www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ความเครียดในวัยรุ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-29 14:14:51

 

วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งร่างกาย จิตใจและความสัมพันธ์กับครอบครัวรวมทั้งเพื่อนฝูง วัยรุ่นตอนต้น อายุราว 13 – 15 ปี เป็นวัยที่สนุกสนานร่าเริง เปิดเผย ไม่ค่อยเก็บความรู้สึกไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ ผิดหวัง ก็แสดงออกมาให้เห็นได้ชัด อารมณ์ต่างๆ มักเป็นไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเพราะเป็นวัยที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ทำให้วัยรุ่นไม่ค่อยมีความเครียดมากนัก ประกอบกับวัยรุ่นตอนต้นยังมีความรับผิดชอบในระยะสั้น เพราะผู้ใหญ่ไม่ค่อยไว้ใจปล่อยให้รับผิดชอบเต็มที่ แต่มักจะใช้วิธีสั่งให้ทำเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่า และความรับผิดชอบนี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความเครียด ดังนั้น หากวัยรุ่นจะเกิดความเครียดก็เป็นความเครียดในระยะสั้นๆ ไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งต้องรับผิดชอบตนเองเต็มที่ รวมทั้งความสนใจและความต้องการของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงง่ายจนไม่สามารถจะคาดเดาได้ เรื่องสำคัญและทำให้เขาเครียดในขณะหนึ่งอาจเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นได้อย่างรวดเร็ว


นอกจากนั้น การแสดงออกอย่างเด็กๆ โดยมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใกล้ชิดหรือกติกาของสังคมก็เป็นการช่วยระบายความเครียดได้อย่างหนึ่ง เช่น อยากตะโกนคุยกันหรือเล่นหยอกล้อกันเสียงดังๆ ตามทางเดินหรือถนนหนทางก็ทำได้ และสังคมก็มักจะไม่ค่อยถือสาหาความนัก ยิ่งเป็นวัยรุ่นไทยด้วยแล้ว มักจะไม่ค่อยมีความเครียดเท่าที่ควรเพราะผู้ปกครองยังคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ จนบางครั้งทำให้เด็กไม่รู้จักโตดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาถ้ายังแก้ไขไม่ได้ ก็วิ่งไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือ ทำให้วัยรุ่นตอนต้นนี้ ไม่เครียดเท่าที่ควรอย่างไรก็ตาม วัยรุ่นก็ใช่จะไม่มีความเครียดเสียเลย เพราะยังมีปัจจัยหลายประการที่เป็นสาเหตุแห่ง


ความเครียดของวัยรุ่น ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของร่างกายเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้วัยรุ่นกังวลกับความสูง-เตี้ย- อ้วน-ผอม เป็นสิว ปรับตัวปรับใจไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร

2. การบรรลุวุฒิภาวะทางเพศ ทำให้มีความต้องการทางเพศ อยากรู้อยากเห็นในเรื่องนี้และต้องการระบายความรู้สึกออกไป แต่ไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม บางคนอาจหาวิธีการผิดๆ เพียงเพราะอยากลองอยากรู้

3. ต้องการอยากเด่น อยากดัง อยากหล่อ อยากสวย อยากรวย สารพัดอยาก แต่ไม่ได้ดังที่ต้องการยิ่งเปรียบเทียบกับเพื่อนแล้วรู้สึกว่าด้อยกว่า สู้ไม่ได้ก็ยิ่งรู้สึกหงุดหงิด พยายามหาทางออกด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะเสริมให้ตนเองเด่นและดัง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีจะรู้สึกมีปมด้อย เพราะคิดว่าฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือที่ใช้ซื้อการยอมรับจากเพื่อนๆ เป็นสิ่งเชิดชูตนเองให้เด่นขึ้น มองเห็นว่าสิ่งฟุ่มเฟือยหรือเครื่องใช้ราคาแพงจะทำให้ได้รับความสนใจจากเพศตรงข้าม เพราะวัยรุ่นจะตัดสินกันด้วยสิ่งที่เห็นภายนอกเท่านั้น


นอกจากนั้น วัยรุ่นมีความต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จึงมักให้ความร่วมมือและภักดีต่อกลุ่ม เมื่อมีปัญหาก็จะหันไปปรึกษาเพื่อน และในการคบเพื่อนต่างเพศก็จะมีท่าทีเคอะเขิน เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่รู้ว่าจะผูกมิตรและวางตัวอย่างไรให้ถูกใจและประทับใจเพศตรงข้าม


4. การรับรู้ ความต้องการ การมองปัญหาและเหตุผลของวัยรุ่นมักแตกต่างจากผู้ใหญ่ จึงมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย อย่างเช่น ในบางขณะวัยรุ่นคิดว่า ตนโตพอที่จะช่วยตัวเองได้มีอิสระในการกระทำและการตัดสินใจ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าวัยรุ่นยังขาดประสบการณ์ชีวิต ความรักความห่วงใยนี้จะทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่า เขาถูกกวดขันเข้มงวดและถูกปิดกั้นไม่ให้มีอิสระ นอกเหนือไปกว่านี้ ผู้ใหญ่มักจะใช้การสร้างความเครียดเป็นอาวุธ เพื่อบังคับหรือลงโทษวัยรุ่นเพื่อให้เป็นคนดีตามที่ตนต้องการ หรือเพื่อรักษาหน้าหรือศักดิ์ศรีความเป็นผู้ใหญ่ของตน เช่น การที่พ่อแม่ตั้งความหวังในเรื่องการเรียน เมื่อไม่ได้ดังหวังก็นำความผิดหวังของตนไปสร้างความกดดันให้กับวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอีก


แล้วจะช่วยแก้ไขความเครียดของวัยรุ่นได้อย่างไร

วิธีการแก้ไข ซึ่งนอกจากจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่แล้ว วัยรุ่นก็ต้องช่วยตนเองด้วย

