www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ม.6 ต้องรู้!! แนะแนวเส้นทางสู่มหาวิทยาลัย แอดมิชชั่น ปี 60
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-06-14 16:37:58

Admissions แอดมิชชั่น 60

          การเข้ามหาวิทยาลัยนั้นมีหลากหลายเส้นทางให้เลือก เช่น รับตรง โควตา และแอดมิชชั่น ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็เลือกตามความเหมาะสมของตนเอง ข้อมูลเกี่ยวกับการรับตรง โควตา และการสอบ GAT/PAT, O-NET, 9วิชาสามัญ  ข้อทั้งหมดนี้น้อง ๆ ควรรู้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตนเอง จะมีทางใดบ้าง แตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลย

เส้นทางสู่มหาวิทยาลัย
- รับตรงและโควตา
- รับตรงที่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ (Clearing-house)
- รับตรงที่ไม่เข้าร่วม เคลียริงเฮาส์ (Clearing-house)
- ภาคพิเศษ / ภาคปกติ
- เส้นทางสู่คณะแพทย์ ทันตะ และสัตวแพยทย์
- ระบบ Admissions
- หลักสูตรนานาชาติ
- เอกชน

รับตรงและโควตา
รับตรงและโควตา จริง ๆ มันคืออันเดียวกันแหละ คือเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยหรือคณะเปิดรับนักศึกษาเอง ต่างกันตรงเงื่อนไขการรับ รับตรง จะเป็นโครงการที่เปิดรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนจากทั่วประเทศ ไม่ค่อยมีเงื่อนไขพิเศษ ชื่อโครงการจะตรง ๆ เลย เช่น ม.ธรรมศาสตร์ โครงการรับตรง, จุฬา รับตรงแบบปกติ, มศว ประเภทรับตรงทั่วไป ส่วนโควตา จะมีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติพิเศษ เช่น โควตาภูมิลำเนา โควตาความสามารถพิเศษ กีฬา วิชาการ นักเรียน ค่าย สอวน. แต่ทั้งรับตรงและโควตา ก็มีรูปแบบการรับสมัครเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็เรียกรวมกันไปเลยว่า รับตรง และเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่น่าสนใจมาก เพราะมีการคัดเลือกก่อน  Admissions เรียกได้ว่าถ้าสอบติดคณะและมหาวิทยาลัยที่อยากได้ตั้งแต่รอบรับตรงก็สบายใจได้เลยว่า มีที่เรียนแน่นอน แต่ถ้าพลาดก็ถือว่าเป็นการฝึกฝีมือเพราะยังมีรอบ Admissions รออยู่

ข้อดีของระบบรับตรง
- ในบางคณะ/สาขาวิชา มหาวิทยาลัยบางแห่ง เปิดเฉพาะรอบรับตรง ไม่เปิดรอบ Admissions
- รับตรงมีจำนวนรับเยอะแต่คู่แข่งน้อย เมื่อเทียบกับ Admissions 
ดังนั้นแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาว่าคณะและมหาวิทยาลัยที่เราสนใจมีรับตรงหรือไม่ หากมีก็ควรเก็บรับตรงก่อนเลย และนอกจากรับตรงจะมีรอบก่อน Admissions แล้ว ยังมีรอบหลัง Admissions อีกด้วย

คุณสมบัติของผู้สมัคร
รับตรงนั้นแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นระดับการศึกษา เกรดเฉลี่ยสะสม และคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ เรามาทำความเข้าใจคุณสมบัติแต่ละอันกันเลย
1. ระดับการศึกษา
มีกำหนดหลายรูปแบบแล้วแต่คณะและมหาวิทยาลัย เช่น
- กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หมายถึง ผู้ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 6
- สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หมายถึง ผู้ที่จบชั้น ม. 6 แล้ว ซึ่งเด็กซิ่วก็จัดอยู่ในหมวดนี้
- เทียบเท่า หมายถึง ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่า ม. 6 นั่นก็คือ กศน. และ ปวช.
- สายการเรียน บางคณะจะกำหนดสายการเรียนว่า เฉพาะสายวิทย์-คณิต เท่านั้น
2. GPAX คือ เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย
รับตรงนั้นโดยทั่วไปมีทั้งกำหนดเกรดและไม่กำหนดเกรด
หากกำหนดจะใช้เกรด 4, 5 หรือ 6 เทอม แล้วแต่โครงการ
- เกรดเฉลี่ยสะสม 4 ภาคการศึกษา คือ เกรด ม. 4 และ ม. 5
- เกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคการศึกษา คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6 เทอม 1
- เกรดเฉลี่ยสะสม 6 ภาคการศึกษา คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6
อันนี้แสดงให้เห็นว่าเกรดชั้น ม. 4 และ ม. 5 นั้นสำคัญ เพราะฉะนั้นเตือนไว้ก่อนสำหรับน้อง ม. 4 และ ม. 5 อย่าเอาเวลาไปทำกิจกรรมซะเพลินจนทำให้เกรดตกนะครับ เพราะถ้าเกรดไม่ถึงน้องจะพลาดโอกาสนี้ไปทันที
3. GPA คือ เกรดเฉลี่ยสะสมของกลุ่มสาระต่าง ๆ ตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย
อย่างเช่น เกรดเฉลี่ยสะสมของกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ 4 ภาคการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 3.00
แปลว่าเกรดเฉลี่ยรวมเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ทั้ง 4 ภาค คือเกรด ม. 4 และ ม. 5 ต้องไม่ตำกว่า 3.00

เกณฑ์การคัดเลือก
เกณฑ์การคัดเลือกของรับตรง แต่ละมหาวิทยาลัยหรือคณะจะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกัน ทั้งการคัดเลือกจากเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) เพียงอย่างเดียว หรือใช้คะแนนจากการสอบ 9 วิชาสามัญ, GAT/PAT, O-NET หรือการจัดสอบเอง  
รูปแบบเกณฑ์การคัดเลือกของรับตรง
แต่ละคณะหรือมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกัน เช่น
- GPAX + สัมภาษณ์
- สอบข้อเขียน + สัมภาษณ์
- GAT/PAT + สัมภาษณ์
- 9 วิชาสามัญ + สัมภาษณ์
- GAT/PAT + 9 วิชาสามัญ + สัมภาษณ์
- O-NET + GAT/PAT + สัมภาษณ์
- O-NET + สอบข้อเขียน + สัมภาษณ์

9 วิชาสามัญ
คือ การทดสอบวิชาสามัญเพื่อนำผลไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ใช้ในรับตรงเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในแอดมิชชั่น ประกอบด้วยวิชาคณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา, คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป จัดสอบโดย สทศ. ซึ่ง 9 วิชาสามัญ นี้ก็พัฒนามาจาก 7 วิชาสามัญ โดยเพิ่มวิชาคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป เพื่อเด็กสายศิลป์นั่นเอง

รับตรงที่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ (Clearing-house)
เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดรับตรงและโควตามากขึ้น และมีผู้ที่สอบติดรับตรงและโควตาในหลายแห่ง ยืนยันสิทธิ์การเข้าศึกษามากกว่า 1 แห่ง และยอมชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สอบติดทุกแห่ง แต่ไม่แจ้งสละสิทธิ์ไปยังมหาวิทยาลัยที่ไม่เข้าศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่สามารถรับนักศึกษาทดแทนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ทำให้เกิดที่เรียนว่างเป็นจำนวนมาก สอท. จึงใช้ระบบ Clearing-house โดยการรวบรวมและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบรับตรงและโควตาของ สถาบันต่าง ๆ ที่มีข้อตกลงในการใช้ระบบ Clearing-house นักเรียนที่สอบติดรับตรง ในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม มีสิทธ์เลือกยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้เพียง 1 ที่เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะถูกส่งรายชื่อเพื่อตัดสิทธ์ Admissions หากไม่ดำเนินการใด ๆ จะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์การเข้าศึกษาในระบบตรง

รายชื่อมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบ เคลียริงเฮาส์ ปีการศึกษา 2559
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. มหาวิทยาลัยทักษิณ
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8. มหาวิทยาลัยนครพนม
9. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
10. มหาวิทยาลัยมหิดล
11. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
12. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
13. มหาวิทยาลัยศิลปากร
14. กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
15. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมุงกุฏเกล้า
16. มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
17. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
18. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
19. มหาวิทยาลัยศรีปทุม
20. มหาวิทยาลัยสยาม
21. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
22. มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่
23. มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
24. มหาวิทยาลัยปทุมธานี
25. วิทยาลัยเซาธ์อีสบางกอก
26. สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณ

- บางโครงการใน 26 มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบเคลียริงเฮาส์
- นักเรียนที่สอบติด จะได้รับรหัสการยืนยันจากทางมหาวิทยาลัย สอบติดหลาย ใช้รหัสจากที่ใดก็ได้
- ยืนยันสิทธิ์แล้ว สามารถเปลี่ยนได้ 3 ครั้ง

รับตรงที่ไม่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ (Clearing-house)
มหาวิทยาลัยไม่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ แต่ตัดสิทธิ์แอดมิชชั่น ก็มีหลายโครงการ นักเรียนสามารถตรวจสอบเงื่อนไขการยืนยันสิทธิ์ได้ในระเบียบการสมัครของโครงการนั้น ๆ 

ภาคพิเศษ / ภาคปกติ
ภาคพิเศษ หรือ ในบางมหาวิทยาลัยเรียกว่าภาคสมทบ เป็นการเปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติมจาก ภาคปกติ คือปกติเราจะเรียนกันจันทร์-ศุกร์ 8 โมงเช้า - 4 โมงเย็น แต่ภาคพิเศษ เค้าจะเริ่มเรียนกัน ประมาณบ่าย หรือ เย็น ยาวจนถึงประมาณสองสามทุ่ม หรือที่เรียกว่านอกเวลาราชการ บางที่มีเรียนเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งก็แล้วแต่มหาวิทยาลัยกำหนด หลักสูตรการเรียนการสอนเหมือนกันทุกอย่าง รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับน้อง กิจกรรมเชียร์ ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันแน่นอน และรูปแบบใบปริญญาจะเหมือนกัน ระบุแค่หลักสูตรที่จบ ไม่ได้ระบุว่าจบภาคปกติ หรือ ภาคพิเศษ ทั้งสองภาคจะแตกต่างกันเรื่องเวลาเรียน เรื่องค่าเทอมของภาคพิเศษจะแพงกว่าภาคปกติ 1 - 2 เท่า ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ค่าเทอมแพงกว่า เพราะต้องจ้างอาจารย์ผู้สอนนอกเวลา และเกณฑ์การรับเข้าศึกษาของภาคพิเศษจะง่ายกว่าภาคปกตินิดนึง เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาส เพิ่มทางเลือกให้กับนักเรียนและคนที่สนใจเข้าศึกษา

เส้นทางสู่คณะแพทย์ ทันตะ และสัตวแพยทย์
“กสพท" เป็นการสอบคัดเลือกระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อรับบุคคลเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ถือเป็นรับตรงอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นช่องทางหลักของการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เพราะคณะแพทยศาสตร์มีเฉพาะรอบรับตรงของมหาวิทยาลัยและรับตรงผ่าน กสพท. เท่านั้น ไม่มีรอบ Admissions ส่วนคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มีทั้งรอบรับตรงและ Admissions

เกณฑ์การคัดเลือกของ กสพท.
- วิชาความถนัดแพทย์ 30%
- 9 วิชาสามัญ 70% (คณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, สังคม)

รายละเอียดการสมัคร กสพท >> Click


น้อง ๆ สามารถติดตามข่าวรับตรงและโควตาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้จาก "ศูนย์ข่าวรับตรง" ของเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา ซึ่งเราได้รวบรวมข่าวรับตรงและโควตาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไว้มากมาย อัพเดทรวดเร็ว แบ่งกลุ่มคณะตามความสนใจ พร้อมย่อยข้อมูลให้อ่านง่าย มีระบบค้นหาทั้งจากสถาบันและกลุ่มคณะ สามารถบันทึกคณะที่สนใจเก็บไว้ได้ และนอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนการเปิดและปิดรับสมัครผ่านอีเมลอีกด้วย

แอดมิชชั่น (Admissions)
"แอดมิชชั่น (Admissions)" คือ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบบการคัดเลือกนี้น้อง ๆ สามารถเลือกคณะและสาขาวิชาได้ 4 อันดับ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกจากองค์ประกอบและค่าร้อยละของ GPAX 20%, O-NET (5 วิชา) 30% และ GAT/PAT 50%

องค์ประกอบของ Admissions
GPAX 
คือ เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย
พูดง่าย ๆ ก็คือ เกรดเฉลี่ยสะสม 6 ภาคเรียน หรือเกรดเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ ม. 4-6 นั่นเอง

O-NET
คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน โดยใช้คะแนนเฉพาะ 5 กลุ่มสาระที่ สทศ. จัดสอบ คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย และสังคมศึกษา

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ O-NET
- เด็ก ม.6 ทุกคนต้องสอบ และต้องสอบให้ครบทุกวิชาภายในปีการศึกษานั้น
- สอบได้แค่ครั้งเดียว คะแนนติดตัวไปตลอดชีวิต
- เด็กสายอาชีพสอบได้แต่ต้องสมัครเอง ส่วนเด็ก ม.6 โรงเรียนสมัครให้

GAT/PAT
GAT (General Aptitude Test) หรือ ความถนัดทั่วไป คือ การวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GAT เชื่อมโยง 50 %
2. ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GAT ภาษาอังกฤษ 50 %

PAT (Professional and Academic Aptitude Test) หรือ ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ คือ การวัดความรู้พื้นฐานและศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้น ๆ ให้ประสบความสำเร็จ มี 7 ประเภท คือ
1. PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
2. PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
3. PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
4. PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
5. PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
6. PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
7. PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ
   PAT 7.1 ภาษาฝรั่งเศส
   PAT 7.2  ภาษาเยอรมัน
   PAT 7.3  ภาษาญี่ปุ่น
   PAT 7.4  ภาษาจีน
   PAT 7.5  ภาษาอาหรับ
   PAT 7.6  ภาษาบาลี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ GAT/PAT
- 1 ปีการศึกษา สามารถสอบได้ 2 ครั้ง ใช้ยื่นได้ทั้งรอบรับตรงและรอบ Admissions
- ไม่ต้องสอบทุกวิชา เลือกสอบเฉพาะวิชาที่ใช้ก็พอ
- เด็กซิ่วสามารถสอบ GAT/PAT ใหม่ได้ทุกปี
 

องค์ประกอบและค่าร้อยละของ Admissions ปี 2560

กลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์สุขภาพ
สัตวแพทยศาสตร์, สหเวชศาสตร์, สาธารณสุขศาสตร์, เทคนิคการแพทย์, พยาบาลศาสตร์, วิทยาศาสตร์กีฬา
GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 2 30%

ทันตแพทยศาสตร์
GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 1 10% PAT 2 20%

เภสัชศาสตร์
GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT 2 40 %

 

กลุ่มที่ 2 วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ

วิทยาศาสตร์, ทรัพยากรธรรมชาติ

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 1 10% PAT 2 30%

เทคโนโลยีสารสนเทศ

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 1 20% PAT 2 20%

 

กลุ่มที่ 3 วิศวกรรมศาสตร์

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 15 % PAT 2 15% PAT 3 20%

 

กลุ่มที่ 4 สถาปัตยกรรมศาสตร์

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 4 40%

 

กลุ่มที่ 5 เกษตรศาสตร์

เกษตรศาสตร์, อุตสาหกรรมเกษตร, วนศาสตร์, เทคโนโลยีเกษตร

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 1 10% PAT 2 30%

 

กลุ่มที่ 6 บริหาร, พาณิชยศาสตร์, การบัญชี, การท่องเที่ยวและการโรงแรม และเศรษฐศาสตร์
บริหารธุรกิจ, พาณิชยศาสตร์, การบัญชี, เศรษฐศาสตร์

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 30% PAT 1 20%

การท่องเที่ยวและการโรงแรม
รูปแบบที่ 1 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 50%

รูปแบบที่ 2 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 40 % PAT 7 (เลือก 1 วิชา) 10%

 

กลุ่มที่ 7 ครุศาสตร์, ศึกษาศาสตร์, พลศึกษา, สุขศึกษา

รูปแบบที่ 1 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 20% PAT 5 30%

รูปแบบที่ 2 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 5 20% PAT 1/2/3/4/6/7 (เลือก 1 วิชา) 20%

 

กลุ่มที่ 8 ศิลปกรรมศาสตร์

ศิลปกรรมศาสตร์, วิจิตรศิลป์, ศิลปประยุกต์, ดุริยางคศิลป์, นาฏศิลป์, ศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์, ศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม

GPAX 20 % O-NET 30% GAT 10% PAT 4 หรือ PAT 6 (เลือก 1 วิชา) 40%

 

กลุ่มที่ 9 มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, นิเทศศาสตร์, วารสารศาสตร์, อักษรศาสตร์, ศิลปศาสตร์, มนุษยศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, สังคมวิทยา, สังคมสงเคราะห์ศาสตร์

พื้นฐานวิทยาศาสตร์ GPAX 20 % O-NET 30% GAT 30% PAT 1 20%

พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 1 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 50%

พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 2 GPAX 20 % O-NET 30% GAT 30% PAT 7 (เลือก 1 วิชา) 20%

หลักสูตรนานาชาติ
เดิม "หลักสูตรนานาชาติ" หรือ "หลักสูตรอินเตอร์" มีไว้เพื่อรองรับนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติเป็นหลัก แต่การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนทำให้หลักสูตรนานาชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีจำนวนรับเยอะ คู่แข่งน้อย วิชาที่สอบก็น้อย และสอบได้หลายครั้ง เสียที่ค่าเทอมอาจจะสูงหน่อย แต่ถ้าเรามีความสามารถที่จะจ่ายได้ก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว เพราะเมื่อจบการศึกษา นอกจากความรู้แล้วเราจะได้ภาษามาด้วยเต็ม ๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นทักษะที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้ในอนาคต หลักสูตรนานาชาติ มีทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน แต่มีเฉพาะบางคณะเท่านั้น ช่องทางในการเข้าศึกษาก็มีทั้งผ่านระบบรับตรงและระบบ Admissions

มหาวิทยาลัยเอกชน
เป็นเส้นทางสุดท้าย แต่อาจเป็นตัวเลือกแรกของน้องหลายคน เพราะหลายสถาบันมีชื่อเสียงไปไม่น้อยกว่าสถาบันของรัฐเลย แถมยังได้เปรียบในเรื่องของอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยและครบครันกว่า ซึ่งในหลายสถาบันก็มีทุนการศึกษาให้ได้เรียนกันฟรี ๆ ด้วย ส่วนช่องทางในการเข้าศึกษาก็มีทั้งผ่านระบบรับตรงและระบบ Admissions เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐ

ปฏิทิน Admissions ปี 60
GAT/PAT ครั้งที่ 1/2560 
สมัคร 10 - 29 ส.ค. 59 
สอบ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 59
ประกาศผลสอบ 15 ธ.ค. 59

9 วิชาสามัญ ปีการศึกษา 2560
สมัคร 5 - 24 ต.ค. 59 
สอบ 24 - 25 ธ.ค. 59 
ประกาศผลสอบ 25 ม.ค. 60 

O-NET ประจำปีการศึกษา 2559 
สอบ 18 - 19 ก.พ. 60 
ประกาศผลสอบ 20 มี.ค. 60 

GAT/PAT ครั้งที่ 2/2560 
สมัคร 7 - 26 ธ.ค. 59 
สอบ11 - 14 มี.ค. 60 
ประกาศผลสอบ 20 เม.ย. 60

เคลียริ่งเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2560
นักเรียนยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ 25 - 28 เม.ย. 60 

Admissions ปีการศึกษา 2560
จำหน่ายระเบียบการ 16 - 27 พ.ค. 60 
รับสมัคร 20 - 27 พ.ค. 60 
ชำระเงินค่าสมัคร 20 - 29 พ.ค. 60 
ผู้สมัครตรวจสอบคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกแอดมิชชั่น 7 - 9 มิ.ย. 60 
ประกาศชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ 15 มิ.ย. 60 
สอบสัมภาษณ์ 23 - 26 มิ.ย. 60 
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา 10 ก.ค. 60

สมัครสอบ GAT/PAT และ 9วิชาสามัญ ได้ที่เว็บไซต์ สทศ. >> Click
ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาและสมัครแอดมิชชั่น 60 ได้ที่เว็บไซต์ สอท. >> Click

ติดตามข่าวรับตรง แอดมิชชั่น เทคนิคการสอบ และแนะแนวการศึกษาต่อ
ได้ที่แฟนเพจ Plook Admissions

www.facebook.com/PlookAdmissions