www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ธนชัย อุชชิน “ชีวิตผมเริ่มต้นเมื่ออายุ 39”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-02-10 10:24:38

 

 

ธนชัย อุชชิน
“ชีวิตผมเริ่มต้นเมื่ออายุ 39”


เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง

 

“คุณจะได้ในสิ่งที่คุณทำ และสิ่งที่คุณได้รับอยู่ตอนนี้ก็คือสิ่งที่คุณเคยทำไว้ คุณเลือกเอาเองแล้วกัน ผมคงไม่บอกว่าทำดี คิดดี พูดดี”

ในช่วงวัย 20 ปี พี่ป๊อด-ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด๊อก กับโป้งและเมธี เพื่อนอีกสองคนเป็นที่รู้จักจากผลงานเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟ ที่สามารถสร้างมิติใหม่ให้กับวงการดนตรีไทยในยุคนั้น ในช่วงวัย 30 ปี พี่ป๊อดบ่มเพาะประสบการณ์ในเส้นทางสายอาชีพจนก้าวขึ้นเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ โมเดิร์นด๊อกขึ้นแท่นเป็นตำนานวงดนตรีคุณภาพที่ทุกคนยอมรับ ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง บทบาทของพุทธศาสนิกชนผู้สนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของผู้ชายคนนี้ก็เด่นชัดยิ่งขึ้น ไม่แพ้ผลงานด้านอื่นๆ

เส้นทางชีวิตที่กำลังจะเดินทางมาถึงเลข 4 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีของการประกอบอาชีพที่ตัวเองรัก และการดำเนินชีวิตอย่างอยู่ในธรรมของพระพุทธเจ้า กับคำถามตั้งต้นที่ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40” จริงหรือไม่ พี่ป๊อดยิ้มก่อนตอบว่า “ผมเริ่มต้นเมื่ออายุ 39 แล้ว”

ย้อนไปในช่วงวัยเลข 2 เคยคิดไหมว่า โมเดิร์นด๊อกจะกลายเป็นตำนานวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่แบบนี้
ผมคิดว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดมากกว่า เหมือนเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละช่วงว่าช่วงนี้เราอยากได้อะไร อย่างตอนที่เราประกวดโค้กมิวสิคอวอร์ด เราก็ตั้งใจว่าเราจะแข่งขันให้ดีที่สุด พอหมดช่วงประกวดเป็นเรื่องของการทำอัลบั้มชุดแรก เราก็ตั้งใจว่าจะทำอัลบั้มให้ดีที่สุด และเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด ทุกอย่างมันเป็นสเต็ปมากกว่า สเต็ปเหล่านั้นก็พาเราไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้

ในช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ พี่ป๊อดเริ่มต้นสนใจธรรมะตั้งแต่เมื่อไหร่ และเพราะอะไร
พื้นฐานเกิดจากเราเป็นคนเขียนเพลง การเขียนเพลงให้ตัวเองร้องต้องอาศัยความเข้าใจตัวเองมากๆ ที่จะนำเสนอความรู้สึกตรงนี้ออกไป ธรรมะเหมือนเป็นการทำความเข้าใจกับความเป็นจริง เป็นทางที่เรารู้สึกว่าให้ความจริงกับเรา บอกความจริงของทุกอย่างรอบตัวเราเองและสรรพสิ่งทั้งหลาย ทำให้เราเข้าไปศึกษา ทั้งลงไปปฏิบัติจริง คือไปเป็นพระป่าอยู่ประมาณ 4 เดือนครึ่งในพรรษานั้น สิ่งที่ได้จากตรงนั้นเราเอามาใช้กับชีวิตประจำวันและเรื่องงานโดยตลอด

ที่บอกว่าอยากรู้จักตัวเอง พี่ป๊อดมีคำถามอะไรกับตัวเองคะ
ก็คงเหมือนคำถามที่ทุกคนรู้สึกว่า ความสุขมันอยู่ตรงไหน หรือว่าโดนอะไรมากระทบแล้วเราเกิดความรู้สึก เกิดทุกข์ ความหดหู่ เราก็เริ่มอยากรู้ว่าเราจะออกจากสภาวะวังวนพวกนี้อย่างไร

