อ่านคนตามกลยุทธ์ สามก๊ก จัดการงานให้ตรงบุคลิก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-12-25 15:24:03
วรรณกรรมสามก๊กของจีน ดูเหมือนถูกพูดกันมาก เนื้อในของกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง "การอ่านคน" ที่ตัวละครต่างมีทั้งการกระทำที่ผิดและถูก นั่นแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของคนแต่ละแบบ ที่หากมีการตกตะกอนก็สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
"เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป" นักเขียนผู้ศึกษาเรื่องสามก๊กมองว่า
วรรณกรรมจีนหลายเรื่องอยู่ภายใต้แนวคิดขงจื๊อ จะเห็นว่าตัวละครทำดีแล้วไม่ได้ดี บางเรื่องเปิดมาคนดีตายก่อน
ในความหมายขงจื๊อคือ ตายหรือไม่ตายไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญอยู่ที่เราทำหน้าที่ของตัวเองหรือยัง
ด้วยความหมายนี้ คนที่เป็นปราชญ์ถูกยกระดับจิตใจให้อยู่สูงกว่าความเป็นหรือตาย บางตัวละครทำดีแล้วไม่ได้ดีก็ไม่เป็นอะไร บางคนทำดีจนกว่าตัวเองจะตาย
โดยวรรณกรรมสามก๊กก็มาภายใต้แนวคิดนี้
สามก๊กมีการอ่านคน 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
1. สไตล์การอ่านคนแบบฝรั่ง
ที่มองแต่ละคนเหมาะกับงานอย่างไร เช่น
ภาพ ; ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก shutterstock.com
สไตล์นักรบ จะตัดสินใจเร็ว เป็นผู้นำสูง ดุดัน เผด็จการ เฉียบขาด เวลาตัดสินใจอะไรแล้วไม่ใยดี เช่น กวนอูในสามก๊ก ถ้าตัดคือตัด เช่นเดียวกับเตียวหุย ที่ไม่ใช่คนมองการณ์ไกล แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
หากอยากเพิ่มพลังคนกลุ่มนี้ต้องให้อำนาจ เขาไม่ต้องการเงินมาก เพราะเป็นคนทำงานเร็ว ถ้ามีอำนาจเพิ่มเข้าไปจะทำให้งานไวขึ้น การสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ต้องสั้นกระชับรวดเร็ว
สไตล์นักการทูต เหมือนเล่าปี่ พูดจาดีทะนุถนอมน้ำใจคน แต่ปัญหาเป็นคนไม่เด็ดขาด รักพี่เสียดายน้อง จนกลายเป็นคนโลเล แต่ทำงานด้านประสานงานดี ผิดจากสไตล์นักรบที่ประสานงานกับใครไม่ค่อยได้
รูปแบบนักการทูตอาจเป็นคนไม่เก่งงาน แต่อาศัยปากพรีเซนต์เก่ง คนกลุ่มนี้ต้องการอิสระด้านสายสัมพันธ์กับคนที่ติดต่อ เพราะเขาเชื่อว่าตัวเองไม่เก่ง แต่การมีพวกจะช่วยได้ คนกลุ่มนี้ชอบฟังข้อมูลในภาพกว้าง ๆ ไม่ชอบเจาะลึกอะไรมาก
ภาพ ; ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก shutterstock.com
สไตล์ศิลปิน ทำงานสร้างสรรค์ ชอบทำอะไรใหม่ ๆ แหวกแนว คิดนอกกรอบจนบางทีคนอื่นรับไม่ได้ เป็นคนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เช่น ตัวละครอย่างโจสิด ที่ถูกท้าทายให้แต่งกลอนเกี่ยวกับพี่น้อง โดยไม่มีคำว่าพี่น้องให้ได้ภายใน 7 ก้าว ไม่งั้นจะถูกฆ่าตาย แต่สามารถแต่งได้
คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เข้าถึงอารมณ์ และต้องการอิสระทางความคิด การคุยกับคนกลุ่มนี้ต้องสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึก
ภาพ ; ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก shutterstock.com
สไตล์แอดมิน หรือพนักงานประจำออฟฟิศ ถือเป็นเสาหลักขององค์กร เป็นคนไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ชอบความเร็ว ชอบอยู่กับที่นิ่ง ๆ อยู่กับกฎเกณฑ์ คิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ค่อยออก ทำงานได้ตามที่สั่ง ถ้าให้กลุ่มนี้ไปแก้ปัญหาแบบนักรบ จะทำไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาหน้างานได้ ซึ่งงานแม้จะช้าแต่มีคุณภาพ
สิ่งที่เขาชื่นชอบคือ การมีระบบที่ดีชัดเจน หากเปลี่ยนบ่อย ๆ เขาจะไม่ชอบ สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ได้ แต่ถ้าร้องขอให้กลุ่มที่เป็นนักรบ เขาจะช่วยอย่างเต็มที่ หรือกลุ่มนักการทูตจะใช้เครือข่ายที่ตัวเองมีช่วย
ภาพ ; ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก shutterstock.com
สไตล์นักวางแผน เหมือนขงเบ้ง เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง กลุ่มนี้เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่สุด วางทุกอย่างเป็นขั้นตอนที่มีกลยุทธ์ เลยทำให้คนไม่ค่อยอยากคบ และคุยกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะชอบหาความรู้เลยชอบถามอยู่เรื่อย
คนกลุ่มนี้จะมีความรู้มากกว่ากลุ่มอื่น จนเป็นเรื่องยากที่จะลดระดับในการสื่อสาร ปากหนักไม่พูดมาก แต่ชอบถาม การสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ด้วยข้อมูล สิ่งที่จะเสริมพลังคือ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย คนพวกนี้เก่งทุกเรื่องยกเว้นเรื่องคน
ภาพ ; ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก shutterstock.com
คนสไตล์นักรบ เหมาะกับการทำงานที่ต้องแก้ปัญหาหน้างาน เหมาะกับงานด้านการตลาด แต่ไม่ควรทำงานบริการ เพราะไม่ชอบการรองรับอารมณ์ใคร ส่วนคนที่มีสไตล์นักการทูต สามารถทำงานพีอาร์หรือบริการได้ คนสองกลุ่มนี้ทำงานคนละแบบ คนหนึ่งทำงานอีกคนหนึ่งพูด แต่เป็นการทำงานเชิงรุก ส่วนคนสไตล์ศิลปินทำงานทั้งรุกและรับได้ เหมาะอยู่ในหน่วยงานครีเอทีฟ ศิลปิน ส่วนคนสไตล์แอดมินทำอะไรก็ได้ในองค์กรที่ไม่ต้องแข่งขัน ถ้าใครได้เจ้านายสไตล์แอดมินอย่าพยายามคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการท้าทาย
นักวางแผนจะไม่ชอบลูกน้องที่ต้องทำให้ตัวเองเสียแผน งานที่เหมาะคืองานวิจัย วิชาการ งานที่ไม่ต้องพบปะผู้คนมาก
สไตล์เหล่านี้ในหนึ่งคนสามารถผสมผสานกันได้ เช่นกวนอู มีความเป็นนักรบและแอดมินอยู่ในตัว เพราะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิด เงินไม่สามารถ ซื้อตัวตนได้
การอ่านคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องยากที่คนหนึ่งคนจะมีสไตล์เดียวอยู่ในตัวเอง แต่ต้องมีการผสมผสานโดยส่วนใหญ่ในคนหนึ่งคนมีสไตล์ที่ผสมผสานอย่างน้อยสองแบบ เช่น ขงเบ้ง มีการผสมกันระหว่างนักวางแผนผสมนักรบ
ซึ่ง สไตล์เหล่านี้ในตัวคนสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงวัยได้ สไตล์เหล่านี้นอกจากการบอกตัวตนแล้ว ยังเป็นแนวทางในภาวะวิกฤติว่า เราควรจะมีสไตล์ไหนในภาวะนั้น
การอ่านคนในภาพใหญ่แบบที่ 2
คือ การอ่านตามการใช้ชีวิตที่เป็น หรือสันดาน โดยไม่ต้องไปดูสไตล์ เช่นอ่านคนจากการสังเกต ด้วยการจัดเหตุการณ์สมมุติ เพราะคนจะเห็นว่าใครเป็นอย่างไรในช่วงที่สบาย และลำบากร่วมกัน ธรรมดาของคนถ้าอยู่ในภาวะปกติจะไม่เห็นถึงพฤติกรรมภายในมากนัก
ในสามก๊กการตั้งคำถามเพื่อลองใจค่อนข้างมีมาก เช่น
เล่าปี่กำลังค้นหาเสนาธิการใหม่ มาเจอตันฮก ซึ่งบอกเล่าปี่ว่า ม้าที่ท่านขี่เป็นม้าอัปมงคล ใครขี่ก็จะเสียชีวิต เล่าปี่เลยบอกว่า คนเราถ้าจะตายอยู่ที่บุญกรรมไม่เกี่ยวกับม้า ตันฮก เลยบอกว่า ถ้างั้นมีวิธีที่จะทำให้ม้าตัวนี้เป็นม้ามงคล โดยการนำม้าตัวนี้ไปให้คนที่ไม่ชอบจะได้ตาย เล่าปี่ก็โกรธและไม่ชอบใจ ซึ่งตันฮก บอกว่าได้ยินชื่อท่านมานานก็สมจริงอย่างที่เขาอ้างว่ามีคุณธรรม นี่คือ การลองใจ
การดูคนสำคัญ เพราะคนบางคนต้องการเงิน แต่บางคนต้องการแค่ความก้าวหน้า แต่ไม่ต้องการเงิน ด้วยคนเราชอบไม่เหมือนกัน ซึ่งคำถามบางคำถาม หรือสถานการณ์บางอย่างสามารถบอกได้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร
การอ่านคนไม่ใช่อ่านเพื่อทำร้ายคน แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อ อย่างน้อยอ่านคนได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว นำไปใช้ในการบริหารคน เพื่อให้เหมาะกับงาน