www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

Classroom: A B C D E สูตรเก่งวิทยาศาตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-01-06 17:56:01

เรื่อง: ปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล



ภาพประกอบ https://pixabay.com/th/


สวัสดีครับน้อง ๆ ช่วงที่ผ่านมาพี่ฟาร์มมี่มีโอกาสออนทัวร์ติวในหลายจังหวัด ได้พบปะพูดคุยกับทั้งน้องสายวิทย์และสายศิลป์ สิ่งหนึ่งที่พบเหมือนกันเลยคือ น้อง ๆ จะเข้ามาถามคำถามว่า “ทำยังไงหนูถึงจะเรียนวิทย์ให้เก่งได้คะ”


พี่ก็นั่งคิด นอนคิด เดินคิดทั้งปีก็ได้ตกผลึกจากประสบการณ์ตัวเองตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนเรื่อยมาจนเป็นนิสิต และปัจจุบันเป็นครูเป็นติวเตอร์ ผลึกแก้วที่ว่าคือ 5 ขั้นตอน A B C D E ซึ่งพี่ขอเรียกว่า ขั้นตอนสู่ความเป็นเลิศในการเรียนวิทยาศาสตร์สไตล์พี่ฟาร์มมี่ มาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง


A - ATTITUDE: การมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนเป็นสิ่งจำเป็นมาก คล้ายกับว่า ถ้าเรารักใครสักคน เรา จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะเข้าถึงเขาคนนั้น (น้ำเสียงนุ่มแบบพี่อ้อยพี่ฉอด) หลายคนมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นยาขม ยากเกินเอื้อม ถ้าแค่เริ่มต้นเราก็ส่ายหน้าแล้ว มันก็เหมือนเราได้ปิดตายประตูแห่งการเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ น่าเสียดายนะครับ เอาเป็นว่าขอแค่เริ่มต้นด้วยการเปิดใจเรียนรู้และคิดตามโดยไม่ปิดกั้น ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว Well begun is half done. ในฉบับต่อ ๆ ไปพี่จะพูดถึงหลักการเรียนวิทย์อย่างไรให้สนุกนะครับ อยากรู้ต้องรอติดตาม


B - BASICS MASTERY: เด็กไทยมักถูกกดดันตลอดเวลาด้วยการเรียนเพื่อสอบ หลายคนเลยเสาะหาทางลัด เพื่อให้ได้คะแนนสอบเยอะ จนบางครั้งการเรียนวิทยาศาสตร์เลยเป็นการเรียนแบบผิวเผินด้วยการท่องจำ ถ้าคำถามมาแบบนี้ให้ต้อบแบบนั้น โดยที่ไม่ได้เข้าใจถึง “แก่น” สิ่งสำคัญคือ การเรียนให้เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนั้น ๆ จับคอนเซ็ปต์ให้ได้ ต้องเข้าใจกลไก เข้าใจเหตุผลหรือข้อเท็จจริงว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วค่อยไต่ระดับไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้น มันจะเหมือนกับการสร้างฐานพีระมิดที่มั่นคง การต่อยอดขึ้นก็จะง่ายละ


C - COMPARISION & DISSCUSSION: เมื่อเริ่มมีความรู้พื้นฐานมากพอ ต่อมาคือการต่อยอดอย่างมีกลยุทธ์ ลองสังเกตดูนะครับว่า เพื่อนที่เรียนวิทย์ได้ดีมักเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย รู้จักเปรียบเทียบ และหมั่นตั้งคำถามที่นำไปสู่การถกเถียง อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เอาสิ่งที่ครูพูดไปวิเคราะห์ต่อ ถกกันต่อ เหมือนเราได้เอาความรู้นั้นมาใช้ซ้ำเรื่อย ๆ พัฒนาความรู้อยู่ตลอด สามารถ “สังเคราะห์” ความรู้ความเข้าใจในแบบฉบับของเราขึ้นมา พูดง่ายเลย ๆ คือ “มันเก็ตอ่ะ”


D - DRAWINGS & VISUALIZATION: เมื่อเริ่มเรียนรู้มากขึ้น ปริมาณข้อมูลต้องจำและทำความเข้าใจมันจะมหาศาลมาก ต้องเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา บรรยากาศวิทยา เห็นแล้วพี่อยากเป็นลมแทน การใช้แผนภาพ (Diagram) สร้างการเชื่อมโยงเนื้อหาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มันคือเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมาก นอกจากนั้นข้อมูลบางอย่าง ยังเหมาะแก่การจดเพื่อให้ง่ายต่อการดูซ้ำบ่อย ๆ แนะนำให้ทำเป็นโน้ตย่อ เรื่องบางเรื่องต้องเขียนเป็นวัฏจักร หรือภาพแสดงรายละเอียดเฉพาะ สิ่งนี้จะทำให้วิทยาศาสตร์สนุกขึ้นมาก ปากกา กระดาษโน้ต ดินสอสี เตรียมไว้ให้พร้อมนะครับ


E - EXPERIENCE: การหาประสบการณ์ไม่ว่าจากการทำการทดลอง ดูงาน หรือแม้กระทั่งการฝึกทำโจทย์ เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ การฝึกคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาและได้ลองทำตัวเอง เป็นสิ่งเสริมเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการคอนเฟิร์มว่าที่เรียนที่เข้าใจอยู่มัน “ถูกต้อง” แล้วนะ แต่หากว่ามันยังผิดอยู่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้รู้ว่าเราเข้าใจผิดตรงไหน จะได้ปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง


พี่ฟาร์มมี่ฝากให้น้อง ๆ ลองเอาขั้นตอน ABCDE นี้ไปปรับใช้กับการเรียนดูนะครับ พี่เป็นกำลังใจให้ทุกคนและพี่เชื่อว่า ใคร ๆ ก็สามารถเป็น “เด็กเก่งวิทย์” ได้แน่นอนครับ

----------------------------------------------------------------------
ปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล
“อ.ฟาร์มมี่” ปริญญาโท MBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการเรียนดีเยี่ยม 4.00
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
ประสบการณ์การสอนกว่า 10 ปี เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง National Software Contest: NSC2003