www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

“วิทยาศาสตร์มันใช่ เรียนไปไม่เอาท์” นักวิชาการเชื่อไม่ตกงานแน่ เหตุตลาดเอกชนยังขาดแคลน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-06-21 10:16:06

 

 

 

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท.เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 11 หัวข้อ "วิทยาศาสตร์พื้นฐาน บทบาทสำคัญต่อโลกและอนาคต" พร้อมเปิดห้องเสวนาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์มันใช่ เรียนไปไม่เอาท์” เผยพบผู้เรียนวิทย์บางส่วนยังวิเคราะห์ปัญหาที่พบไม่เป็น แยกแยะไม่ออก แนะผู้เรียนต้องเพิ่มความรู้ด้านภาษาเพิ่ม เชื่อเรียนวิทย์ไปไม่ตกงานแน่ เหตุตลาดเอกชนยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ พร้อมผู้บริโภคต้องการ ”นวัตกรรม” ใหม่ที่ได้จากการคิดค้นวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อีกมาก

 


 

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดงาน ประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน ) ครั้งที่ 11 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการบรรยายและเสวนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์มันใช่ เรียนไปไม่เอาท์” โดย ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ร่วมด้วย ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณสติยา ลังการ์พินธุ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี คุณอาจวรงค์ จันทมาศ (ป๋องแป๋ง) สุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

 


 

ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ เจ้าของผลงานวิจัยที่ต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้ประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ ผงซักฟอกซิลเวอร์นาโนทำลายเชื้อแบคทีเรีย จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์ นวัตกรรมพิสูจน์เอกลักษณ์ของอัญมณีได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน ฯลฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหัวข้อเสวนา “วิทยาศาสตร์มันใช่ เรียนไปไม่เอาท์” แน่นอน เพราะ ปัจจุบันเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของทุกคนมากขึ้นทุกวัน การเป็นนักวิทยาศาสตร์และการวิจัยจึงมีความสำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน รายได้จากการทำงานวิทยาศาสตร์ และการวิจัย
 

สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นอาชีพได้ แต่ปัญหาหนึ่งที่พบในการเรียนวิทยาศาสตร์คือ นักเรียนนักศึกษาคิดไม่เป็นวิเคราะห์ปัญหาที่พบไม่เป็น แยกแยะไม่ออก ปัญหามาจากส่วนหนึ่งของผู้สอนเองที่มุ่งมั่นแค่สอนให้นักเรียนนักเรียนเก่งจำเก่ง ไม่สอนให้คิดไม่สอนให้วิเคราะห์
 

“ปัจจุบันงานวิทยาศาสตร์ และการวิจัย ต้องแข่งขันกันทั่วโลก ประเทศเราเองนอกจากจะต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ และงานการวิจัยแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความรู้และต้องเข้าใจเรื่องภาษาที่จะใช้ในการสื่อสารด้วย ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยสามารถเข้าถึงผู้สนใจชิ้นงานที่วิจัยได้มากขึ้น”
 

ปัจจุบันงานวิทยาศาสตร์ และวิจัยยังเป็นที่สนใจทั้งจากภาครัฐ และเอกชนอีกมาก นักเรียน นักศึกษาเรียนไปจะมีประโยชน์มีงานรองรับแน่นอน เหตุผลคือ เมื่อก่อนประเทศเรามีรายได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ ณ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มันแทบจะหมดไปแล้ว ขณะที่ปัจจุบันทุกประเทศกำลังต้องการ “นวัตกรรม” ที่เกิดจากการคิดและการวิจัย เพื่อผลิตของใช้ใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
 

ศ.ดร.สนอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นาโนกำลังได้รับความนิยมในทางธุรกิจ ซึ่งสินค้าต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเมือกหอยทาก และอื่นๆ เหล่านี้คือผลิตภัณฑ์เกิดจากวิทยาศาสตร์และการคิดวิจัยทั้งนั้น ต่อไปนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยก็จะสามารถเป็นนักธุรกิจได้ในคนเดียวกัน

 


 

ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า อาจารย์หลายคนในมหาวิทยาลัยใช้เวลาว่างจากงานหลักไปทำงานวิจัยอื่นๆ การเรียนวิทยาศาสตร์มีเกณฑ์ที่ต้องผ่านมาตรฐานซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานในการวัดผลจากาเรียนอยู่แล้ว การเรียนวิทยาศาสตร์ในบ้านเรายังขาดความน่าสนใจ ทั้งจากตำราที่เนื้อหา ประกอบกับการเรียนยังขาดทุนการวิจัย พร้อมๆกับปัญหาเมื่อได้งานวิจัยมาแล้วก็พบปัญหาต่อมาอีกคือจะเอาผลการวิจัยไปทำอะไร แต่อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือการเรียนวิทยาศาสตร์ และการวิจัยในโลกยุคปัจจุบัน คือ สามารถหล่อหลอมเข้ากับอุตสาหกรรม และธุรกิจ เข้าด้วยกันได้

 


 

คุณสติยา ลังการ์พินธุ์ กล่าวว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างมาก ปัจจุบันตลาดยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้อีกมากมาย การเรียนวิทยาศาสตร์ และการวิจัยนั้น ไม่ได้ใช้ทุนการศึกษามากไปกว่าการเรียนสาขาวิชาชีพอื่น แต่สิ่งที่ผู้เรียนต้องตระหนักมีดังนี้

1.อะไร คือการเรียนเป็นพื้นฐานที่ต้องเรียน พร้อมกับต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเรียนรู้เพิ่มเติมจากที่ในห้องเรียนไม่มี
2.อย่างไร การเรียนวิทยาศาสตร์ต้องคิดวิเคราะห์แยกแยะให้เป็น
3. สิ่งที่คนเรียนวิทยาศาสตร์ต้องมีคือ “ทำไม” เมื่อมีนี้ต้องหาคำตอบให้ได้

ปัจจุบันตลาดแรงงานทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยยังเปิดกว้าง ภาคเอกชนกำลังมีความต้องการบุคลากร และกำลังต้องการนวัตกรรมที่เกิดจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเพื่อนำผลงานไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม