ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอนักปลูกปัญญา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-01-18 13:17:16
เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง
นิตยสาร plook โดย www.trueplookpanya.com ได้ดำเนินการมาครบหนึ่งปีเต็มในฉบับนี้ เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้อ่าน รวมไปถึงแวดวงการศึกษา เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ถ่ายทอดที่มาที่ไปของโครงการทรูปลูกปัญญาดอทคอม ผ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดเรื่อง “ความรู้คู่คุณธรรม” ถึงมุมมองด้านการศึกษา การเป็นผู้นำ และการดำเนินชีวิต
เพราะอะไรทรูจึงอยากทำโครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษาโดยเฉพาะคะ
ผมเชื่อว่าความรู้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้คนเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ สู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญามีอยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งก็คือสื่อต่างๆ ที่ทำให้เข้าถึงการเรียนรู้ และแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการที่เราจะทำเพื่อสังคมนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็คือโรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งความรู้ แหล่งปลูกฝังจิตสำนึก แต่ทุกวันนี้ครูยังขาดเครื่องมือและสื่อการสอน รวมทั้งแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์ ครูบางคนสอนคนเดียว 5 วิชา บางคนถึง 10 วิชา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น หลายคนบอกว่าควรจะแก้ปัญญาด้วยการเพิ่มครู แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่เด็กๆ ต้องการมากกว่า คือครูดีๆ มีประสบการณ์มากกว่านี้ ซึ่งการนำอุปกรณ์ไอซีทีเข้าไปจะช่วยให้ครูทุกคนเก่ง ได้นำความรู้ต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้กว้างขึ้น มีความน่าสนใจ มีสีสัน เป็นภาพแอนิเมชัน ดึงดูดความสนใจเด็กๆ เป็นอย่างดี
เริ่มต้นจากโครงการทรูปลูกปัญญา แล้วขยายจนเป็นเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมได้อย่างไร
แนวความคิดของทรูปลูกปัญญาดอทคอมนี้จริงๆ มีความตั้งใจที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะถ้าสามารถที่จะแชร์ความรู้ระหว่างกันยิ่งมากได้ยิ่งดี เป็นแนวทางที่ทำอย่างไรถึงจะนำเทคโนโลยีและสื่อรูปแบบใหม่ คือสื่ออินเทอร์เน็ตมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นการแบ่งปันความรู้นะครับ ในจุดเริ่มต้น ทรูมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาด้านศึกษา เราเข้าไปทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและพยายามค้นคว้าวิจัยทำรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นมา แต่ใช้เวลานานทีเดียวกว่าผลงานจะออกมา ประมาณ 1-2 ปี และเราก็พบว่าหลังจาก 2 ปีไปแล้วมีคนทักว่าสิ่งที่ศึกษามามันล้าสมัยเสียแล้ว แล้วทำอย่างไรการศึกษาถึงจะไม่ล้าสมัย เราก็คิดว่าถ้ามันมีแหล่งความรู้และการสร้างสรรค์การศึกษาในลักษณะคล้ายๆ YouTube คือคลิปใน Youtube ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและก็มีความหลากหลายมาก ไม่ได้โฟกัสในเรื่องของการศึกษา ถ้าอย่างนั้นเราทำเว็บๆ หนึ่งขึ้นมาที่เน้นเรื่องของความรู้มันก็น่าจะดี แล้วให้ทุกๆ คนที่มีความรู้ความสามารถและอยากจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ สามารถอัพโหลดคลิปวิดีโอได้ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ อันนี้ก็เป็นที่มาของทรูปลูกปัญญาดอทคอม
อยากให้อธิบายถึงแนวคิด “ความรู้คู่คุณธรรม” ของเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม
การเรียนการสอนในบ้านเราหรือทั่วโลกก็ว่าได้ เน้นในเรื่องวิชาการ แต่สิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับวิชาการก็คือคุณค่า คุณค่าของความเป็นคน คุณค่าของการมีชีวิต การอยู่ร่วมกัน แล้วต่อไปคุณค่าของการดำเนินชีวิตร่วมกันและความเป็นคนจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้ นี่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ คุณค่าที่เราเข้าถึงได้หรือจับต้องได้ก็คือแนวทางของพระพุทธศาสนาซึ่งสะท้อนหลักความเป็นจริงของการมีชีวิตอยู่นะครับ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่จะต้องควบคู่ไปกับวิชาการครับ เพราะถ้าขาดสิ่งนี้ก็เท่ากับว่าคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ได้ถูกตั้งอยู่บนครรลองที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถทำให้สังคมหรือระบบชุมชนในพื้นที่ต่างๆ พัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
คำว่า “ทรูปลูกปัญญา” จึงมีความหมายเน้นย้ำแนวคิดนี้ใช่ไหมคะ
ใครที่มีลูกเล็กๆ จะเห็นภาพได้ชัดเจน เหมือนกันตรงที่เราพยายามจะปลูกต้นกล้าที่ยังอ่อนแออยู่ให้เขาเติบใหญ่ขึ้นมา ฉะนั้นคำว่า “ปลูก” จึงเทียบเคียงได้ดีที่สุดกับการที่เราจะไปช่วยเสริมสร้างพื้นฐานของเยาวชนไทยให้รักการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากการปลูกความรักในการเรียนรู้แล้วยังมีความหมายว่าเราต้องปลูกจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมด้วย ฉะนั้นคำว่า “ปลูก” จึงได้ทั้งสองอย่างคือ “ปลูก” ในแง่ขององค์ความรู้และปัญญา “ปลูก” ในแง่ของจิตสำนึกที่ดีงามกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมในขั้นต่อไป นอกเหนือจากการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่ในสังคม ส่วนคำว่า “ปัญญา” ก็สอดคล้องกับหลักศาสนาพุทธของเราอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นชื่อที่สื่อออกมาได้ดีและเหมาะสม
คุณศุภชัยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย มีเคล็ดลับของการเป็นผู้บริหาร-ผู้นำที่ดีมาแบ่งปันไหมคะ
การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ หนึ่ง คุณธรรม ทำในสิ่งที่เป็นคุณ ซึ่งก็คือการให้ เมื่อให้แล้วถึงมีโอกาสได้รับกลับมา สอง ผู้นำเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ และต้องมี passion ในสิ่งที่ทำ มีความตั้งใจ เมื่อมี passion ในสิ่งที่ทำก็เลยรู้มาก เห็นมาก ความคิดจะลื่นไหลไปข้างหน้า เห็นไกลกว่าคนอื่น และจะเห็นก่อนคนอื่นๆ เสมอ แต่ถ้า passion เกิดจากความเห็นแก่ตัว วิสัยทัศน์ก็จะแคบลงเพราะมองได้ไม่ครบ สาม ผู้นำต้องคิดบวกเสมอ ที่ผมเคยบอกว่า ถ้าวันนี้ไม่มีอะไรเลย จากวันนี้ไปก็มีแต่ได้ ถ้าติดลบนี่ก็ยิ่งมีแต่ได้ เพราะแต่นี้ไปจะมีแต่บวกนะครับ สี่ สร้างสรรค์ ต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และต้องทำเรื่องใหม่ให้ดีกว่าเรื่องเก่า ห้า ผู้นำต้องเห็นคนอื่นเก่งกว่าตัวเอง เสาะหาคนที่เก่งกว่า มอบหมายให้ทำ ซึ่งก็คือการสร้างคน การที่เราเห็นคนอื่นเก่งกว่า เราจะรู้ว่าจะใช้เขาได้อย่างไร และในขณะเดียวกัน ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้จากเขา หก ผู้นำต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง เรียนรู้ เปิดรับความคิดเห็น ประมวลความคิดเห็นและข้อมูลตลอดเวลา หากทุกคนหยุดเรียนรู้ ไม่เปิดกว้างฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้และปรับตัวไม่ได้ เจ็ด ผู้นำต้องเป็นธรรมชาติ มีเหตุผล ใช้เหตุและผลประมวลข้อดีข้อเสีย ถ้าผู้นำไม่ใช้เหตุผลพิจารณาก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ดี ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้รวมกันเป็นข้อที่แปด คือ คุณ เห็น บวก สร้าง คน รู้ ธรรม เมื่อรวมกันแล้วจะออกมาว่า คุณสร้างคน คุณเห็นคนดี ให้โอกาสคน คุณสร้างคนที่รู้ธรรม ก็คือรู้เหตุผล รู้หลักคุณธรรม คุณจะสร้างคนที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุดขึ้นมาได้
คุณศุภชัยบริหารชีวิตภายใต้ตารางเวลาที่ยุ่งมากอย่างไร
ต้องบริหารครอบครัว เราต้องเข้าใจกัน เวลาเจอหน้ากันก็อย่าคุยกันในเรื่องเครียดๆ ให้คุยแต่เรื่องที่มีความสุข ถ้าวันไหนเลิกงานเร็วควรจะไปออกกำลังกายบ้าง ก็จะช่วยทำให้เครียดน้อยลง นั่งสมาธิบ้าง หมายถึงคอยตามอารมณ์ของเรา อย่าปล่อยตามใจตัวเองให้สุด ถ้าหัดนั่งสมาธิเราก็จะแก้ปัญหาได้ เพราะเรามีปัญญา ถ้าตึงเกิน เราก็จะต้องรู้จักผ่อน บางคนอาจจะเลือกอ่านหนังสือหรือร้องเพลงก็ได้ การเล่นกีฬาเยอะๆ นอกจากจะได้เรื่องของสุขภาพแล้วเรายังได้ความสุขด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องมีแรงขับเคลื่อน เวลามีค่า แต่ถ้าเรามีอยู่แค่นี้ เราทำอะไรได้บ้าง เรามีสติปัญญาเราก็ทำตามความเหมาะสม มีโอกาสดีๆ ก็ทำให้มาก แต่อย่าทำให้เกินตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะพอดีแต่อย่างเดียวตลอดไป ค่อยๆ เติบโตทุกวัน ถ้าเราพัฒนา สร้างสรรค์ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราก็จะปรับตัวไปกับความพอดีกับขีดความสามารถของเรา แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็จะกลับมาที่เรื่องของคุณธรรม ถ้าทำอยู่บนความพอดีก็จะมีคุณธรรม มีคุณค่า
คำว่า “พอดี” ของบางคนก็ไม่เท่ากัน?
คำว่าพอดีก็คือไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความพอดีมันอยู่ตรงไหน ถ้าจะเปรียบเปรยก็เปรียบได้ว่า เราใส่เสื้อพอดีตัวหรือเปล่า เล็กไปก็คับ ใส่ไว้ทั้งวันคงอึดอัด แต่ถ้าใหญ่ไปก็หลวม เดินเกี่ยวโน่นเกี่ยวนี่สะดุดชายเสื้อตัวเองหกล้มอีกต่างหาก รัดเข็มขัดไม่แน่นกางเกงก็หลุดอีก เพราะฉะนั้นการที่เราทำอะไรไม่พอดีมันจะมีปัญหาตามมาเยอะ การจะทำชีวิตให้พอดีก็คือการรักษาสมดุล ทำอย่างไรให้เราไม่ล้มและเอนไปทางหนึ่งทางใด ถ้าเราสามารถรักษาสมดุลได้ เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความพอดี การรักษาสมดุลในชีวิตจะเป็นหลักที่นำพาชีวิตเกิดสุข ด้วยการทำสิ่งที่เป็นคุณ ทำในสิ่งที่เป็นความดี
เท่าที่ฟังดูรู้สึกว่าคุณศุภชัยตั้งมั่นในหลักธรรมะเพื่อการดำเนินชีวิต
ผมเชื่อมั่นว่าวิธีเดียวที่จะวัดคุณภาพและคุณค่าของชีวิตได้ คือการทำความดี เราได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเผยแผ่แก่เรา หลักธรรมคำสอนที่ลึกซึ้งเช่นนี้ทรงคุณค่ามาก เด็กและเยาวชนทุกคนควรมีโอกาสเรียนรู้คำสอนและสิ่งที่พระพุทธองค์ค้นพบ เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้แก่นแท้ของพุทธศาสนา และเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
มีคำแนะนำอะไรสำหรับเด็กและเยาวชนอีกไหมคะ
ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข เป็นสิ่งที่หาความดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข ต่อไปเราก็ทำให้เพื่อนๆ มีความสุข นี่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน พอคุณพ่อคุณแม่แก่แล้ว ทำงานไม่ไหว เราก็ต้องดูแล การที่เรารู้จักดูแลคุณพ่อคุณแม่นั่นคือความกตัญญู
เราทุกคนก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง เราเกิดจากที่ไหน ที่นั่นเป็นที่ให้เรากำเนิด เราเป็นต้นไม่ที่เติบใหญ่ได้ เราก็ต้องทดแทนคุณที่ให้โอกาสเรา ภาษาฝรั่งเขาบอกว่า เราเห็นหญ้าสนามข้างบ้านยังเขียวกว่าหญ้าสนามบ้านเรา แต่จริงๆ แล้วหญ้าที่สวยที่สุดอยู่ที่ครอบครัวเรา ด้วยความรักที่มีให้กัน