www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ครูซุปเค ครูคณิตศาสตร์หัวใจธรรมะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-02-02 17:40:07

 เรียนคณิตศาสตร์ด้วยความสุขและจิตใจเบิกบาน  กับครู Sup’k  ครูคณิตศาสตร์หัวใจธรรมะ    

 แนะนำตัว  

ครูซุปเค  ศุภฤกษ์   ครูคณิตศาสตร์  และเจ้าของโรงเรียน Sup' K Center ครับ

*  ในสมัยที่อาจารย์ยังเป็นนักเรียน  การเรียนคณิตศาสตร์ของอาจารย์เป็นอย่างไร มีเทคนิคส่วนตัวอย่างไร

ตอนเด็กๆ  คุณแม่จะเป็นคนสอนคณิตศาสตร์ ท่านสอนด้วยวิธีที่ทำให้เราเข้าใจและสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์  เราจึงเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความชอบ ด้วยความรักและด้วยความสนุก  พอเกิดความชอบ เกิดฉันทะ ก็มีความเข้าใจ   และใช้ความเข้าใจฝึกทำโจทย์เยอะๆ  ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์นั้นแม่นขึ้น และเก่งขึ้นด้วย  สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจ สนุกกับมัน และฝึกเยอะๆ ครับ

 

* ได้นำเทคนิคการเรียนคณิตศาสตร์ส่วนตัวมาสอนเด็กๆ อย่างไรบ้าง

ความรู้ทุกๆ อย่างที่มีและสะสมไว้ก็ถ่ายทอดสู่นักเรียนทั้งหมด  รวมถึงประสบการณ์ที่เข้าค่ายคณิตศาสตร์โอลิมปิก เราก็เอามาผสมผสานและคิดค้นวิธีการขึ้นใหม่  จนเกิดเป็นเทคนิคที่นำมาสอนเด็กๆ โดยมีสโลแกนคือ สอนสนุก  ครบครัน ทันสมัย เข้าใจง่าย  ประยุกต์ใช้ได้จริง

*  แบ่งปันประสบการณ์ และการเตรียมตัวในฐานะที่เคยเป็นตัวแทนระดับประเทศ ไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค   

การเตรียมตัวเข้าค่ายเก็บตัวคณิตศาสตร์ โอลิมปิคสมัยก่อนนั้นจะแตกต่างจากสมัยนี้   สมัยผมจะมีค่ายเดียวคือโอลิมปิกเพื่อไปแข่งขันต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งเตรียมตัวแต่มัธยมปลาย  แล้วก็ไปแข่งขันเลย  แต่สำหรับตอนนี้ รุ่นน้อง ๆ  มีหลายค่ายทั้งค่ายประถม 3 ค่ายบประถม 6 ค่ายมัธยม 3 ค่าย มีการแข่งขันสนามต่างๆ  อย่างประถม 3 ก็จะไปแข่งที่อินโดนิเซีย มัธยมก็จะไปอินโดนิเซีย หรือมาเลเซีย  และก็มีการแข่งขันทั่วโลก  ชื่อค่ายคือ สอวน.   และจะมีค่ายที่เก็บตัวไปแข่งขันที่ต่างประเทศของระดับมัธยมปลาย ชื่อค่าย IMO – International Mathematic Olympic 

อยากจะบอกทุกๆ คนว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาคณิตศาสตร์   อยากให้น้องๆ ค้นหาตัวเองให้เจอ จากคลังความรู้ เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมก็ได้  แล้วเราค้นหาตัวเองว่าเราชอบอะไร และเร่งเสริมจุดแข็งของเรา ให้ไปถึงที่สุด ส่วนที่เป็นจุดอ่อน หรือวิชาที่เราไม่ได้ใช้ ก็อย่าทิ้ง ควรเรียนให้รู้  สำคัญคือต้องหาตัวเองให้เจอ ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องชอบคณิตศาสตร์เหมือนกัน

 

*  น้องๆ หลายคนที่รู้สึกไม่ชอบคณิตศาสตร์ เพราะรู้สึกว่ายาก และต้องจำสูตรมากมาย และเด็กที่อ่อนคณิตศาสตร์  พยายามเท่าไรก็ไม่เข้าใจสักที  อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร

คำแนะนำคือ เราจะต้องหาครูที่เหมาะกับเรา  แต่หากน้องๆ หาครูที่เหมาะกับตนเองไม่ได้จริงๆ ก็ให้มาหาความรู้ที่เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม  มีครูที่สอนและอุทิศตัวเพื่อการสอนมากมาย หรือแม้กระทั่ง ช่องการศึกษาของดาวเทียมไทยคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เราจะต้องหาครูที่สอนแล้วทำให้เรามีความสุข ทำให้เราสนุกกับการเรียน  นี่คือสิ่งสำคัญ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องเป็นครูของตัวเอง ต้องหาหนังสือมาอ่าน แต่ว่าอาจจะยากนิดนึง  นี่จึงเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องสอนเด็กให้ตรงกับนิสัย และพฤติกรรมของเด็ก หากคลิ๊กกันแล้วคราวนี้ก็สบายแล้ว  โดยตัวผมเองจะเน้นการสอนด้วยความสุข  เรียนคณิตศาสตร์ให้มีความสุข  หากถามว่าสูตรคณิตศาสตร์ที่มีอยู่มากมายก่ายกอง  ซึ่งผมเองก็มีวิธีการร้อยเรียงสูตรคณิตศาสตร์ที่จำยากๆ ให้เป็นเพลงคณิตศาสตร์ หรือ Math Melody 

*  ครูคณิตศาตร์ยุคใหม่ ควรเพิ่มเติม หรือสร้างสรรค์เทคนิคการสอนใหม่ๆ อย่างไรบ้าง   

          ผมว่าดูจากสภาพของเด็ก  เด็กๆ ทุกคนชอบความสุขและชอบความสนุก เพราะฉะนั้นเราก็นำความสุขจากในท้องถิ่นจากคุณครูท่านั้นๆ ที่มีอยู่  เอามาประยุกต์ใช้ ในกรุงเทพก็อาจจะลำบากหน่อยเพราะไม่รู้ว่าจะพาไปออกนอกสถานที่ได้ที่ไหน  ตอนนี้สื่อต่างๆ เริ่มเข้าไปถึงแล้ว อย่างเช่นเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญดอทคอม  เราก็สามารถนำความรู้จากแหล่งนั้นมาใช้ในเรื่องของวิชาการสอน  แต่สิ่งคุณครูจากต่างจังหวัดจะได้เปรียบกว่าคือ เราสามารถพาเด็กไปเรียนรู้ในธรรมชาติ และบูรณาการความรู้  ไปเจอต้นไม้ และสิ่งแวดล้อม ก็สามารถนำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้  สมมติว่าเราเห็นต้นไม้ แล้วเราก็อาจจะถามเด็กๆ ว่า ต้นไม้นี้สูงเท่าใหร่  อย่างเช่นเวลาที่ผมจะสอนตรีโกณ ผมต้องวัดความสูงของตึก  และในกรณีนี้ หากคุณครูสังเกตเห็นว่ามีรังนกอยู่บนต้น ก็อาจจะถามว่า ตั้งคำถามกับนักเรียนว่า “เอ๊ะ ! รังนกบนต้นไม้นี่อยู่สูงจากพื้นเท่าไหร่นะ”  เราก็จะใช้วิชาตรีโกณไม่ฉากอันใหญ่ๆ มาวัดสามเหลี่ยมคล้าย โดยใช้สูตรตรีโกณ แล้วเราก็จะรู้ว่าจริงหรือเปล่าที่รังนกสูงแค่นี้  เด็กๆ ก็จะสนุกสนานกัน  

หลังจากที่เราสอนการหาค่าความสูงของรังนกในวิชาคณิตศาสตร์แล้ว เรายังสอนเด็กๆ ได้อีกว่า เราควรไปเก็บไข่ของนกไปกินหรือเปล่า  สมมติว่าเด็กๆ บอกว่า กินสิๆ ! เราก็ต้องบอกว่าไม่ได้นะ  เราก็ยังสอนเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นหากเราจับนกมากินนกก็จะสูญพันธุ์  และยังเป็นการทำบาปอีกด้วย เพราะใครๆ ก็รักชีวิตของเขากันทั้งนั้น  เราใช้เพื่อสอนเรื่องศีล 5 ได้   พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นเขา อาจจะทำให้เราเกิดมาเป็นคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ในบางภพชาติที่กรรมยังส่งผล   นี่คือตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ คือเทคนิคการสอนที่ให้เด็กมีความสุขความรู้และสนุกสนานในการเรียนรู้   ใช้ของที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้ามาบูรณาการ และใช้สื่อที่มีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ คนมาช่วยเยอะ เพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิชานั้นๆ .

