แนะแนว ตอน : แผนการ อ่านอีกกี่ที ก็มีอยู่ในหัว (ตอนจบ)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-01-05 12:16:21
ตอนที่แล้วครูป๊อปพาน้อง ๆ ไปเตรียมจัดบรรยากาศของการอ่าน ใครจำไม่ได้ไม่เป็นไรครับ ทางลัดอยู่ตรงนี้ www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/guidance/19791 ส่วนภาคจบนี้เราจะเริ่มลงมืออ่านกันแล้วนะ สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ ปกติการอ่านทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้อ่านเพื่อสอบ เราก็ไม่สามารถจำมันได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะสมองมนุษย์มิได้ถูกสร้างขึ้นมาให้จดจำตัวอักษร เอ๊ะ ยังไง!?!
ขยายความอย่างนี้ครับ เมื่อเราอ่านหนังสือ สายตาเรามักจ้องเฉพาะคำศัพท์ที่รู้จักหรือรู้เรื่องอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ ว่ามีอยู่ในหัวแล้ว ในขณะที่ถ้าเราไปเจอคำหลายคำที่ไม่มีในหัวมาก่อน เราก็จะไม่สามารถดึงคำเหล่านั้นขึ้นมาได้ แล้วก็จะสะกดจิตตัวเองว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะหนังสือทุกเล่มในโลกสร้างขึ้นมาให้เราอ่าน มิได้สร้างขึ้นมาให้เราจำ “ทั้งหมด” ขนาดคนเขียนยังจำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับคนอ่าน ดังนั้นจึงขอให้เลิกคิดสิ่งต่อไปนี้ระหว่างทางของการอ่าน “อ่านไปก็จำไม่ได้” “อ่านไม่รู้เรื่องเลย” สัจธรรมของความจำก็คือความจำเป็นเรื่องของอดีต จึงอย่าพยายามคาดคั้นความจำในปัจจุบันขณะของการอ่าน และเราไม่มีทางจำได้ทั้งหมด เราจะจำได้แค่บางส่วนเท่านั้น เพียงแต่เราต้องเก็บ “บางส่วน” ที่สำคัญสุด ๆ เข้าสมอง
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่ครูป๊อปใช้ทุกครั้งเมื่ออ่านหนังสือสอบ
อ่านเป็นบท ๆ และทุกครั้งที่อ่านให้เตรียมกระดาษน่ารัก ๆ สำหรับตัวเอง พร้อมปากกาสีที่ทำให้เรารู้สึกอยากเขียน แล้วถอดชื่อบทพร้อมหัวข้อทั้งหมดร่างลงไปในกระดาษก่อน หนึ่งหัวข้อต่อหนึ่งสี นี่คือสิ่งที่ต้องจำให้ได้ก่อน
อย่าตกหลุมหรือจมอยู่ในมหาสมุทรข้อมูล ทุกครั้งที่อ่านให้เหวี่ยงแหกวาดสายตาไปหาคำศัพท์และประเด็น เมื่อได้ปลาห(คำศัพท์หรือประเด็น) แล้วก็จดใส่กระดาษ แยกเป็นคำศัพท์และประเด็นที่รู้อยู่แล้ว และที่ยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ แต่อย่าขนมาเยอะเพราะจำไม่ได้แน่ๆ แต่บางคนก็ขออุ่นใจขนปลามาไว้ก่อน แล้วค่อยคัดออกทีหลัง ที่สำคัญอย่าปล่อยผ่านและอย่าเพียงแค่มาร์คเอาไว้ในหนังสือ เพราะส่วนใหญ่เราไม่ค่อยอยากกลับไปหาหนังสือเล่มนั้นอีกถ้าไม่จำเป็น
เลิกใช้ปากกาไฮไลท์ระบายหรือขีดเส้นใต้ เพราะทุกครั้งที่ขีดเราจะไม่จดจำอะไรทั้งสิ้น ให้เปลี่ยนเป็นใช้ปากกาสีและเขียนศัพท์และประเด็นที่ผูกโยงเข้ากับหัวข้อตามสีในกระดาษแค่นี้พอแล้ว
เราจะมาจำจริงๆ หลังจากที่จดใส่กระดาษเบา ๆ ของเราแล้วเท่านั้น หากยังจำไม่ได้อีกก็จดออกมาให้เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ จนเหลือแค่สิ่งที่จำไม่ได้ซักที เคสนี้ก็เอาไว้ไปท่องหน้าห้องสอบครับ
ถ้าทำตามที่ครูป๊อปบอกได้ทั้งสองตอน ความง่วงระหว่างอ่านหนังสือจะลดลง เพราะความง่วงไม่ได้เกิดเพราะอยากนอน แต่เกิดเพราะความไม่อยาก ความเบื่อหน่าย เข็ดขยาด และอยากหนี ระบบทำงานอัตโนมัติของใจก็คือการปิดรับเมื่อเจอหนังสือหนึ่งเล่ม เมื่อเรารู้เคล็ดลับเช่นนี้ “อ่านอีกกี่ที ก็มีอยู่ในหัว” แล้วครัชชชช
ติดตามชมรายการสอนศาสตร์ www.trueplookpanya.com/sonsart