กินข้าวร่วมกัน สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้ด้วย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-08-19 10:35:14
ในอดีตการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวขยายด้วยแล้ว มื้ออาหารแต่ละมื้อจะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะมีการเตรียมการกันล่วงหน้า แม้จะเป็นครอบครัวเดี่ยวแต่ก็จะใส่ใจในเรื่องอาหารการกินในแต่ละมื้ออย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีเด็ก จะมีการดูแลและเตรียมการเป็นพิเศษ
ช่างแตกต่างจากยุคสมัยนี้ ที่เรื่องมื้ออาหารในแต่ละวันของผู้คนส่วนใหญ่จะฝากท้องไว้นอกบ้าน ฝากไว้กับแม่ค้า หรืออาหารสำเร็จรูป ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องของเวลา ที่ทำให้ผู้คนมักต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับมื้ออาหารเหมือนอย่างในอดีต
ดิฉันเติบโตมาทั้งในครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว เรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากในทุกมื้อแต่ละวัน โดยเฉพาะแม่จะเป็นคนทำอาหารเอง และชีวิตในแต่ละวัน แม่ก็จะวุ่นวายแต่กับเรื่องมื้ออาหาร เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และเน้นกินอาหารที่บ้านเป็นหลัก แม้ตัวเองจะไม่ใช่คนทำอาหาร แต่ก็เติบโตมากับอาหารของแม่ และเป็นคนให้ความสำคัญกับมื้ออาหารมาก
โชคดีที่คุณแม่เป็นคนมีฝีมือทางด้านอาหารและชื่นชอบในการทำอาหาร โดยเฉพาะการทำอาหารให้คนที่ท่านรัก จะมีรายละเอียดเยอะมาก ลูกคนไหนกินเผ็ดไม่กินเผ็ด ท่านรู้หมด ลูกคนไหนใครชอบกินอะไรก็รู้หมด ทำให้ลูกทุกคนชื่นชอบฝีมืออาหารของแม่จนกระทั่งโต แม้จะต่างแยกเรือนกันไปหมดแล้ว ก็ต้องกลับมากินอาหารฝีมือแม่อยู่บ่อยๆ
ฉบับนี้พูดถึงความสำคัญของมื้ออาหารไม่ได้เน้นเรื่องเมนูหรือเคล็ดลับการทำอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกหรอกนะคะ แต่ต้องการเน้นย้ำถึงเรื่องการรับประทานอาหารร่วมกันในแต่ละมื้อแต่ละวัน มันให้อะไรมากกว่าความอิ่มอร่อย แต่มันสามารถบ่งบอกพฤติกรรม และสามารถฝึกทักษะชีวิตให้กับลูกได้มากมายจากมื้ออาหาร
แล้วก็อยากชวนพ่อแม่ที่มีลูกในยุคสมัยนี้ได้ย้อนวัยไปนึกถึงมื้ออาหารในอดีตว่ามีความสำคัญ และส่งต่อทักษะชีวิตอะไรให้กับเราบ้าง และวันนี้เมื่อเราเป็นพ่อแม่ เราได้ส่งต่อทักษะชีวิตที่ดีบนโต๊ะอาหารต่อให้ลูกหรือเปล่า หรือเราไปสร้างนิสัยไม่ดีให้กับลูกกันแน่ !