แล้วธรรมะให้คำตอบอะไรกับพี่ป๊อดบ้าง
ในช่วงที่ศึกษาเป็นเหมือนการเผชิญหน้ากับตัวเองก่อน มันยังไม่ใช่การค้นพบหรอก แต่เราได้เห็นสภาวะของตัวเองมากขึ้น เราเห็นความโกรธ เห็นขี้ต่างๆ ในตัว คนเรามีหลายขี้นะ ขี้อิจฉา ขี้โกรธ ขี้หงุดหงิด ขี้โวยวาย หรืออะไรก็ตาม บางครั้งเราไม่เคยมองตัวเอง ไม่สังเกตเห็นขี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้เริ่ม ได้มีเวลาฝึกปฏิบัติ อย่างเช่นหลักง่ายๆ “อาณาปานสติ” หรือการดูลมหายใจตัวเอง จนเจอสภาวะที่ค่อนข้างนิ่ง น้ำที่เคยขุ่นเริ่มตกตะกอนและเป็นผิวที่เรียบ เวลามีสิ่งกระทบอะไร เราจะเห็นคลื่นที่เกิดขึ้น เริ่มมองออกว่าอะไรที่เข้ามา ความรู้สึกของตัวเองเป็นอย่างไร

พอเราเห็นตัวเองเราจะเขียนเพลงให้ตัวเองร้องได้ดี เพราะเราจะเชื่อ เราไม่ได้หลอกตัวเองก่อนแล้วเราไม่ได้เอาเพลงหลอกๆ ออกไปให้คนอื่นฟัง จริงๆ แล้วนี่เป็นกระบวนการทำงานเพลงของเรา แต่มันก็มากไปกว่านั้น มันได้วิเคราะห์ตัวเองไปด้วย กว่าที่จะได้ประโยคๆ หนึ่งออกมา เราต้องคอนเฟิร์มกับตัวเองก่อนว่า เฮ้ย แน่ใจเหรอ จริงเหรอ หรือว่าเขียนไปเพราะว่าคำมันสวย หรือว่าเป็นคำฮิตใช้กันบ่อยๆ หรือแค่คำคล้องจองในประโยค มันใช่ความหมายที่แท้จริงในความรู้สึกเราหรือเปล่า

อายุในวัยนั้นเรียกว่าเร็วไปไหมในการเรียนรู้ธรรมะ
ผมว่าผมโชคดีที่ได้ศึกษาเร็ว จริงๆ ก็ไม่ได้เรียกว่าเร็ว ผมว่าคนอายุ 24-25 ปีกำลังเจอวิกฤติชีวิตเลยแหละ ที่เขาเรียกว่าเบญจเพส ทุกคนก็จะเจอเหตุการณ์โน้นนี้ซึ่งก็เป็นวัยที่ต้องเผชิญหน้าความจริง ด้วยความที่เราสนใจธรรมะเป็นทางออกและอยู่ใกล้ตัว เราก็เลยลองศึกษาดู เพราะไม่รู้จะไปคุยกับใคร เราไม่ได้เปรียบเทียบว่าเพื่อนกำลังสนุกหรือเป็นอย่างไร ดูตัวเองให้เยอะ (ไม่ได้คิดว่าแปลกไปกว่าคนอื่น?) แปลกก็เป็นความแปลกที่ดี

เข้าสู่ช่วงวัยเลข 3 พี่ป๊อดให้ความสำคัญกับชีวิตในแง่มุมไหนบ้าง
ช่วงวัย 30 จะงานเยอะที่สุดเลยนะ เป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว เราให้ความสำคัญกับงานเป็นหลัก บางครั้งเราอาจจะให้ความสำคัญกับครอบครัวน้อยไปด้วยซ้ำ เหมือนยังไม่รู้สึกว่าจะต้องดูแลที่บ้านอะไรนัก พ่อแม่ก็ยังไม่ได้แก่มาก ก็จะให้เวลากับตัวเองเป็นหลัก

ต่างจากช่วงเลข 2 อย่างไร
อายุ 20 ปีเป็นวัยแสวงหา เราเป็นใคร เราทำอะไรได้ เราจะประสบความสำเร็จในจุดไหนหรือเปล่า จะทำในสิ่งที่ฝัน พาไปถึงจุดนั้นได้ไหม พอถึง 30 ความฝันที่อยากไปให้ถึงมันก็ถึง แต่ทีนี้เราจะพัฒนาอย่างไรให้เติบโต แต่ถ้าให้มองย้อนกลับไป ผมคิดว่าเราควรจะมองดูครอบครัวของเราให้เร็วนะ อย่าทิ้งคนใกล้ตัว อย่าทิ้งคนที่บ้าน อย่าทิ้งพ่อแม่ ไม่ต้องรอให้เขาเข้าโรงพยาบาลหรือว่าป่วยก่อนถึงค่อยกลับไปดูแล ยิ่งเราทำได้เร็วก็แปลว่าเราดูแลตัวเองได้ เราก็จะดูแลคนอื่นได้ แต่ถ้าตัวเองยังป้อแป้ ยังเรียกร้องโหยหา ก็ไม่รู้จะเอาพลังที่ไหนไปดูแลคนอื่น

