เมื่อคุณเซ็งกับชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-08 15:42:27
คำว่า “เซ็ง” ซึ่งเราเรียกกันติดปากนั้น แปลเป็นความหมายได้ว่า ความเบื่อหน่าย ความเฉื่อยชา ความท้อแท้ ซึ่งเมื่อเกิดอาการเซ็งขึ้นมา ก็จะอยู่ในสภาพที่จะทำอะไรไม่ได้ สภาพที่คุณไม่อยากเคลื่อนไหวจะมีก็แต่เพียงการขยับตัวทำนั่น ทำนี่ เท่านั้น ทุกอย่างทำอย่างเนือย ๆ ซังกะตาย หรืออยู่ในลักษณะทำไปวัน ๆ
ความเบื่อหน่ายท้อแท้ เป็นกลไกทางจิตที่สร้างขึ้นมา เพื่อปกปิดความกลัวบางอย่างในใจคุณเพื่อจะแสดงว่า “ฉันไม่หวั่น” ความเฉื่อยชามักจะเกิดหลังจากเกิดความกลัวขึ้นแล้ว ในแง่อารมณ์มักจะเกี่ยวข้องกับการโศกซึม และเป็นอาการที่เรื้อรังและฝังรากลึก ความเบื่อที่เกิดขึ้นกับคุณไม่ใช่เพราะเบื่อสิ่งหนึ่งหรือคน ๆ ใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเบื่อทั้งชีวิต เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเบื่อจนถึงจุดนี้จะทำให้คุณอาจถึงขั้นบ้าหรือคิดฆ่าตัวตาย ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตามนั่นคือการแสดงถึงเงาแห่งความพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับปัญหา
คนที่มีสุขภาพจิตปกตินั้นมักถือว่า อาการเบื่อหน่าย เฉื่อยชา เป็นอาการของคนที่อยู่ในขั้นอันตรายของชีวิต ความเฉื่อยชาเป็นมากกว่าความขี้เกียจ คุณ ๆ ลองถามตัวเองว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่
- คุณเบื่องานเหลือเกิน แต่คุณก็ทนทำงานที่เดิมของคุณอยู่ได้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ชอบ และคุณก็มองไม่เห็นโอกาสก้าวหน้าได้เลย แต่คุณก็หวังในใจลึก ๆ ว่า “วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้”
- คุณทนทรมานอยู่กับคนรักของคุณ ทั้ง ๆ ที่คุณรู้ว่ามีความขัดแย้งกันตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันเข้ากันไม่ได้ แต่คุณก็ทนและรอความหวังว่า “เขาคงจะดีขึ้นสักวัน”
- คุณชอบผัดวันประกันพรุ่งกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณอยากจะทำมานานแล้วแต่ความตั้งใจของคุณ ไม่บังเกิดผลเลย เช่น การผลัดเรื่องการทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้การล้างรถ การตัดหญ้าที่สนามหน้าบ้าน การปัดหยากไย่ ฯลฯ
- คุณเบื่อหน้าผู้คน ไม่อยากพบปะใคร คุณจะคอยหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับเพื่อนฝูง คนรักคนขายของ ฯลฯ โดยการถ่วงเวลา หรือบอกปัดว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ แล้วคุณจะนัดมาใหม่ ทั้ง ๆ ที่ความจริง ถ้าคุณได้พบกับเขาเหล่านั้นแล้ว ปัญหาที่มีอยู่ก็จะหมดไป
- คุณชอบใช้การนอน เป็นข้ออ้าง ในการเลื่อนการกระทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือบอกว่าคุณเพลียเกินไปที่จะลงมือทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
การขจัดความเบื่อหน่าย เฉื่อยชา ควรเริ่มเสียตั้งแต่บัดนี้ โดย
1. เลิกหลอกตัวเองเสียที การหลอกตัวเองว่าคุณไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับปัญหา โดยการรอให้ปัญหาทุกอย่างมันแก้ไขด้วยตัวมันเอง คุณจะไม่มีวันพ้นไปจากปัญหาได้ คุณควรจะเริ่มต้นหันหน้าเผชิญกับปัญหาที่คุณปล่อยให้คาราคาซัง เป็นหนามตำใจคุณให้หมดไป ค่อย ๆ แก้ปัญหาไปด้วยความมั่นใจ ค่อย ๆ ทำและไม่ปล่อยให้ปัญหาใหม่เรื้อรัง ค้างคา
2. เริ่มลงมือทำในสิ่งที่คุณอยากจะทำมานาน หลีกหนีจากความเคยชินเก่า ๆ ที่คุณเคยกระทำมาทุกวัน หนีความซ้ำซากจำเจ คุณจะทำอย่างไรก็ได้ที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับคุณ เช่นหลังจากแต่งงานแล้วคุณไม่เคยไปดูหนังเลยเป็นเวลา 5 ปี คุณก็ควรหาเวลาให้กับตัวเองบ้าง ไม่ใช่คิดว่าต่อไปนี้ชีวิตคุณมีไว้เพื่อลูก
3. อย่าหวังให้โชคดีวิ่งมาหาคุณ ความคิดเช่นนี้ช่างเหมือนเด็กเสียเหลือเกิน การรอหวังโชคแบบฟลุ้ก ๆ ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตัวคุณไม่ได้ซื้อเลย หรือรอราชรถมาเกย โดยฝันว่าคุณเป็นทายาทเศรษฐีเงินล้านที่หายสาบสูญไป ความคิดที่จะมีใครสักคนมาช่วยคุณนั้นคงจะต้องรอไปจนตลอดชีวิตแม้ว่าบางครั้งการคิดแบบนั้น จะทำให้คุณเกิดความอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย
4. หาโอกาสพบปะผู้คนให้มาก ๆ เปิดใจให้กว้าง พยายามมองชีวิตในหลาย ๆ แง่มุมการได้พบผู้คนใหม่ ๆ อาจจะทำให้คุณได้ความคิดที่หลากหลายซึ่งอาจจะนำไปใช้ในชีวิตของคุณเองอย่าปล่อยตัวเองให้จมปลักอยู่แต่ในโลกของคุณเอง การเรียนรู้ชีวิตจากผู้คนจะทำให้คุณได้กำไรชีวิตเป็นเรื่องจริง ๆ ที่คุณสัมผัสได้ ไม่ใช่การรู้เพราะการอ่านเท่านั้น บางทีคนเหล่านั้นจะทำให้คุณมีชีวิตชีวา มีความกระฉับกระเฉงขึ้นและพลังที่จะต่อสู้ชีวิตกลับคืนมาเป็นของคุณอีกครั้งหนึ่ง
คนเรามักจะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาในบางช่วงของชีวิตได้ แต่อย่าปล่อยให้ความเบื่อหน่ายนั้นมาเกาะกินใจของคุณ จนเป็นตัวทำลายอนาคต ทำลายความหวังและความฝันของคุณ ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นข้อสอบข้อหนึ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งคุณจะสอบผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่ตัวคุณ
นันท์นภัส ประสานทอง. บทความสุขภาพจิตเผยแพร่ทางวิทยุเล่ม 4. โรงพิมพ์การศาสนา. 2536, หน้า 33 – 34.
ที่มา >> สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข