ความมั่นคงทางอาหารของเด็กไทยเริ่มได้ที่โรงเรียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-03-15 13:34:46
กิจวัตรประจำวันของนักเรียนประจำในพื้นที่ห่างไกลอย่าง อรพิน เลิศสินชัยสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านวนาหลวง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า หลังปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว อรพินจะไปยังโรงครัวของโรงเรียนเพื่อเตรียมทำอาหารเช้าสำหรับตัวเอง รวมทั้งรุ่นน้องและเพื่อน ๆ อีกราว 70 คนไว้รับประทาน เมนูวันนี้คือ ผัดผักบุ้งไฟแดง กับข้าวสวยร้อน ๆ อิ่มท้องแล้วก็เตรียมพร้อมเข้าแถวเคารพธงชาติและเริ่มเรียนหนังสือได้
“อาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุดค่ะ พวกหนูคงเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องถ้าท้องยังหิว สำหรับเพื่อน ๆ ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะอาจจะไม่คิดอะไร แต่สำหรับคนที่ไม่มีเงินมาก โครงการอาหารโรงเรียนแบบนี้มีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวที่เราปลูกเอง สด สะอาดปลอดภัยแน่นอน ไม่ต้องกังวลว่าจะมียาฆ่าแมลงหรือไม่เหมือนผักที่เราไปซื้อกิน” ด.ญ.อรพิน กล่าว
ส่วนประกอบที่น้อง ๆ โรงเรียนบ้านวนาหลวงนำมาทำเป็นอาหารเช้า เป็นผลผลิตที่ได้จากโครงการสวนเกษตรอินทรีย์สนับสนุนโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) พืชผักอินทรีย์ปลอดสารเหล่านี้ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับอนาคตของชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล อย่าง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนิน “โครงการอาหารกลางวัน”เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษารู้จักวิธีการผลิตอาหาร การบริโภคอาหารอย่างถูกหลักอนามัย และถูกสุขนิสัยที่ดี ผ่านการปฏิบัติจริง ทำให้ทุกคนได้กินอาหารกลางวันที่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันได้เองอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงและการคมนาคมขนส่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไปกลับอย่างแม่ฮ่องสอน จึงมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ต้องอาศัยพักค้างที่โรงเรียนตลอดภาคการศึกษา
โรงเรียนบ้านวนาหลวง อำเภอปางมะผ้าแห่งนี้มีนักเรียนจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชนเผ่า รวมทั้งอรพินจำเป็นต้องอยู่ที่โรงเรียน ดังนั้น เพียงงบประมาณอาหารกลางวันจากภาครัฐเฉลี่ย 20 บาทต่อหัวต่อคนจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคอาหารโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน
ด้วยเหตุนี้ คุณครูกัญญา สมบูรณ์ ครูใหญ่ประจำโรงเรียนบ้านวนาหลวง จึงพยายามมองหาโอกาสเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับนักเรียนและคุณครูผู้สอนของโรงเรียน และมีแนวคิดทดลองทำโครงการสวนเกษตรสวนผสมที่โรงเรียน ต่อมาโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ภายใต้นโยบายความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของเด็กและเยาวชน
“เมื่อเราได้ปลูกผักปลอดสารพิษ นั่นก็หมายความว่า เราได้สร้างโอกาส ความมั่นคงทางอาหารและความหวังในการเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจที่มั่นคงให้กับเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน” คุณครูกัญญากล่าว
เมื่อได้รับทุนสนับสนับโครงการในปี 2556 คุณครูกัญญาจึงเริ่มลงมือทำสวนผักปลอดสารพิษ ทันที โดยสลับหมุนเวียนปลูกผักหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม พื้นที่ 13 ไร่ของโรงเรียนที่เคยปล่อยทิ้งร้างไว้ ก็ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับนักเรียนและครูที่พักอาศัยประจำอยู่ที่โรงเรียน นอกจากนี้ เด็ก ๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสวนผักเหล่านี้ร่วมกัน โดยโรงเรียนจะมีตารางกิจกรรมหลังเวลาเรียนภาคบ่ายให้นักเรียนเข้ามาช่วยดูแลแปลงผักซึ่งเป็นอาหารของพวกเขาด้วย
ฝึกและเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
