www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > บทความน่าอ่าน

ลูกงอแง เพิกเฉย ไม่ได้ผลไปต่ออย่างไรดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-16 11:12:03

ถาม ลูกวัย 2 ขวบกว่าเวลาที่ถูกขัดใจมักลงไปร้องดิ้นกับพื้น พอพ่อแม่เดินหนีไปทางอื่น เขาจะวิ่งมาดักหน้าและลงไปร้องดิ้นกับพื้นต่อหน้าให้แม่เห็น ถ้าแม่กับพ่อแกล้งมองไปทางอื่น เขายังตามมาจับหน้าให้สนใจมองเขา จนต้องยอมตามใจเขาถึงจะหยุดงอแง จากที่อ่านหนังสือมา แนะนำให้เพิกเฉยไม่สนใจลูก แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าลูกทำแบบที่เล่าให้คุณหมอฟังแล้ว ควรทำอย่างไรคะ


เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกเวลาร้องงอแงที่หนังสือต่างๆ มักแนะนำให้เพิกเฉย แต่ไม่ได้บอกต่อว่าลูกอาจใช้มุกอื่นมาหลอกล่อให้แม่หรือพ่อสนใจและตามใจเขาให้ได้

กรณีของคุณแม่หรือหลายกรณีที่หมอเคยพบเห็นมา มีเหตุผลที่ทำให้การเพิกเฉยใช้ไม่ได้ผลค่ะ


§ ไม่ได้เพิกเฉยจริงๆ เพราะพ่อแม่หลายคนยังจ้องมองลูกที่ “กำลังแสดง” ด้วยการนอนเกลือกกลิ้งไปมาอยู่บนพื้น แถมยังไปพูดคุยต่อรองกับเขามากมาย เช่น “หยุดร้องก่อน” “แม่ซื้อให้หนูไม่ได้ หนูเพิ่งซื้อไปแล้วเมื่อวานนี้ไง” หรืออาจใช้การดุว่า หรือข่มขู่ต่างๆ นานา


§ สร้างเงื่อนไขให้ลูกรู้ บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่สร้างเงื่อนไขให้ลูกจับได้ว่าจะ “จัดการ” พ่อแม่อย่างไร เช่น ถ้าเขาร้องงอแงที่บ้านจะไม่ได้ผล แต่ถ้าร้องต่อหน้าปู่ย่า หรือตายาย หรือไปร้องตามที่สาธารณะพ่อแม่มีแนวโน้มจะยอมตามใจเขา


§ ปรับพฤติกรรมลูกได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เด็กบางคนมีความอึดในการร้องไห้เพื่อทดสอบพ่อแม่ว่า “ใครจะอึดกว่าใคร” รวมทั้งยังใช้หลายกลวิธี “ในการเรียกร้อง” ให้ได้ตามที่ตัวเองต้องการ เช่น “พยายามขย้อนให้ตนเองอ้วก” หรือ “วิ่งไปหาคนที่เคยแพ้ทาง และยอมตามใจเขา”


§ ตอบสนองลูกไม่สม่ำเสมอ ทำให้ลูกคาดไม่ได้ว่าวันนี้ “พ่อหรือแม่จะมาไม้ไหน” เช่น วันนี้แม่อารมณ์ดี เลยยอมตามใจ แต่อีกวันแม่หงุดหงิดด้วยเรื่องอื่นก็เลยไม่ตามใจ ทำให้ลูกไม่รู้ว่าควรแสดงพฤติกรรมอย่างไรดี


§ ลูกมีปัญหาพัฒนาการ หลายกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ปรับพฤติกรรมได้ถูกวิธี แต่ลูกมีปัญหาพัฒนาการ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา


อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถพัฒนาเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมของลูกได้ผลในทางปฏิบัติ

· เพิกเฉย = ไม่สนใจมอง ไม่คุยด้วย เพราะการจ้องมองหรือพูดคุยกับเขา จะเป็นแรงเสริมให้เขาแสดงพฤติกรรมนั้นต่อไป


คุณแม่ควรยึดหลักว่า “หากไม่มีผู้ชม หรือ “เรตติ้งตก” นักแสดงก็จะหยุดแสดง” เทคนิคที่หมอใช้ คือ ยังอยู่ใกล้ๆ เขา และทำกิจกรรมของหมอต่อไปเหมือน “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” อย่างไรก็ตาม ก่อนคุณแม่จะเพิกเฉยอาจบอกลูกว่า “แม่รู้จ้ะว่าหนูผิดหวัง/เสียใจ” “แม่จะคุยกับหนูก็ต่อเมื่อหนูพร้อมและหยุดร้อง”


· ไม่สร้างเงื่อนไข มีคุณแม่หลายคนที่สารภาพว่า ยอมตามใจลูกในที่สาธารณะ เพราะอายคนอื่นที่จ้องมองเวลาลูกอาละวาด จึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรก็ได้ให้ลูกเงียบให้เร็วที่สุด แต่หมออยากบอกว่า หมอก็เคยหันไปมองเวลาที่ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้หรืออาละวาด เพื่อตรวจสอบว่ามีอะไรที่อาจฉุกเฉิน (เช่น ได้รับบาดเจ็บ) หรือมีความรุนแรงอะไรหรือเปล่า (เช่น ถูกผู้ใหญ่ทำร้าย) หรือถึงแม้อาจมีคนแปลกหน้าอื่นมองมาอย่างติเตียนก็ตาม


อยากให้คุณแม่ยึดหลักว่า “เราจะเจอพวกเขาแค่วันนี้เท่านั้น” เพื่อไม่นำเรื่องนี้มาสร้างเงื่อนไขให้เราต้องยอมตามใจลูกค่ะ


· เป็นพ่อแม่ที่มีอารมณ์มั่นคง คาดการณ์ได้ และตอบสนองลูกอย่างสม่ำเสมอ จริงๆ แล้วสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่ดีที่พ่อแม่ทุกคนควรมี ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่สบาย หรือวันที่แสนเหน็ดเหนื่อย คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติไปตามกฎกติกาที่ควรเป็น หากเราปรับพฤติกรรมลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยอารมณ์ที่มั่นคงแล้ว ลูกก็จะหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาดังกล่าวได้ในที่สุด

ส่วนใหญ่หมอให้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจต้องทบทวนวิธีการของตนเองใหม่หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ


· กรณีที่ลูกเป็นเด็กที่ปรับพฤติกรรมได้ยาก เพราะมีปัญหาพัฒนาการ แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อหาแนวทางในการรักษาต่อไปค่ะ

ที่มาของบทความ >> http://real-parenting.com/