www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ประวัติส่วนตัว : เขียนอย่างไรให้ได้ทุน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-20 15:14:51



สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจอยากจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ไปแบบเรียนฟรี หรือสอบชิงทุนของประเทศต่างๆ ก็ดี แม้ปัจจัยหลักในการตัดสินใจรับเข้าศึกษาต่อจะเป็นเรื่องของผลการเรียน และคะแนนสอบมาตรฐานของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้ยึดเอาเกณฑ์เหล่านี้เป็นตัวตัดสินหลักในเรื่องความเหมาะสมของผู้สมัครเรียนแต่อย่างไร การรู้จักตัวตนของผู้สมัครแต่ละคนถือเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการจะต้องเอามาเป็นเหตุผลในการคัดเลือก ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็ได้ถูกบรรจุไว้ใน “Curriculum vitae (CV)” หรือ “Resume” นั่นเอง แต่จะเขียนอย่างไรให้ชนะใจกรรมการ Life on campus มีเคล็ดลับดีๆ ในการเขียนประวัติส่วนตัวมาแนะนำ


รู้จัก CV และ Resume

ทั้ง “CV” และ “Resume” เป็นเหมือน ใบประวัติส่วนตัว ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตหรือประวัติส่วนตัวโดยสังเขปของเรา ที่ต้องยื่นให้กับคณะกรรมการ เป็นสิ่งที่จะบอกถึงกิจกรรม ความสามารถ ความสำเร็จต่างๆ ที่เรามี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัววัดว่าเราจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่นั่นเอง หากมองเพียงผิวเผินทั้ง “CV” และ “Resume” มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันตรงรายละเอียดของข้อมูล การเขียน CV นั้นจะต้องมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการศึกษา และการทำงานของตัวเรา อาจหมายรวมถึงงานเขียน งานวิจัย งานจิตอาสา กิจกรรม เกียรติคุณหรือรางวัลต่างๆ (ถ้ามี)


ดังนั้น CV จึงมีความยาวมากกว่า Resume อยู่สักหน่อย ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ A4 และไม่ควรเกินกว่า 3 หน้า Resume ก็เป็นเหมือนการเอา CV มาย่อส่วน เขียนออกมาแล้วจึงมีความยาวประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ มาถึงตรงนี้ คงจะทราบกันแล้วว่าการเขียนประวัติส่วนตัวในการสมัครเรียนต่อหรือขอทุนจากต่างประเทศนั้น เราควรใช้การเขียนแบบ CV เพราะจะได้ใส่ความโดดเด่นของเราเข้าไปในเนื้อหาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณารูปแบบการเขียนตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้เป็นสำคัญ อาจมีการเพิ่มในส่วนของการเขียนเรียงความ เป้าหมายในอนาคต ตามหัวข้อที่แต่ละสถาบันกำหนดไว้


การเขียน CV ที่ดี

- สิ่งแรกที่ต้องจำให้ขึ้นใจนั่นก็คือ “ทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง” จึงมีการนำเสนอที่แตกต่างกัน ดังนั้น อย่าลอก หรือ Copy ตามตัวอย่าง หรือวิธีเขียนแบบคนอื่น เราควรสร้างสรรค์ CV ในแบบที่เป็นของเราเอง บอกความสามารถ และความเป็นตัวเราให้มากที่สุดจะดีกว่า

- CV ที่ดีควรมีความชัดเจน กระชับได้ใจความ อย่าใส่เรื่องของตัวเองมากเกินไป และต้องตรวจสอบแบบอักษร การสะกดคำ หรือแกรมมาร์ให้ถูกต้อง เพื่อแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ต้องตรวจสอบให้เรียบร้อย

- CV ที่เราเขียนจะต้องตอบโจทย์ของคณะกรรมการได้ ข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมา

- การเขียน CV ควรแยกหัวข้อให้ชัดเจน จัดเรียงลำดับให้อ่านง่าย โดยเรียงลำดับความสำคัญของเนื้อหา จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานหรือฝึกงาน ความรู้ทางภาษา ความสามารถพิเศษหรือกิจกรรมอื่นๆ


สิ่งที่ต้องมีใน CV

1. ข้อมูลส่วนตัว (Personal information) : ประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ สัญชาติ วันเดือนปีเกิด และวิธีติดต่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และอีเมล (แนะนำว่าให้ใช้อีเมล์ที่เป็นชื่อและนามสกุลของตัวเองดีกว่า เพราะดูเป็นทางการและทางเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะได้จัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น)

2. ประวัติการศึกษา (Education) : ให้บอกสาขาที่เรียน ชื่อสถาบัน ปีการศึกษาที่เข้าและจบ โดยเรียงจากระดับสูงสุด (มหาวิทยาลัย) ไปจนถึงโรงเรียนมัธยม แนะนำสถาบันที่เราเคยเรียน หลักสูตร ระยะเวลา และผลการเรียนของเรา โดยระบุวุฒิการศึกษาว่าเป็นประกาศนียบัตร, วุฒิบัตร, หรือปริญญาตรี เป็นต้น

3. ประสบการณ์ทำงาน (Work experience) : แนะนำว่าเราเคยทำงานอะไรมาบ้าง มีตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่เราดูแลระหว่างทำงาน เคยทำงานพิเศษ ฝึกงาน หรือทำงานตอนไป Work&Travel ขณะกำลังศึกษาอยู่ก็สามารถใส่ข้อมูลได้เลย โดยเรียงลำดับจากงานล่าสุดเป็นต้นไป

4. ประสบการณ์การทำวิจัย (Research experience) : เราเคยทำวิจัยเรื่องไหนบ้างและได้ผลลัพธ์อะไร ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้จะจำเป็นเมื่อเราสนใจจะสมัครทุน

5. กิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activities) : แนะนำว่าเราทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชมรม หรือการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ

6. รางวัล (Awards) : เคยประกวดหรือแข่งขันแล้วได้รางวัล ใบประกาศนียบัตรจากหลักสูตร และกิจกรรมต่างๆ ใส่ตรงส่วนนี้ได้เลย โดยเรียงจากเหตุการณ์ล่าสุด

7. ทักษะ (Skills) : โดยทั่วไปจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และภาษาต่างประเทศ ลองนึกดูว่าเรามีความสามารถด้านไหนบ้าง ในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมัครมาก ยกเว้นทุนหรือมหาวิทยาลัยต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะ หรือเคยทำงานวิจัยในห้องแลป เป็นต้น

8. งานอดิเรกและสิ่งที่สนใจ (Hobbies & Interests) : กิจกรรมที่ชอบทำ ความถนัด หรือความสามารถพิเศษ (ส่วนนี้ไม่ต้องยาวมาก)

9. จดหมายรับรอง (References) : ส่วนใหญ่คนที่จะเขียนจดหมายรับรองให้เราได้มักจะเป็นอาจารย์ เจ้านาย หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ต้องไม่ใช่ญาติ หรือเพื่อนสนิท และที่เรียกว่าบุคคลอ้างอิง อีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลที่จะสามารถ ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของเราได้ และควรอ้างมา 2-3 ท่าน พร้อมทั้งที่อยู่ที่จะติดต่อได้ และอาชีพของเขาเหล่านั้น