม่อยู่ อะไรก็ได้ที่สามารถใช้เป็นแรงผลักดันให้กับตัวเอง แม้กระทั่ง รุ่นพี่ในคณะหล่อ พี่ว้ากสวย เราต้องเข้าคณะนี้ให้ได้

    3. หาสนามสอบจำลอง ให้น้อง ๆ คิดว่าสนามสอบจำลองเป็นเหมือน Deadline ให้ชีวิต เราจะได้มีพลังในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ แนะนำสนามสอบที่ห้ามพลาด Admissions Skill Up by TruePlookpanya
 

 สุดท้ายนี้ พี่นอตขอให้เด็ก ๆ ทุกคน มีพลังกาย พลังใจในการเตรียมตัว และได้ลงเอยกับ คณะที่ใช่มหาลัย'ที่ชอบ กันทุกคนเลยนะครับ


พี่นอต โสมนัส จันทรสอาด

พี่นอต อ.โสมนัส จันทรสอาด

                                             - เจ้าของสถาบัน Ascente' Academy
                                             - ติวเตอร์ในโครงการ Admissions School Tour by TruePlookpanya
                                             - สำเร็จการศึกษาจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล