10 คำถามที่ควรถามตัวเองก่อนตัดสินใจเรียนต่อเมืองนอก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-12-09 12:18:49
ไปเรียนต่อเมืองนอกดีไหม? เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ หากเลือกเรียนต่อคุณจะต้องจากครอบครัวและเพื่อนๆ ไปแสนไกล เพื่อไปเริ่มต้นใช้ชีวิตในดินแดนใหม่ที่ยากจะคาดเดาว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ต้องเตรียมตัวและปรับตัวกันยกใหญ่เลยทีเดียว เพื่อให้คุณพร้อมและมั่นใจยิ่งขึ้น เราจึงขอแนะนำให้ตรวจสอบตัวเองด้วยคำถาม 10 ข้อต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจ
ก่อนตัดสินใจเรียนต่อลองเช็คตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า คุณต้องการที่จะได้รับใบปริญญาในสาขาวิชานั้นจริงๆ ไหม ถ้าไปเรียนต่อเพราะรู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่ เบื่อชีวิตเดิมๆ หรืออยากเปิดโลกทัศน์ แค่ลองไปเที่ยวระยะเวลาสั้นๆ น่าจะเหมาะกว่า ไม่งั้นการเรียนต่ออาจกลายเป็นเรื่องผูกมัดในชีวิตไปซะงั้น
สำหรับบางคนที่ทำงานประจำและเตรียมตัวเรียนต่อไปด้วย คงต้องทำใจไว้เลยว่าจะต้องเหนื่อยและเครียดหนักเป็นสองเท่าแน่นอน ถ้าอยากให้การเตรียมตัวราบรื่นมากขึ้น คงต้องลองชั่งใจดูว่า ถ้าลาออกจากงานเพื่อมาเตรียมตัวเรียนต่อจะเป็นไปได้ไหม
การเลือกสาขาวิชานั้นควรคิดล่วงหน้าไปก่อนเลยว่า เมื่อเรียนจบแล้วคิดจะประกอบอาชีพอะไร ถ้าต้องการเปลี่ยนสายงาน การเรียนต่อสาขาวิชาใหม่ไปเลยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ หรือถ้ายังคิดจะทำงานในสายเดิม และอยากได้ความรู้ลงลึกมากขึ้น ก็ควรเรียนสาขาวิชาที่ต่อยอดจากความรู้พื้นฐานใกล้เคียงของเดิม หรือเรียนสาขาวิชาที่สนับสนุนสาขาวิชาเดิมที่เคยเรียนมา
เมื่อมีประเทศเป้าหมายที่จะไปเรียนต่อแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคำนวณค่าใช้จ่ายออกมาอย่างละเอียดว่า ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ค่ารถ ค่าอาหาร ฯลฯ) ตลอดจนจบการศึกษาจะมีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ และเราจะรวบรวมเงินได้จากแหล่งใดบ้าง
มหาวิทยาลัยในต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเปิดรับนักศึกษา 2 ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ และ ฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะเริ่มเปิดรับใบสมัครทางออนไลน์ ประมาณ 4-5 เดือนก่อนเปิดเทอม โดยมากนักเรียนไทยจะไปเรียนต่อประมาณเดือนกันยายน แต่ก็ต้องเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เพื่อเตรียมความพร้อม จัดหาที่พัก และบางคนอาจต้องเรียนคอร์สภาษาหรือคอร์สปรับพื้นฐานเพิ่มเติมก่อน
ถ้าไปเรียนต่อหลักสูตรนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก มหาวิทยาลัยมักต้องการให้ผู้สมัครยื่นคะแนนสอบภาษาอังกฤษประกอบการพิจารณาด้วย โดยผลคะแนนที่นิยมใช้กันแพร่หลายก็ได้แก่ TOEFL และ IELTS หรือบางคอร์สอาจต้องยื่นคะแนนอื่นๆ เช่น GRE หรือ GMAT ประกอบด้วย อย่าลืมทำการบ้านล่วงหน้าว่ามหาวิทยาลัยที่สมัครต้องการคะแนนอะไรบ้าง จะได้เตรียมตัวสอบไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบางกรณีอาจต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อคะแนนที่ดีขึ้น
ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น อเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ จะมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่มีผลการเรียนดี หรือ กิจกรรมโดดเด่นด้วย หากได้รับทุนก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว ดังนั้น จึงควรศึกษารายละเอียดหรือสอบถามทางมหาวิทยาลัยเอาไว้ล่วงหน้า เพราะหากต้องการขอทุน มักจะต้องยื่นเอกสารหรือเขียนเรียงความเพิ่มเติมเพื่อการขอทุนโดยเฉพาะ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งจัดสรรหอพักไว้ให้นักศึกษาต่างชาติในปีแรกของการศึกษา แต่อาจจะต้องมีการจองหรือชำระเงินล่วงหน้า หรือถ้าอยากเช่าห้องพักข้างนอก เพื่อให้ผู้ปกครองและเพื่อนๆ ที่จะมาเยี่ยมสามารถพักด้วยได้อย่างสะดวกสบาย ก็ลองหาข้อมูลและเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ แหล่งดู
หากไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากครอบครัวมากนัก การทำงานพิเศษก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ดีว่า วีซ่านักเรียนนอกแต่ละประเทศทำงาน PART-TIME ได้กี่ชั่วโมงบ้าง และไม่ควรทำงานเยอะเกินไปหรือละเมิดกฎโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากตัวเองจะเสี่ยงแล้ว ก็ยังอาจส่งผลเสียต่อรุ่นน้องนักเรียนไทยที่จะมาเรียนต่อในรุ่นหลังๆ ด้วย
การไปอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน คุณจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ มากมาย และยังต้องรับผิดชอบตัวเองในทุกๆ ด้านอีกด้วย ฉะนั้นถ้ายังขาดทักษะอะไรที่จำเป็น ก่อนถึงวันเดินทางก็ควรฝึกฝน หาข้อมูล และเตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้า เช่น ฝึกทำอาหาร หรือ ดาวน์โหลดแอพแผนที่ของเมืองนั้นๆ ที่สำคัญคือคุณไม่ควรพลาด ‘การปฐมนิเทศ’ นักศึกษาใหม่นะ เพราะในวันนั้นมหาวิทยาลัยมักแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายต่อการใช้ชีวิตนักเรียนนอก
เกี่ยวกับผู้เขียน
SUTASINEE LERTWATCHA
ที่มาของบทความ www.hotcourses.in.th/
ภาพประกอบจาก https://flic.kr/p/9TVYrD