www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ห่างไกลความรุนแรง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-05-28 17:32:08

ความกังวลของหลายฝ่ายต่อปัญหาความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นบ้านเรา จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในขณะนี้ เชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือมีเด็กอยู่ในความดูแล ก็สงสัยเหมือนกันว่าอะไรจะเป็นหนทางแก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันไว้ก่อนก็เป็นอีกวิธีที่มองข้ามไม่ได้

แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร จิตแพทย์ แผนกประกันสังคม รพ.กล้วยน้ำไท ได้ออกมาเผยถึงวิธีดูแลสุขภาพจิตสำหรับเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยเรียน ให้ห่างไกลจากการใช้ความรุนแรง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ทราบ และใช้เป็นแนวทางในการดูแลบุตรหลาน ว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง จากฮอร์โมนที่มากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย และสภาพของจิตใจความรู้สึกนึกคิด ที่เริ่มจะเป็นผู้ใหญ่แต่ก็ยังลังเลสงสัย และบางครั้งก็เอาแต่อารมณ์เป็นหลักแบบเด็ก มีการรวมกลุ่มอยู่กันเป็นสังคม ติดเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เป็นวัยแห่งการค้นหาอัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของตัวเองว่าอยากจะเป็นเช่นไร


ดังนั้น แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลสุขภาพจิตให้แก่ลูกๆ ที่อยู่ในวัยรุ่นวัยเรียนโดยการให้เวลา และร่วมกันแก้ปัญหาแบบเพื่อน ยอมรับข้อคิดเห็น เป็นที่ปรึกษา แนะนำ ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ ให้ความรักความเข้าใจ แสดงถึงการเอาใจใส่ และควรหาโอกาสพบกับเพื่อนของลูกบ้าง แต่อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกควบคุมมากเกินไป


ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมใช้ความรุนแรงนั้น คุณหมอเผยว่า สื่อที่มีการนำเสนอความรุนแรง และการใช้ความรุนแรงของผู้ใหญ่ในสังคมและครอบครัว ทำให้เกิดพฤติกรรมสนใจการเลียนแบบ ยิ่งการกระทำรุนแรงแล้วได้เป็นพระเอก เป็นฮีโร่ ได้ความรัก ความดีความชอบจากผู้อื่น นอกจากนี้ การติดเกมและการใช้สารเสพติดก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงได้อีกด้วย


ขณะเดียวกัน เด็กวัยรุ่นช่วงอายุที่นิยมใช้ความรุนแรงมากที่สุดนั้น ส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยรุ่นตอนกลาง เด็กผู้หญิงอยู่ในช่วง 14-18 ปี ส่วนเด็กผู้ชายในช่วงอายุ 16-20 ปี ในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ เริ่มสนใจเพศตรงข้าม และเพื่อนมีอิทธิพลค่อนข้างสูง มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเริ่มสมบูรณ์เต็มที่ เป็นระยะที่ดื้อรั้น โมโหง่าย มักจะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่สูง และยังคงมีความคิดเพ้อฝันแบบเด็กๆ อยู่มาก วัยรุ่นระยะนี้จึงมีปัญหามากและบ่อยที่สุด


ในกรณีที่ลูกกระทำผิดพลาดโดยใช้ความรุนแรงไปแล้ว คุณหมอก็ได้แนะนำวิธีให้ความช่วยเหลือแก่ลูก ให้ผู้ปกครองทราบว่า ต้องเปิดให้มีการเจรจาและให้วัยรุ่นได้มีส่วนร่วมในการช่วยคิดวิธีการแก้ปัญหา และแก้ปัญหาด้วยการฝึกความมีวินัยที่จะควบคุมตนเอง ถ้าต้องมีการลงโทษควรได้มีการอธิบายเหตุและผลให้เข้าใจ นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้เด็กได้คิดเองว่า ในอนาคตจะทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกลงโทษอีก ที่สำคัญ เมื่อวัยรุ่นมีความประพฤติที่ดีขึ้นแล้ว ควรได้รับการชมเชยเป็นกำลังใจในการทำความดีต่อๆ ไป


พร้อมกันนี้ คุณหมอก็ได้เผยว่า ความรักความอบอุ่นในครอบครัวสามารถยุติความรุนแรงได้เป็นอย่างมาก เพราะครอบครัวจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่วัยรุ่น ในการเสพสื่อและแบบอย่างจากผู้ใหญ่ในสังคมว่าอะไรดีหรือไม่ดี รวมทั้งการได้รับความรักความอบอุ่นเพียงพอ ทำให้เขาไม่ต้องเรียกร้องความสนใจจากการกระทำที่รุนแรง ทั้งนี้ ครอบครัวก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี คือไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวเองด้วย


ส่วนแนวโน้มการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นในอนาคต คุณหมอเผยว่า ไม่สามารถบอกได้ เพราะปัญหานี้จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และความร่วมมือจากหลายๆ ด้านทั้งเรื่องของสื่อที่ถ้าจะนำเสนอความรุนแรง ก็ต้องนำเสนอด้วยว่าผลของการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นอย่างไร การเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่ การเป็นสังคมที่ไม่ส่งเสริมความรุนแรง การมีบทลงโทษที่เหมาะสมและนำมาใช้จริงๆ อย่างเท่าเทียม โรงเรียนและเพื่อนที่ช่วยกันสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง สร้างค่านิยมที่ดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นได้


พร้อมกันนี้ คุณหมอยังได้สรุปเกี่ยวกับวิธีดูแลลูกๆ ที่อยู่ในวัยรุ่นวัยเรียนให้ห่างไกลจากการใช้ความรุนแรง เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับทราบ และใช้เป็นแนวทางในการดูแลบุตรหลานให้ห่างไกลจากการใช้ความรุนแรงว่า

1.การให้เวลากับลูก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะผู้ปกครองบางท่านอาจเห็นว่าลูกโตแล้ว (ตัวโต) ไม่ต้องให้เวลามากก็น่าจะไม่มีปัญหา หรือบางท่านรอให้เกิดปัญหาก่อน แล้วจึงจะให้เวลาและความสนใจ

2.ร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบเพื่อน คือ ยอมรับฟังความคิดเห็นโดยไม่ตำหนิ แต่ชี้ชวนไปในทางที่ดี เช่น การใช้ประโยคที่ว่า "ก็ดีนะ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้า..." เป็นต้น

3.พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษา แนะนำ ให้กำลังใจ

4.พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ

ที่มา http://www.thaihealth.or.th/