 

* เวลาที่อาจารย์คิดสร้างสรรค์กิจกรรมเสริมบทเรียน ได้แรงบันดาลใจจากอะไร และวางเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมนั้นๆ  อย่างไร

          เราจะสอนอะไร เราจะต้องมีความชำนาญในรายวิชานั้นๆ  ถ้าเราไม่ชำนาญ หรือต้องเปิดตำราสอนอยู่  แบบนั้นการสอนมันจะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ลื่นไหล   ความชำนาญคือ คุณครูท่านนั้นอาจเป็นคุณครูที่เคยสอบได้ที่ 1 ของประเทศ หรือไม่จำเป็นก็ได้ แต่สื่งสำคัญคือก่อนสอนเราเตรียมตัวพร้อมหรือเปล่า ถ้าเราเตรียมตัวพร้อมในรายวิชาที่เราจะสอน เช่นจะสอนเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณครูได้เคยทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยย้อนหลังครบหรือเปล่า หรือหากทำครบแล้วคุณครูได้เข้าใจในเนื้อหาส่วนนั้นๆ หรือเปล่า ถ้าเกิดเรายังทำไม่ครบ เรายังไม่เข้าใจในเนื้อหา เรายังเปิดเฉลยแล้วอ่านสอนเด็ก ก็จะทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ การสอนก็ตะกุกตะกัก  เด็กถามอะไรก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามเด็กได้ เพราฉะนั้นแล้วเราต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อน  พอเราเข้าใจแล้ว เราก็จะมองเห็นเลยว่าความรู้ตรงไหนมันเชื่อมโยงกับตรงไหน  และเราควรจะสอนเขาอย่างไร 

                อาจารย์ควรเห็นภาพรวมของข้อสอบ  เพราะถ้าเรายิ่งทำข้อสอบเยอะ เราก็ต้องเห็นภาพรวมของข้อสอบ  เวลาที่เรานำมาสอนเด็ก เค้าก็จะเห็นภาพรวมของข้อสอบ เค้าก็จะได้รู้ว่าข้อสอบแบบนี้มันออกซ้ำมากี่ปีๆ จะมีแนวโน้มแบบไหนบ้าง  ทั้งหมดที่พูดมายาว ก็เพื่อจะสรุปว่าเตรียมความรู้ของคุณครูให้พร้อมที่สุด ชำนาญที่สุดก่อนที่จะเข้าไปสอนเด็กๆ ในคาบนั้นๆ ในวิชานั้น หรือเนื้อหาที่จะใช้สอบอะไรในสนามไหนๆ เราต้องพร้อมก่อน

* ฝากให้กำลังใจน้องๆ ที่กำลังจะสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เรื่องการเตรียมพร้อมทั้งกายและใจ 

ถ้าน้องคนไหนใกล้สอบ  พี่อยากจะให้น้องเตรียมหนังสือ ข้อสอบเก่าย้อนหลัง 10 ปี 20 ปี ของทุกวิชา มานั่งทำแล้วอ่าน ทำเสร็จแล้ว อ่านเฉลยทำความเข้าใจ  เข้าใจแล้วจำแนวของมัน แล้ววันรุ่งขึ้นกลับมาทำซ้ำ  นี่เป็นทางรอดเดียวของคนที่มีเวลาเหลือน้อย   คือการเตรียมพร้อมด้วยความมีวินัยและความสม่ำเสมอ นี่คือสิ่งที่ดีมาก  หรือวันใดที่เราท้อ เราก็ลองไปคลิกดูที่เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมดูซิว่ามีไอดอลของเราคนไหนที่เขาประสบความสำเร็จ  แล้วน้องลองสังเกตเค้าดู และจับคำพูดของเขาดูว่าเขามีฉันทะ – มีความรักความชอบในสิ่งนั้น  มีวิริยะ  คือความพยายาม  มีจิตตะ -  คือความจดจ่อ   มีวิมังสา – มีปัญญาใคร่ควญ ว่าเราพลาดตรงไหน เราต้องไปเสริมจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร   

                โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะขาดวิริยะ คือความพากเพียรที่ต่อเนื่อง  พี่จึงอยากให้น้องมีความพากเพียรที่ต่อเนื่องในการเตรียมตัวสอบตั้งแต่เนิ่นๆ อ่านซ้ำ การที่ได้อ่านซ้ำๆ ทำซ้ำ ทักษะมันเกิด  ลองนึกไปถึงตอนที่น้องๆ กำลังพิมพ์ดีด  ครั้งแรกเราใช้ระบบจิ้มกดนะครับ  คราวนี้เราพิมพ์ทุกวัน ทุกๆ อย่างมันก็อยู่กับที่ เราก็พิมพ์ได้ด้วยความรวดเร็ว พิมพ์โต้ตอบกับเพื่อนได้ด้วยความรวดเร็ว  เพราะฉะนั้นแล้วเนี่ยไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้เรามีทักษะที่ดี  นอกเหนือไปจากการทำความเข้าใจและทำซ้ำ อย่าไปคิดว่าอีก 3 วันก่อนสอบแล้วเดี๋ยวค่อยทวน แบบนั้นเราทวนไม่ทันหรอกนะครับ ต้องฝึกซ้ำ ๆ ทำซ้ำๆ และมีความจดจ่อ แล้วถ้าพอท้อก็เข้าไปหากำลังใจจากไอดอลของเราที่เขาประสบความสำเร็จมาเป็นกำลังใจครับ