แล้วความรักในช่วงวัยนี้คืออะไร
เหมือนคนทั่วไป ก็เป็นความรักในแง่โรแมนติก ความรักเพื่อน ความรักพี่น้อง ครอบครัว มีครบทุกด้าน ความรักถ้าเป็นพวกรักโรแมนติกอาจจะควบคุมยากหน่อยนะ เพราะต้องอาศัยการตอบรับของสองหน่วย บางทีจะลงตัวบ้างไม่ลงตัวบ้างก็สุดแท้แต่ แต่มันทำให้เราเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้คือเรารัก เรามีความรัก หรือเราเป็นฝ่ายเรียกร้องความรัก ก็ทำให้เราได้วิเคราะห์

ทำใจกับความผิดหวังในความรักอย่างไร
เออ ทำได้อย่างไรก็ลืมไปแล้วเนอะ (ฮา) อาจจะต้องเจอซ้ำๆ หรือว่าเริ่มยอมรับความเป็นจริงได้ มีความสุขกับตัวเองก่อน คือมองว่าเราต้องพยายามเติมตัวเองให้เต็มให้อิ่มก่อน แล้วสิ่งที่ได้มาหลังจากนั้นคือเอ็กซ์ตร้า คือของพิเศษที่เติมเข้ามา แต่รู้ว่ามันยากสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่มักรู้สึกว่าตัวเองขาดแหว่ง ต้องการใครอีกสักคนมาเติมให้เต็ม แต่มนุษย์แต่ละคนก็เจอโจทย์ต่างกันถูกไหมครับ บางคนอาจจะโชคดีมีครึ่งหนึ่งแล้วต้องการอีกครึ่งหนึ่ง แล้ววันหนึ่งก็ได้มาเจอกันพอดี แต่บางคน เอ๊ะ ทำไมหาอีกครึ่งหนึ่งไม่เจอเสียที ก็เป็นโจทย์ที่ต้องทำการบ้านต่างกัน

การดูแลตัวเองให้เต็มเป็นธรรมะอย่างหนึ่งใช่ไหม
สุดท้ายแล้วเราก็ต้องดูแลตัวเอง แต่แน่นอนเราต้องมีส่วนเติมเต็มซึ่งอาจจะมาจากใครสักคนก็ได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงคู่รักเสมอไป แม้กระทั่งคนมีคู่รัก แต่งงาน มีลูกแล้ว เขาอาจจะรู้สึกว่าคนที่มาเติมให้เขาอาจจะไม่ใช่คู่เขาก็ได้ ก็มีอยู่ในชีวิตจริง อาจจะเป็นอะไรสักอย่าง เพื่อนสักคน งานบางอย่าง ของบางสิ่ง หรือหมาสักตัว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจอสิ่งนั้นได้ไหม แต่ทุกอย่างมาแล้วก็ไป ไม่มีสิ่งไหนที่อยู่ตลอดใช่ไหม หมาตัวนั้นอาจไม่ได้อยู่กับเราตลอดก็ได้

พี่ป๊อดใช้หลักธรรมอะไรในการเดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตคะ
หลักของการเข้าใจว่าทุกอย่างไม่แน่นอน อย่าไปยินดียินร้าย อย่าเพิ่งไปคิดว่านั่นคือจุดสิ้นสุด สิ่งที่เราคิดว่าดีอาจจะพาไปสู่เรื่องร้ายๆ ก็ได้ และสิ่งที่ร้ายที่เราคิดว่ามันแย่มากก็อาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าเพิ่งรีบสรุปอะไรทั้งนั้น มันเป็นหลักความจริง

หากจะมีธรรมคติเตือนใจวัยรุ่นสั้นๆ คิดว่าคืออะไร
ผมคิดว่าเขาควรจะมีความเชื่อเรื่องกรรม ก็คือทำสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น you get what you give คุณจะได้ในสิ่งที่คุณทำ และสิ่งที่คุณได้รับอยู่ตอนนี้ก็คือสิ่งที่คุณเคยทำไว้ คุณเลือกเอาเองแล้วกัน ผมคงไม่บอกว่าทำดี คิดดี พูดดี ทุกคนมีสิทธิ์เลือกให้กับตัวเอง

เดือนพฤษภาคมนี้พี่ป๊อดจะมีอายุ 40 ปี ที่กล่าวกันว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40” พี่ป๊อดคิดอย่างไรคะ
ผมเริ่มต้นเมื่ออายุ 39 เร็วกว่าคนอื่นหนึ่งปี มันอาจจะเป็นการพูดเท่ๆ ก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มเห็นภาพทุกอย่างชัดเจนขึ้นแล้ว ว่านี่คืองาน นี่คือความรัก นี่คือมิตรภาพ นี่คืออะไรต่างๆ เหมือนทุกอย่างไม่มีอะไรใหม่แล้ว เป็นวงกลมซ้ำๆ สำเร็จมาแล้ว ล้มมาแล้ว ถ้าตอนเด็ก สมมติว่าช่วงประสบความสำเร็จอาจยังไม่เคยล้ม ก็คงยังมีความกังวล แต่พอครบวนมาถึงตอนนี้ เห็นขึ้นเห็นลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นสิ่งเดิมแต่เปลี่ยนตัววัตถุเป็นอย่างอื่น แต่ก็เป็นรูปฟอร์มเดิมๆ ก็จะไม่หวั่นไหวมากแล้ว มันก็หัวเราะขำๆ แล้ว สมมติว่าขึ้นไปร้องเพลงผิดก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแล้ว ถ้าเป็นตอนเด็กๆ อาจจะรู้สึกว่าเราทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้นเลย แต่ถ้าผมอายุ 60 ผมก็จะพูดว่าอย่างนั้นนะ “ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 60” เพื่อให้รู้สึกใหม่ตลอดเวลา

มองโมเดิร์นด๊อกในอีก 10 ปีข้างหน้า
เราก็คงเล่นดนตรีกันไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็คงมีอิสรภาพของตัวเอง เพราะเราทำงานด้วยกันมาเข้าปีที่ 18 แล้ว เพื่อให้ชีวิตมีหลายมิติ แต่ละคนก็ควรมีสิ่งอื่นนอกเหนือจากโมเดิร์นด๊อกด้วย แต่ในขณะเดียวกันด้านหนึ่งของชีวิตก็คือโมเดิร์นด๊อก
 

แล้วมองตัวเองไว้อย่างไรคะ
ผมไม่ได้มองว่าจะไปทำอะไร การเริ่มต้นเหมือนเรามีฐานที่แข็งแรงในด้านความรู้สึกและจิตใจ ความหวั่นไหวต่างๆ เริ่มนิ่งขึ้น แต่ยังมีอยู่นะ ยังมีเข้ามากระทบเหมือนกับที่เราต้องเจอพายุเจอฝนอยู่ตลอด แต่เราค่อนข้างไม่ซัดเซไปกับมันมากนัก หวังว่านะ (ฮา)
 

พี่ป๊อดยังมีสิ่งใดที่ต้องค้นหาอยู่ไหม
ผมว่าเราได้คำตอบแล้ว เพียงแต่จะทำให้มันเคลียร์ไปเรื่อยๆ และสนุกกับมัน ชีวิตที่เหลือควรจะเป็นชีวิตที่สนุกไปกับกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ธรรมะเป็นเรื่องที่สนุกที่สุด เพราะมันยากที่จะรู้จะเข้าใจ แต่เรื่องของเรื่องคือมันเข้าใจด้วยความคิดได้ แต่เข้าใจด้วยใจยากนะ เช่นที่บอกว่า สุดท้ายแล้วตัวเราไม่มี ถ้าพูดในเชิงวิเคราะห์ตรรกะอาจจะฟังเข้าใจได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไอ้ความยึดมั่นของเรามีอยู่เต็มเปี่ยม

ขอให้เราใช้สิ่งที่เรียนรู้เป็นโจทย์ประจำวัน ไม่ต้องไปที่วัด อันนั้นเป็นฟอร์มเหมือนคนใส่ยูนิฟอร์ม ก็โอเค ถ้าเป็นพระก็เป็น full time job ที่ขัดเกลาโดยตรง แล้วงานที่ต้องออกมาทำตอนที่พร้อมแล้วคืองานสอน สังเกตว่าส่วนใหญ่พระจะถ่ายทอดความเข้าใจของตัวเองออกมาในรูปครู อย่างที่มาคุยกับผม ผมก็ได้แลกเปลี่ยนความคิด อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปฟอร์ม หรือเพลงที่เขียนอาจจะมีบางประโยคซ่อนความเข้าใจของผมอยู่ในนั้น