ประการแรก เรื่องจัดเตรียมโต๊ะอาหาร คุณได้ให้ลูกมีส่วนในการจัดเตรียมโต๊ะอาหารหรือไม่ ให้เขาได้ลองนับจำนวนสมาชิกในบ้านให้ตรงกับสิ่งของที่ต้องเตรียม โดยเน้นที่วัยของลูกให้เหมาะสมกับวัสดุสิ่งของที่ต้องเตรียมเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย อาจจะแยกภาชนะของเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งก็ทำให้ลูกได้เรียนรู้ด้วย
ประการที่สอง ในสมัยก่อนแม่จะสอนเราเรื่องก่อนจะกินข้าว ที่โต๊ะอาหารให้ตักข้าวให้ผู้ใหญ่ในบ้านก่อน โดยเรียงตามลำดับอาวุโส เช่น คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ต่างกับสมัยนี้เวลากินข้าวลูกกินก่อนเลย พ่อแม่ยุคนี้มักตักข้าวให้ลูกก่อน หรือไม่ก็ให้ลูกกินก่อนอีกต่างหาก กลัวลูกหิว บอกให้ลูกกินก่อนไม่ต้องรอผู้ใหญ่
อาหารจานอะไรที่ดีที่สุดก็เอาให้ลูกก่อน หรือแม้แต่เหลืออาหารชิ้นสุดท้าย พ่อแม่ก็มักจะยกให้ลูก สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้เรื่องการคิดถึงผู้อื่น เขาจะเรียนรู้แต่ว่าเขาเป็นผู้รับโดยตลอด เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง กินก่อนคนอื่น อาหารที่ดีที่สุดต้องเป็นของเขา
ถ้าพ่อแม่ลองเปลี่ยนมาเป็นสอนให้เขาตักอาหารให้ผู้ใหญ่ก่อน อาหารจานอร่อยของดีที่สุด หรืออาหารชิ้นสุดท้าย ให้เขาตักให้ผู้ใหญ่ เขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องการคิดถึงผู้อื่นก่อน ส่วนผู้ใหญ่ก็ไม่ควรปฏิเสธ เพียงแต่อาจจะใช้วิธีแบ่งครึ่งกันก็ได้
ประการที่สาม หากลูกได้นั่งกินข้าวกับพ่อแม่เป็นประจำสม่ำเสมอ พ่อแม่ก็ย่อมสามารถควบคุมการกินอาหารของลูกได้ รู้ว่าลูกชอบกินอะไร ไม่กินอะไร เลือกกินอะไร ก็จะทำให้รู้ว่าลูกเราอาจขาดสารอาหารบางชนิดได้ บางคนอ้วนไป เราก็สามารถควบคุมอาหารบางประเภท หรือบางคนผอมไป ก็จะได้เพิ่มเติมอาหารที่เหมาะสมได้
ประการสุดท้าย สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างมื้ออาหารด้วยการพูดคุยกัน ไม่ใช่เอาแต่แชทผ่านโทรศัพท์มือถือ มีโลกส่วนตัวบนโต๊ะอาหาร ต่างคนต่างกิน ต่างคนต่างคุยกับคนอื่น การกินอาหารร่วมโต๊ะกันก็ไม่เกิดประโยชน์
แต่ถ้าเราปลูกฝังการรับประทานอาหารร่วมกันมาโดยตลอด แล้วทำให้ช่วงเวลานั้น เป็นการพูดคยสารพัดเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ชวนคุยเรื่องเพื่อนลูก เรื่องที่โรงเรียน สลับกันเล่าเรื่อง ลูกก็จะรู้สึกดีกับการรับประทานอาหารร่วมกันกับครอบครัว และเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ
อีกทั้งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้กับลูกอีกด้วย
ความสำคัญของมื้ออาหารและการรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นประจำ สามารถช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่องของครอบครัวมานักต่อนัก เพราะมื้ออาหารทำให้บรรดาสมาชิกในบ้านได้มีเวลาให้กัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ รวมถึงพูดถึงปัญหาของแต่ละคนอีกด้วย
ความจริงเมื่อเรามาเป็นพ่อแม่ของลูกในยุคนี้ เราก็ควรเอาสิ่งต่างๆ ที่เราเคยเป็นลูกของพ่อแม่ แล้วเราเห็นว่าดีก็นำมาปรับใช้ กับเด็กยุคใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีบ้างก็ดีไม่น้อย
เพราะพ่อแม่ยุคนี้ต้องอดทนและหนักแน่นในการเป็นพ่อแม่คุณภาพ ถ้าเราอยากให้ลูกมีคุณภาพ ก็ควรเป็นพ่อแม่คุณภาพให้ได้ก่อน