10 คาถา ฝ่าวิกฤต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-11-17 12:38:08
1. เมื่อรู้สึกว่า กำลังจะสติแตก
ให้บอกตัวเองว่า "ทุกปัญหามีทางออก แค่ยังหาไม่เจอ"
(ยามภาวะวิกฤติ การสูญเสียความมั่งคงทางกายและใจ เพราะการรู้สึกถูกคุกคามอย่างกระทันหัน ทำให้ตั้งสติได้ยาก สติไม่มี ปัญญาไม่เกิด จึงมองไม่เห็นทางออกของปัญหา)
วิธีคือ ถ้ารู้ว่าเรากำลังจะเจอปัญหา ให้ใช้เวลากับการเตรียมตัวและหาข้อมูล
ถ้ากำลังเผชิญกับปัญหา หายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย แล้วเตือนตัวเอง เพื่อตั้งสติ
2. เมื่อรู้สึกว่า ในหัวเต็มไปด้วยความคิด
ให้บอกตัวเองว่า "อย่าคิดเองเออเอง"
(ความเครียดทำให้เราฟังกันน้อยลง คิดเอาเองมากขึ้น)
วิธีคือ เดินออกไปพูดคุยกับคนใกล้ๆ คุณบ้าง รับฟังความทุกข์ของเขาแทนการหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง )
3. เมื่อรู้สึกว่า ยิ่งพูดยิ่งกังวล
ให้บอกตัวเองว่า "จงเปลี่ยนคำพูด เป็นการกระทำ
วิธีคือ มองหาโอกาสในการช่วยเหลือคนอื่น เข้าร่วมกิจกรรม เพราะการเอาใจใส่คนอื่นมากขึ้นจะให้ความทุกข์ของเราลดลง
4. เมื่อรู้สึกว่า เราช่างโชคร้าย
ให้บอกตัวเองว่า "ดูดีๆ โชคดีก็มีอยู่"
(เวลาจิตตกเรามักมองทุกอย่างในแง่ลบ และคิดว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำเกินความเป็นจริง)
วิธีคือ มองหาสิ่งดี ๆ ที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวที่สุด เช่น เสียทรัพย์แต่โชคดีปลอดภัย , โชคดีที่เราไม่ป่วย, ถึงป่วยก็โชคดีที่เราไม่ตาย, โชคดีที่ยังได้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
5. เมื่อรู้สึกว่า โกรธ
ให้บอกตัวเองว่า "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า"
(ในภาวะวิกฤต ทุกคนย่อมมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดโดยธรรมชาติ เกิดความกล้าในการพูด คิด หรือลงมือทำตามความต้องการของตนเอง จนอาจเกิดเป็นความขัดแย้งกับคนอื่นได้ง่าย)
วิธีคือ ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่ทับถม ออกไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้ออกแรง จำไว้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรในเวลาโกรธ สุดท้ายมันจะกลายเป็นการทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง
6. เมื่อรู้สึกว่า ท้อแท้
ให้บอกตัวเองว่า "เดี๋ยวมันก็ผ่านไป"
(ความท้อแท้เกิดขึ้นเมื่อเรามองไม่เห็นทางออกของปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้จุดหมาย นี่คือสัญญาณของการขาดกำลังใจ)
วิธีคือ เร่งสร้างกำลังใจโดย คิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคงเช่น ความรักของคนในครอบครัว ศรัทธาที่เคยยึดมั้น เป้าหมายชีวิตที่มี
7. เมื่อรู้สึกว่า เหนื่อยล้า
ให้บอกตัวเองว่า "เหนื่อยนัก ก็พักบ้าง"
(เมื่อเราเจอวิกฤตไปสักระยะ สิ่งที่ต้องทำ เรื่องที่ต้องคิด ภาพที่ต้องเห็น เสียงที่ต้องได้ยิน อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยกาย เหนื่อยใจซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน)
วิธีคือ สร้างความสงบ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายจากภายใน โดยให้รู้สึกตัวไปกับลมหายใจเข้าออกช้า ๆ อย่างผ่อนคลาย
8. เมื่อรู้สึกว่า ได้เวลานอน
ให้บอกตัวเองว่า "การนอนคือสิ่งสำคัญ"
วิธีคือ เข้านอนซะ ถึงแม้ว่าจะนอนไม่หลับก็ให้นอนแผ่ในท่าที่สบาย แล้วก็หลับตา จิตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย หรือรู้สึกตัวอยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ จะหลับหรือไม่ก็ช่างมัน
9. เมื่อรู้สึกว่า ไม่มีอะไรทำ
ให้บอกตัวเองว่า "บริหารร่างกายเข้าไว้ ให้ร่างกายแข็งแรง"
(เมื่อพ้นช่วงชุลมุน ขนข้าวของอพยพกันแล้ว การอยู่ในบ้านที่ถูกตัดขาดหรือศูนย์อพยพ อาจทำให้กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราหายไป)
วิธีคือ กายบริหารง่าย ๆ ตามสถานที่และเวลาที่เหมาะสม ประมาณ 30 นาที เพราะการไหลเวียนเลือดที่ดีจะทำให้สมองมีพลังและดีต่อการคิดตัดสินใจ
10. เมื่อรู้สึกว่า มีอะไรต้องทำมากมาย
ให้บอกตัวเองว่า "เราทำทุกอย่างไม่ได้ แต่เลือกทำสิ่งที่สำคัญได้"
(การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องคิด ต้องทำมากมาย)
วิธีคือ เอากระดาษกับปากกามาจด แยกระหว่าง สิ่งสำคัญที่รีบด่วน กับสิ่งสำคัญไม่รีบด่วน แล้วค่อยๆ ลงมือทำ
ผู้แต่ง: พ.ญ. พิยะดา หาชัยภูมิ ดัดแปลงจากเอกสารกรมสุขภาพจิต โดย นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล - dmhstaff@dmh.go.th - 7/11/2011