5 วิธีการเลือกคณะที่ชอบ-สาขาที่ใช่ให้โดนใจวัยเรียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-06-02 15:50:28
ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนระดับมัธยมเข้าสู่ชีวิตมหาลัย ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของน้องๆ ม.ปลายหลายคน เพราะต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินของตัวเองและใช้เวลาตลอด 4 ปีอยู่กับสิ่งที่เลือก แต่สำหรับน้องคนไหนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร คงเป็นเรื่องคิดไม่ตกแน่นอน ทางทีมงาน Life on Campus จึงได้นำเทคนิคและคำแนะนำสำหรับน้อง ม.ปลาย จากคุณ My Name s Play-Pause มาฝากกันเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยนั่นเอง..
1. เช็คเกรดเฉลี่ย..วิชาไหนยอดเยี่ยม!
ก่อนอื่นเลยสิ่งที่ควรทำคือการสังเกตดูเกรดเฉลี่ยที่เราได้ในแต่ละเทอม ว่าตัวเองทำคะแนนวิชาไหนได้ดีที่สุด หรือมีความชอบ-ความสนใจในวิชาอะไรบ้างไล่ดูตั้งแต่วิชา วิทย์ คณิต ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม พละ ศิลปะ คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ หากลองดูเกรดเฉลี่ยแล้วพบว่าอยู่ในระดับกลางๆ เท่ากันหมด หรือไม่มีวิชาไหนได้คะแนนเด่นออกมาที่สุดเลย ให้ลองหยิบเนื้อหาที่เรียนมาแล้วมาพิจารณาดูทีละวิชาว่ามีวิชาไหนที่เรียนแล้วเข้าใจง่ายสุด รู้สึกเรียนแล้วสนุกจนสามารถบอกได้ว่าเนื้อหาวิชานี้คร่าวๆ เป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง
2. ศึกษาข้อมูลสถาบัน คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด
ต่อกันที่การค้นหาข้อมูลแต่ละสถาบัน-มหาวิทยาลัย ว่ามีคณะ สาขา อะไรบ้างที่เปิดสอน เด็กนักเรียนบางคนยังคงไม่รู้ว่าความจริงแล้ว มีคณะและสาขาที่น่าสนใจอีกเยอะมาก ซึ่งไม่ได้มีแค่คณะแพทยศาสตร์ พยาบาล หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีคณะเทคนิคการแพทย์ รัฐศาสตร์ วนศาสตร์ อุตสาหกรรมการเกษตร และอีกมากมาย ซึ่งแต่ละคณะก็แยกย่อยสาขาไปอีกหลายแขนง ดังนั้นสิ่งที่ควรศึกษาคือการหาข้อมูลแต่ละมหาวิทยาลัย คณะ และสาขาที่ต้องเรียนโดยการดูคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดของปีล่าสุดนั้นเอง
ไม่เพียงแต่การดูคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดเท่านั้น การเช็ครายชื่อคณะและสาขาของแต่ละมหาวิทยาลัยก็สำคัญเช่นกัน เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราต้องเรียนเกี่ยวกับอะไร เช่น คณะวิศวะไฟฟ้า แน่นอนมันต้องเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้า หรือคณะสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งต้องเรียนเกี่ยวกะคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศนั้นเอง
สำหรับข้อเสียของการดูคะแนนสูงต่ำ คือจะมีข้อมูลไม่ครบทุกมหาลัย และมีไม่ครบทุกคณะสาขา มีเฉพาะที่เปิดรับ Admission เท่านั้น
3. ใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์!
หากน้องๆ คนไหนได้ชื่อคณะและสาขาที่สนใจแล้ว จึงควรใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำชื่อคณะ-สาขาที่เราสนใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติม หาข้อมูลว่าเรียนอะไร เรียนเกี่ยวกับอะไร มีกี่สาขา ต่างกันมากน้อยเพียงใด และบางครั้งถึงแม้จะเป็นสาขาเดียวกัน แต่เมื่ออยู่คนละสถาบันก็ใช้ชื่อต่างกัน หรือบางสาขาที่มีชื่อคล้ายกันแต่เรียนไม่เหมือนกันก็มี เช่น วิศวะ-คอม, วิทยาศาสตร์-คอม, เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่ง 3 สาขานี้ชื่อคล้ายกันก็จริงแต่เรียนต่างกัน ดังนั้นให้หาข้อมูลว่าต่างกันยังไง ยังไม่ต้องคิดว่าสถาบันไหนดี-ไม่ดี แต่ให้หาว่าสาขาที่เราสนใจมีอะไรบ้าง
สำหรับบางคณะ บางสาขา และบางมหาวิทยาลัยที่รับสอบตรงกับโควตาเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีรายชื่ออยู่ในคะแนน Admission น้องๆ ไม่ต้องวิตกกังวลไปเพราะเราสามารถเสิร์ชหาข้อมูลจากเว็บมหาวิทยาลัยได้โดยตรงเลย ภายในนั้นจะมีกำหนดการรับสมัครและขั้นตอนการรับสมัครต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ให้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะสาขาที่เราอยากเรียน โดยการหาข้อมูลดูว่าคณะและสาขานี้จบออกมาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง หนึ่งสาขาที่จบมาไม่จำเป็นว่าทำงานได้แค่อาชีพเดียว เช่น คนจบวิทย์-คอม ไม่จำเป็นต้องสร้างโปรแกรมอย่างเดียว อาจรับทำเว็บ ทำแอนนิเมชั่น วิเคราะห์ระบบก็เป็นได้
เชื่อเถอะว่าถ้าได้ทำข้อข้างบนข้างต้นไปแล้ว น้องๆ ที่ไม่มีแนวทางจะพอมีความฝันขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ว่าสาขานี้งานแบบนี้น่าสนใจเช่นกัน ส่วนน้องที่มีแนวทางในใจอยู่แล้ว แต่ครอบครัวไม่สนับสนุน ยิ่งต้องทำข้อข้างต้นแบบเข้มข้นเลยล่ะ เพื่อเอาเหตุผลไปอธิบายได้ว่าไม่ใช่อย่างที่คิด เรียนที่นี่มีงานรองรับ ผู้ใหญ่มักจะพูดว่า.. “จบแล้วจะไปทำไรกิน ไม่รุ่งหรอก” นี่แหล่ะคำตอบ ยิ่งถ้าคนมีความฝันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นแรงผลักว่าต้องทำได้แน่ๆ
4. เข้าค่าย-ชมงาน Open House
งาน Open House หรือเรียกว่างานเปิดบ้าน ส่วนมากจะเป็นงานประจำปีของ "คณะ" ในมหาลัยต่างๆ ใช้ชื่องานต่างกันไป จัดแบบเช้า-เย็น อาจมีวันเดียวหรือหลายวัน โดยงานเปิดบ้านจะเปิดให้บุคคลภายนอกทุกคนที่สนใจเข้ามาเดินชมงานแบบฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงนักศึกษาแต่ละสาขาแต่ละชั้นปีจะมีการนำเอาผลงานของตัวเองมาจัดแสดง มีของขาย มีแข่งขันของเด็กเล็กเด็กโตยันนักศึกษา
