ปรับตัวสู่รั้วมหาวิทยาลัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-08 15:52:05
เมื่อเปิดภาคเรียน หลายคนอาจจะมีปัญหาในการปรับตัว ในรั้วมหาวิทยาลัย จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า กลัว โดยเฉพาะ สถานการณ์ที่ไม่ปกติของสังคมอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจรวม ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า การก้าวเดินออกจากรั้วโรงเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย บางคนอาจยังมีความสุขกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เพราะสามารถสอบติดได้เรียนในคณะที่ตั้งใจ แต่บางคนก็อาจจะตื่นเต้นกับบรรยากาศที่แปลกใหม่หลากหลายวัฒนธรรม อาจจะรู้สึกวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนที่คิดว่าจะเรียนไหวไหมและสู้คนอื่นได้หรือเปล่า หรืออาจจะกังวลเรื่องเพื่อน กลัวว่าเพื่อนใหม่จะสู้เพื่อนเก่าไม่ได้ และจะทำตัวอย่างไรกับเพื่อนต่างเพศ หากเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมของโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วนมาก่อน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ต้องเปลี่ยนจากการอยู่บ้านไปอยู่หอพักที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก และโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในสังคม ก็อาจจะทำให้เฟรชชี่หลายคนเกิดความกลัว เครียด วิตกกังวล และอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็ได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการชุมนุมทางการเมือง
การปรับตัวปรับใจในเรื่องการเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนที่ มีลักษณะกว้างขึ้น คือ ผู้เรียนต้องมีการศึกษาหาความรู้จากหลาย แหล่ง ทั้งจากตำราในห้องสมุดหรือข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่รอฟังเพียงสิ่งที่อาจารย์สอนในห้องเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องเรียนแบบลึกขึ้น นั่นคือ มีการวิเคราะห์ ตั้งคำถาม หาข้อมูลเปรียบเทียบ สังเคราะห์หาข้อสรุปเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ใช่แค่อ่าน จำ แล้วนำ ไปตอบเหมือนสมัยมัธยม ดังนั้น จะต้องฝึกตัวเองให้มีความรับผิดชอบ มีความใฝ่รู้ มีการกำหนดเป้าหมาย การวางแผน และปฏิบัติตามแผนอย่างมีวินัย นอกจากนี้การฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์ตรง จะช่วยให้เราทราบแนวทางการเรียนและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนนั้น สิ่งที่สำคัญคือจะต้องมีการเปิดใจเรียนรู้นิสัยของกันและกัน เพื่อจะเห็นทั้งข้อดีข้อเสียของเพื่อนและตัวเรา โดยการรับฟังและปรับปรุงข้อบกพร่องของตนเอง ชื่นชมและเลียนแบบสิ่งดีที่เพื่อนมีแต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับและเลียนแบบสิ่ง ที่ไม่ดี และหากเกิดความขัดแย้งกันขึ้นก็ควรพูดคุยหาทางออกโดยไม่ใช้อารมณ์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสบายใจ ส่งผลให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเราควรรู้จักเลือกคบเพื่อน เพราะเพื่อนที่ดีมักจะพาเราเดินในทางที่มุ่งสู่ความสำเร็จ แต่เพื่อนไม่ดีอาจชักชวนเราให้หลงไปเดินทางที่มืดมนซึ่งจะนำไปสู่ความล้ม เหลว เช่น ยาเสพติด การพนัน ติดเกม และเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น กิจกรรมชมรม ค่ายอาสาพัฒนา นักกีฬามหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการนักศึกษา เป็นต้น บางคนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับการเรียนเฉพาะในหลักสูตรเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วการเข้าร่วมกิจกรรมถือเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะจะทำให้เราพัฒนาหลายด้าน ทั้งด้านอารมณ์ซึ่งจะเกิดการผ่อนคลายและความสนุกสนาน พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกการวางแผน การแก้ปัญหา การเปิดรับมุมมองของเพื่อนต่างคณะ ซึ่งจะช่วยให้เราเกิดความพร้อมเมื่อต้องทำงานจริง หลังจากเรียนจบแล้ว นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนา ศักยภาพ ซึ่งเราอาจจะมีมากมาย แต่ยังไม่เคยค้นพบและรับการฝึกฝนมาก่อน การทำกิจกรรมยังช่วยให้เราใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ และป้องกันไม่ให้เราสูญเสียเวลาไปกับการเล่นเกมหรือการใช้สารเสพติดได้
บทความโดยพญ.อังคณา อัญญมณี
ที่มา >> http://thaipsychiatry.wordpress.com/