งานสวนงานไร่ ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องคอยรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ตรงจุดด้วย คุณครูกัญญาเล่าช่วงแรกที่ทำสวนผัก สามารถปลูกได้แค่เฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น พอหน้าแล้งก็ต้องปล่อยที่ให้ว่างเปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีน้ำใช้เพียงพอ โรงเรียนก็จำเป็นต้องจัดการงบที่มีอยู่จำกัดมาใช้เพื่อไปซื้ออาหารก่อนเพราะเป็นปัจจัยเฉพาะหน้าที่สำคัญ จากนั้นจึงเริ่มคิดหาทางปรับปรุงงระบบน้ำให้สามารถปลูกผักได้ตลอดปี ทำให้มีผักสด สะอาดไว้สำหรับประกอบอาหารให้กับเด็ก ๆ ได้ทั้งสามมื้อ
ปัญหาน้ำหมดไป ผักงอกงามดี แต่เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดคือ วัวเพื่อนบ้านในชุมชนบุกรุกเข้ามากินผักสวนครัวที่ปลูกไว้ ไร่สวนผสมได้รับความเสียหายมาก ต้องรีบจัดการทำรั้วกันแทบไม่ทัน จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณครูกัญญาและคุณครูท่านอื่น ๆ มาถกประเด็นร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนบ้านวนาหลวงมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ในที่สุดได้คำตอบว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แบบยกพื้นน่าจะเป็นคำตอบเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนและลงตัวที่สุด
หลังการประกาศใช้นโยบายให้โรงเรียนเลิกเรียนเวลาบ่ายสองโมง โรงเรียนบ้านวนาหลวงจึงมีกิจกรรมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้นอกห้องเรียนแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพ ความมั่นคงทางอาหารและรายได้ไปพร้อม ๆ กัน
“นักเรียนลองหยิบต้นกล้าเหล่านี้ขึ้นมา และเช็กว่ารากสีซีดหรือไม่ ลองสังเกตดู หยิบด้วยความระมัดระวังและเบามือที่สุด สิ่งที่นักเรียนควรได้เรียนรู้ คือ ต้นกล้าผักเราเหล่านี้ราคา 15 บาท ถ้าเราดูแลดี ต้นผักเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นกิโลละ 150 บาท ภายในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น” คุณครูรัตนากร แก้วน้อยผู้ดูแลโครงการผักไฮโดรโปนิกส์กำลังสอนวิธีการดูแลและตรวจสอบสภาพผักระหว่างชั่วโมงกิจกรรมนอกห้องเรียนภาคบ่าย
เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ไอซ์เบิร์ก สลัดแก้ว สีสันสดใสสวยงามเหล่านี้สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับมื้ออาหารกลางวัน ของนักเรียนบ้านวนาหลวง นอกจากนี้ ผลผลิตส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้าจากตัวเมืองมารับซื้อถึงโรงเรียนในราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ละครั้งจะขายได้ราว 10 กิโลกรัมทีเดียว
ของขวัญจากผืนดิน
โรงเรียนบ้านวนาหลวงไม่ได้มีแค่สวนผักเท่านั้น พื้นที่ทุกตารางนิ้วได้รับการปรับใช้อย่างเป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ด้านหลังโรงเรียนยังมีเล้าไก่ และคอกหมู เพื่อนักเรียนจะได้มีไก่และเนื้อสัตว์ไว้บริโภคและสารอาหารครบ 5 หมู่ ทั้งสามมื้อ รายได้จากการขายผักสลัด ไข่ไก่และเนื้อสัตว์ ทางสหกรณ์โรงเรียนจะนำมาบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ผักไฮโดรโปนิกส์ และสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ ของโรงเรียนต่อไป
ปัจจุบัน ไร่สวนผสมที่โรงเรียนบ้านวนาหลวงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักไฮโดรโปนิกส์ และไก่ไข่ออร์แกนิคอุดมสมบูรณ์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมในการทำงานของคุณครูและนักเรียนอย่างอบอุ่น ทำให้โรงเรียนมีรายได้หมุนเวียนเพียงพอต่อการดูแลทั้งด้านการเรียนและโภชนาการของเด็กนักเรียนและคุณครูกว่า 300 ชีวิตอย่างยั่งยืนตลอดสามปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ คุณครูกัญญา ยังนำเงินรางวัลที่ตนเองได้รับจากรางวัลยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ตามโครงการตามรอยเกียรติครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ปี 2558 จำนวนสามแสนบาท มาเพื่อปลูกต้นกาแฟในบริเวณโรงเรียน เพื่อให้เป็นกิจกรรมเสริมฝึกฝนทักษะอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับนักเรียนต่อไป คาดอีกสองปีข้างหน้าจะมีผลผลิตจากกาแฟออกจำหน่ายและใช้รับรองแขกที่มาเยี่ยมโรงเรียน
“เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มที่ตัวเราค่ะเพียงแต่เราต้องรู้จักนำปรัชญาของพระองค์ นำมาประยุกต์และปฏิบัติใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อลงมือทำ และอดทนเราจะเห็นผลด้วยตัวเองว่า ปรัชญาของพระองค์ทำได้จริงและสร้างชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับโรงเรียนและชุมชนรอบข้างอย่างยั่งยืนตามที่พระองค์สอนพวกเราทุกคนค่ะ” คุณครูกัญญา กล่าว