เทคนิคเตรียมอ่านตามวัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-28 16:13:50
การเรียน การสอนที่ได้ผลดีจะต้องสอนให้ทุกคนรักการอ่าน รักการค้นคว้า รักการใฝ่หาความจริงที่เป็นวิชาการที่เชื่อถือได้ มิใช่เพียงคำบอกเล่าเท่านั้น
ทักษะของผู้ใหญ่ในวัยทำงานจะสามารถปฏิบัติดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลที่ดีเยี่ยมจะต้องมีทักษะในการอ่าน การค้นคว้า การเลือกหาหนังสือหรือแหล่งความรู้ที่เหมาะสม รู้จักเลือกและรู้จักเชื่อในวิชาการที่มีหลักฐานและเชื่อถือได้อย่างแท้จริงคนเราจะทำทั้งหมดนี้ได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีการเรียน การรู้ ฝึกฝนทักษะการอ่านที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริงมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก และปฏิบัติต่อเนื่องมาตามวัยอย่างถูกต้องและเหมาะสม นำทักษะและเทคนิคการอ่าน การค้นคว้า หลักการเชื่อถือนำมาปฏิบัติได้อย่างมีผลลัพธ์ที่ดียิ่ง สามารถแข่งขันได้ในสังคมในระดับแนวหน้า
จากข่าวสารกรมสุขภาพจิต ฉบับที่ 249 ได้ให้ความรู้ "เทคนิคเตรียมอ่าน...ตามวัย" ไว้อย่างง่าย ๆ ซึ่งก็จะนำมาถึงวิธีการเลี้ยงดูทารกขึ้นมาถึงวัยเด็กที่จะส่งต่อให้ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนทุกระดับ และพ่อแม่ผู้ปกครองยังจะสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ลูกได้อย่างดีเป็นระยะ ๆ ในช่วงของการเติบโตในชีวิต
วัยทารก
การพูดคุยสนทนาเป็นประจำจะสอนให้ลูกเริ่มรับรู้ความแตกต่างของหน่วยเสียงที่มีอยู่ในภาษา คุ้นเคยกับภาษา แยกแยะความแตกต่างของเสียง การโอบกอดลูก ให้ลูกนั่งตัก เล่านิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นสัมผัสของความรักและเรียนรู้อย่างเป็นสุข
วัยเตาะแตะ
เล่านิทานที่มีคำคล้องจองเล่นคำ พ่อแม่อุ้มลูกนั่งตัก อ่านหนังสือให้เขาฟังโดยใช้มือชี้ไล่ไปตามตัวหนังสือ ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเสียงที่เขาได้ยินมาจากตัวหนังสือที่เขาได้เห็น เมื่อได้ยิน ได้เห็นบ่อย ๆ เขาก็จะจำได้และสามารถไล่มือไปตามตัวอักษรตามเสียงที่ได้ยิน แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม เด็กจะให้ความสนใจเสียงที่เด็กไม่สามารถพูดได้ เด็กจะชี้และพยายามออกเสียงตามตัวอักษร เมื่อเด็กอ่านหนังสือ
วัยก่อนเรียน
เด็กวัยนี้จะชอบฟังเพลง พ่อแม่ควรหาเพลงที่มีคำคล้องจองหรือร้องเพลงที่มีการสัมผัสของคำ สอนการท่องคำกลอนพร้อมจังหวะ เริ่มสอนให้รู้จักชื่อของตน เพื่อให้คุ้นเคยเกิดการจดจำตัวอักษร การเล่นทายคำจะช่วยในการจดจำคำ
วัยอนุบาล
เมื่อถึงวัยที่เด็กรู้จักตัวหนังสือ ตัวอักษร เขาก็จะจดจำตัวอักษรจากเรื่องที่อ่านได้ง่ายขึ้น เด็กจะดูหนังสือเรื่องที่ชอบ พูดข้อความในหนังสือด้วยภาษาของตน ทำท่าทางเหมือนอ่านหนังสือ
แนวทางการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัยสำหรับคุณครู
ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ได้แก่ การจัดมุมหนังสือให้มีแสงสว่างที่พอเหมาะในการอ่าน จัดชั้นวางหนังสือให้เป็นระเบียบ และเด็กสามารถหยิบหนังสือได้
2. สำรวจความต้องการอ่านของเด็ก เพื่อจัดหนังสือให้ตรงตามความต้องการและเหมาะสมกับวัยของเด็ก
3. จัดป้ายนิทรรศการหมุนเวียนเปลี่ยนให้บ่อย ๆ เพื่อเป็นแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เด็กสนใจอยากอ่าน
4. จัดการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กอยากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การสอนแบบโครงการ
5. กระตุ้นและสร้างความสนใจให้อยากรู้เรื่องราวในหนังสือด้วยการจัดนิทรรศการ แนะนำหนังสือใหม่ เล่าเรื่องประกอบอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน สนับสนุนให้เด็กได้เล่าเรื่องที่อ่านให้เพื่อน ๆ ฟัง หรือให้เด็กยืมหนังสือไปอ่านร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน
6. คุณครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่าน โดยอ่านหนังสือให้เด็กเห็นและพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเรื่องราวของหนังสืออยู่เสมอ ทำให้เด็กเพลิดเพลินกับการอ่านโดยไม่บังคับ ให้กำลังใจ และยกย่องชมเชย เมื่อเด็กแสดงความสนใจในการอ่าน
7. ให้หนังสือเป็นรางวัลในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อเด็กทำความดี ตอบคำถามถูกต้อง หรือเมื่ออ่านหนังสือได้จำนวนมาก
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ลูกได้อย่างไร
1. อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง แนะนำให้ลูกรู้จักหนังสือนิทานที่นำมาเล่า พร้อมที่จะตอบคำถามของลูกที่สนใจภาพและเนื้อหาในหนังสือ
2. เล่นกับหนังสือ เช่น ออกแบบเป็นการ์ตูนลูกสุนัขเคลื่อนที่ไปยังหน้าถัดไป ให้ลูกสุนัขถามแม่สุนัขว่าบ้านของลูกสุนัขอยู่ไหน เด็กจะรู้สึกสนุกสนานที่ได้เล่นจับตัวการ์ตูน ให้เคลื่อนไป และเกิดความสนใจตัวหนังสือมากขึ้น
3. พาลูกไปเลือกซื้อหนังสือที่เขาสนใจ
4. ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เช่น จัดชมรมนักอ่าน จัดห้องสมุดโรงเรียน เป็นวิทยากรอ่านหนังสือให้เด็กนักเรียนฟังตามคำเชิญของครู
5. พาลูกดูภาพยนตร์ ละครเวที หรือการแสดงต่าง ๆ ที่ได้เนื้อหามาจากหนังสือ เช่น การแสดงละครเรื่องแก้วหน้าม้า หลังดูการแสดงแล้วควรนำหนังสือประกอบภาพมาอ่านให้เด็กฟังทวนซ้ำ จะสร้างความประทับใจให้เด็ก
6. ชวนลูกทำอาหารในวันหยุดโดยเลือกอาหารจากหนังสือหรือตำราอาหาร เด็กจะเห็นประโยชน์จากการอ่านหนังสือ
7. ให้เด็กรู้จักการค้นหาคำตอบจากหนังสือสารานุกรมสำหรับเด็ก
8. ชักชวนให้เด็กอ่านหนังสือทุกวัน ควรเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่เหมาะสมตามวัย หนังสือที่มีภาพประกอบมีสีสันสวยงาม มีเนื้อหาง่าย ๆ ภาษาไพเราะ
9. ให้หนังสือเป็นของขวัญสำหรับลูกในวันสำคัญ ๆ เช่น วันเกิดของลูก วันปีใหม่ วันขึ้นชั้นเรียนใหม่ เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ข้อมูลจากหนังสือการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านการอ่านในเด็กปฐม วัย (Pre-reading skills) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)