หากน้องๆ ม.ปลาย หรือพ่อแม่ที่สามารถเสียสละเวลาไปได้ควรลองไปเยี่ยมชมงานเปิดบ้านดู อาจไม่ได้ไปดูแค่ผลงานที่แสดง แต่ไปเพื่อให้รู้ว่าคณะไหนเรียนอะไรบ้าง เป็นโอกาสที่จะได้ไปพูดคุยกับนักศึกษาที่เรียนอยู่จริงๆ ว่าเป็นยังไง บรรยากาศในมหาลัยเป็นยังไง การเดินทางไปกลับสะดวกหรือไม่ ยิ่งเจอระดับอาจารย์ที่คุมผลงานอยู่ให้เข้าไปพูดคุยว่าถ้าเรียนสาขานี้ต้องถนัดอะไร เตรียมตัวยังไง นักศึกษาและอาจารย์ทุกคนยินดีบอกแน่นอน
ในส่วนของการเข้าค่าย โดยปกติจะแยกเป็นแต่ละ “สาขา” จัดขึ้นเพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสว่าเรียนอะไรบ้าง ต้องมีการกรอกใบสมัคร รับเข้าค่ายอย่างจำนวนจำกัด ใน 1 ค่าย อาจรับแค่ 50 คน หรือ 100 คน เช่นค่ายคบเด็กสร้างบ้านของสถาปัตย์ ค่ายทันตฯ ค่าย CS-Camp ฯลฯ บางค่ายอาจฟรี บางค่ายต้องจ่ายเงินเพื่อไปเป็นทุนในการจัดงาน งานค่ายแบบนี้มักจัดหลายวันและเป็นแบบค้างคืนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งภายในค่ายหลักๆ จะให้น้องๆ ได้เข้ามาเรียนรู้เนื้อหาที่เรียนจริงๆ แบบฉบับย่อ ไม่ใช่แค่ดูผลงานคนอื่นเหมือน Open House แต่ในค่ายจะได้ลงมือทำจริงๆ
ตัวอย่างเช่น ค่ายทันตแพทย์ จะมีโอกาสได้ลองทำฟันปลอม ได้มีโอกาสไปดูตอนนักศึกษากำลังทำฟันให้คนไข้จริงๆ ได้เห็นเคสการป่วยของจริง หรือค่ายวิทย์-คอม น้องๆ ได้มีโอกาสเขียนโปรแกรมจริงๆ หรือค่ายของสถาปัตย์จะได้ทำโมเดลแบบง่ายๆ สำหรับสิ่งที่ได้รับจากค่ายพวกนี้คือ “เพื่อนใหม่” พร้อมรุ่นพี่ที่แนะนำได้อย่างดี ใครมีโอกาสได้เข้าค่ายแบบนี้ถือว่าเป็นกำไร เพราะเป็นการทดลองเรียน แถมถ้ามีโอกาสสอบสัมภาษณ์เข้าสาขานี้ สามารถบอกได้ด้วยว่าเราตั้งใจอยากเข้าจริงๆ เรารู้ว่าเรียนอะไรบ้าง เพราะเราได้เข้าค่ายที่สาขานี้จัดมาแล้ว เรียกว่ามีโอกาสเรียนที่นี่ไปเกินครึ่งตัว
5. ปรึกษารุ่นพี่-ถามครูแนะแนว!
เชื่อว่าทุกโรงเรียนต้องมีครูฝ่ายแนะแนว มีห้องแนะแนวการศึกษากันอยู่แล้ว ดังนั้นน้องๆ จึงควรเข้าไปบ่อยๆ เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจัดให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็น Open Houses กิจกรรมเข้าค่าย โควตา งานสัมมนา งานประกวดแข่งขัน และอื่นๆ มักจะมีจดหมายหรือโปสเตอร์แจ้งไว้กับทางโรงเรียนเสมอ อีกอย่างที่แนะนำคือการคุยกับรุ่นพี่ที่ยังเรียนอยู่ในสาขานั้นๆ แนะนำว่าหารุ่นพี่ชั้นปี 3 ขึ้นไปจะดีมาก เพราะผ่านการเรียนมาเยอะกว่าเด็กปี 1-2 จะแนะนำได้ดีกว่า และรุ่นพี่ที่จบไปแล้วจะอธิบายได้ละเอียดยิบว่าระยะทางกว่าจะสำเร็จนั้นเจออะไรบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก ..
- http://www.camphub.in.th/
- เจ้าของกระทู้พันทิพ My Name s Play-Pause