1. ความเติบโตอย่างรวดเร็วทางร่างกาย นอกจากจะทำให้วางตัวลำบากแล้วความกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตา สิวบนใบหน้า ก็สร้างความกดดันให้แก่วัยรุ่นอยู่ไม่น้อย แต่ความอึดอัดเหล่านี้จะค่อยๆ ผ่อนคลายลงไป ถ้าหากได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม ได้เห็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการวางตัว การแต่งกาย การทำความสะอาดใบหน้า การออกกำลังกาย และการเลือกรับประทานอาหารจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่โตกว่า

2. ความรู้สึกทางเพศ หากผู้ใหญ่เข้มงวดหรือปล่อยให้อิสระจนเกินไปจะทำให้วัยรุ่นเดินผิดทางได้การให้คบเพื่อนต่างเพศหรือเรียนในสหศึกษาโดยให้อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ จะลดความกดดันลงไปมาก และวิธีที่ดีที่สุดคือ การได้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ไม่ให้วัยรุ่นหมกมุ่นหรือใช้เวลาอยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ วัยรุ่นที่มีความมุมานะ เอาดีทางการเรียน รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองหรือมีงานอดิเรกที่ชอบทำ จะทำให้ความสนใจทางด้านนี้น้อยลง

3. ความต้องการอยากเด่น อยากดัง อยากสวย อยากงาม อยากเป็นอิสระ ถ้าได้รับคำแนะนำส่งเสริมที่ถูกทาง ให้รู้จักรับผิดชอบต่อผลของการกระทำตามความต้องการของตนแบบพบกันครึ่งทาง จะช่วยลดความตึงเครียดในจิตใจลงได้ สำหรับวัยรุ่นนั้น การมีความรับผิดชอบในหน้าที่จะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้วัยรุ่นมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น


สำหรับการเข้ากลุ่ม และการวางตัวในการคบเพื่อนต่างเพศนั้น การเข้าสังคม ไม่เก็บตัว จะช่วยให้หูตากว้างขวาง เรียนรู้การแก้ปัญหาได้มากขึ้น ควรสนับสนุนให้วัยรุ่นเข้าร่วมชมรมต่างๆ ที่สนใจ ซึ่งมีสมาชิกรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งชายหญิง จะช่วยลดความเคอะเขิน เป็นการฝึกให้รู้จักและเคยชินกับการทำงานเป็นกลุ่มที่มีทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม จะทำให้กล้าแสดงออกและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และในช่วงนี้ผู้ใหญ่ต้องยอมรับธรรมชาติของวัยรุ่นว่า เขาค่อนข้างจะติดเพื่อน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ดังนั้น พ่อแม่ควรพยายามทำความรู้จัก ให้ความสนิทสนมกับเพื่อนๆ ของลูกและวางตัวให้วัยรุ่นรู้สึกว่า ถ้ามี
ปัญหาก็สามารถขอคำปรึกษาแนะนำได้


หากวัยรุ่นรู้สึกมีปมด้อยในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ควรใช้วิธีสนับสนุนให้เขารู้จักหารายได้พิเศษในเวลาว่าง เช่น รับจ้างตัดหญ้า ประดิษฐ์ของขาย รับจ้างสอนพิเศษ เป็นต้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เขามี


4. การแสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ เป็นธรรมชาติของวัยรุ่น การได้เห็นแบบอย่างการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ จะช่วยให้เขาสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น หรือการเล่นดนตรี เล่นกีฬา ก็เป็นหนทางระบายอารมณ์และความกดดันได้อย่างหนึ่ง

5. ความขัดแย้งระหว่างวัย มีสาเหตุสำคัญมาจากความต้องการของวัยรุ่นและความต้องการของพ่อแม่ที่มักจะสวนทางกัน ซึ่งความจริงแล้วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครอบครัวมากบ้าง น้อยบ้าง สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้ใหญ่จะวางตัวเป็นผู้ใหญ่ได้มากน้อยเพียงไร หากผู้ใหญ่ลดตัวลงไปทะเลาะกับเด็ก หรือเอาแต่ใจตนเอง ต้องการให้เด็กทำตามใจทุกอย่าง เชื่อฟังทุกคำก็เท่ากับเป็นการฝืนธรรมชาติเด็ก และปิดกั้นไม่ให้เด็กรู้จักพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใหญ่ ส่วนวัยรุ่นก็ควรพยายามเข้าถึงความหวังดีของผู้ใหญ่ ให้รับฟังและคิดเสียว่าผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ควรต่อต้านผู้ใหญ่ไปเสียทุกเรื่อง การยอมรับฟังและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาทีหลัง นอกจากจะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งแล้ว ยังแสดงว่าวัยรุ่นนั้นมีจิตใจเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย


สำหรับวัยรุ่นที่มีปัญหา มีความเครียดมากๆ อาจแสดงออกมาในรูปของการเก็บตัว ไม่พูด ไม่คุยกับใคร ไม่อยากให้ใครเข้ามายุ่งหรือหลบหน้า มีอาการซึมเศร้า กินอาหารไม่ลง เจ็บป่วยทางด้านร่างกายซึ่งวัยรุ่นกลุ่มนี้จะต้องรีบเร่งให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไข ส่วนความเครียดในระดับที่ไม่รุนแรง หรือความเครียดที่เกิดกับวัยรุ่นทั่วๆ ไปนั้น แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นเริ่มมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้พร้อมที่จะทำงานหรือแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ


เยาวนาฏ ผลิตนนท์เกียรติ, อมรากุล อินโอชานนท์. สุขภาพจิต 12. โรงพิมพ์การศาสนา. 2532, หน้า 9 – 12.
ที่มา >> สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต