www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ปิติมา ทวีรัตนศิลป์ : ทุ่มสุดใจ คว้าชัยมาครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-01-10 11:38:25

 

ทุ่มสุดใจ คว้าชัยมาครอง

  • แนะนำตัวนักกีฬาคนเก่ง


 สวัสดีค่ะ  ปิ๊กเล้ง   ปิติมา ทวีรัตนศิลป์  นักกีฬาทีมชาติไทยประเภทยูโด   เพิ่งจบการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ อินโดนิเซียค่ะ  ได้รับเหรียญทองค่ะ  นอกจากนี้ยังเป็นผู้ฝึกสอนกีฬายูโดที่ศูนย์กีฬากรุงเทพมหานคร ไทย- ญี่ปุ่นดินแดงด้วยค่ะ

  • จุดเริ่มต้นของความสนใจในกีฬาประเภทนี้

ตอนแรกที่สนใจกีฬายูโด เพราะเป็นกีฬาประเภทต่อสู้  เป็นกีฬาที่ประชิดตัว จริงๆ แล้วตอนเริ่มเล่นไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักกีฬา  ต้องการเล่นเพื่อมีวิชา  เสน่ห์ของกีฬาประเภทนี้คือกีฬาที่มีความท้าทาย  ตอนแรกที่มองคือ คิดว่าทำไมคนหนึ่งคนสามารถทุ่มคนคนหนึ่งลงไปได้ เลยอยากเรียนรู้และอยากเข้ามาสัมผัส  หรือแม้กระทั่งใช้เท้าข้างเดียวปัดแล้วคนลอยมาทั้งตัวได้ขนาดนั้น และกีฬาประเภทนี้ยังแฝงไปด้วยความแข็งแรงและพละกำลัง

  • การฝึกฝนยูโดในช่วงแรกๆ ในฐานะมือใหม่ มีความยากง่ายอย่างไร

กีฬาทุกชนิดไม่มีความยาก ถ้าทุกๆ คนมีความตั้งใจ มีความพยายามและมีความรับผิดชอบ  เพื่อที่จะบรรลุถุงเป้าหมายสูงสุด  ถ้าหากเราต้องการไปให้ถึงระดับนักกีฬาทีมชาติ  หรือบางคนก็อาจจะเล่นเพื่อให้มีวิชา  ส่วนการเริ่มต้นนั้นทุกชนิดกีฬาจะต้องเริ่มต้นในสถานที่ที่ถูกต้อง  ถ้าเราเริ่มต้นอย่างถูกต้อง เราสามารถนำสิ่งที่เราเรียนรู้มาไปพัฒนาสู่จุดสูงสุดได้ต่อไป 

      * การแบ่งเวลาในการฝึกซ้อมและชีวิตในส่วนอื่นๆ เป็นอย่างไร

ในช่วงมัธยม ต้องแบ่งเวลา  คือหลังจากเรียนหนังสือเสร็จ ช่วงเย็นก็ต้องไปซ้อมยูโด พอเข้ามหาวิทยาลัยก็แบ่งเวลา เรียนก็คือเรียน ซ้อมก็คือซ้อม  ก็ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวทั้งหมด คือจะไปดูหนังกับเพื่อนไม่ได้ จะไปเที่ยวไม่ได้ เราก็ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการซ้อม  คนอื่นๆ อาจจะเอาเวลาไปเที่ยวหรือไปทำอย่างอื่น

  • เส้นทางที่ได้ฝ่าฟันจนถึงวันที่ได้ติดธงทีมชาติ  ความภูมิใจในฐานะนักกีฬาทีมชาติ

กว่าจะมาถึงวันนี้ บอกได้เลยว่าทั้งเหนื่อย ทั้งเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัวทั้งหมด  ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ภาคภูมิใจมาก ที่ทำหน้าที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ ติดธงที่หน้าอก และก็สามารถทำชื่อเสียงให้กับทีมชาติได้ และความภูมิใจอีกอย่างนึงคือ ในฐานะที่เราเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่ก็ทำงานประจำไปด้วย ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท (ทรู คอร์ปอเรชั่น) ให้ความอนุเคราะห์ และให้โอกาสลาไปเก็บตัวฝึกซ้อม ให้เราได้ไปเก็บเกี่ยวความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

  • บอกเล่าประสบการณ์การแข่งขันในระดับชาติ (กีฬาซีเกมส์) การเตรียมตัวแข่งขัน รับเหรียญทอง

ซีเกมส์คราวนี้มีระยะเวลาการเก็บตัวทั้งหมด 7 เดือน  ใน 6 เดือนจะเก็บตัวที่ประเทศไทย  ในช่วงเช้าจะตื่นขึ้นมาวิ่ง และทำกิจกรรมที่เสริมสร้างพละกำลัง  หลังจากนั้นก้เตรียมตัวมาทำงาน ตามเวลาออฟฟิศ  พอเลิกงานเสร็จก็เตรียมกลับไปซ้อม และเล่นเวท จนถึง 3 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้านก็ 4 ทุ่ม  ทานเข้าและเข้านอน และเตรียมตัวสำหรับวันถัดไปแบบนี้  จันทร์ถึงอาทิตย์ไม่มีวันหยุด

ในส่วนการเก็บตัวที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 เดือน ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น  มอบโอกาสให้ได้ลางานไปเก็บตัวเต็มๆ 1 เดือน  ตอนที่ไปเก็บตัวที่ญี่ปุ่น ก็จะซ้อมตั้งแต่เชาถึงเย็น  ตื่น 6 โมงเช้าก็วิ่ง แล้วมาเล่นเวท ประมาณ 9.00-12.00 น. แล้วก็ทานข้าวกลางวัน  14.00-16.00 น. ก็ซ้อมอีก หลังจากนั้นก็พักครู่หนึ่ง  และ18.00-20.00 น. ก็ซ้อมอีกครั้งและรับประมานอาหารเย็น แล้วเข้านอน 

  • แมตช์ในความทรงจำ

แมตช์แข่งขันในความทรงจำคือซีเกมส์ครั้งที่ 25 ประเทศลาว  ซึ่งเป็นการติดทีมชาติครั้งที่ 2  แต่สามารถทำเหรียญทองได้   ส่วนครั้งที่ 24 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดที่โคราช ทำได้แค่เหรียญเงิน  เพราะมีอการบาดเจ็บรุนแรงที่กล้ามเนื้อหลัง  เลยไม่สามารถทำการแข่งขันได้ดี  จนมาประสบความสำเร็จได้เหรียญทองในครั้งต่อมา  อีกแมตช์คือการแข่งขันระดับโลก ที่ผ่านไปเมื่อต้นปี 2554 ซึ่งได้ลำดับที่ 7 ของโลก ซึ่งก็ประทับใจเหมือนกันค่ะที่สามารถทำอันดับขึ้นไปถึงขนาดนั้นได้  นี่คือในส่วนของการเป็นนักกีฬา

แต่ในส่วนของการเป็นผู้ตัดสิน  ตอนนี้ก็เป็นกรรมการผู้ตัดสินระดับนานาชาติ  ที่ประทับใจก็คือได้รับเชิญไปตัดสินที่กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่กวางโจว  ปลายปี 2553  เป็นอีกความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับเอเชีย  หรือเอเชียนเกมส์

  • อธิบายลักษณะ ท่าทุ่ม ยูโนกาต้า ว่าแตกกต่างจากการเล่นยูดปกติอย่างไร  กฏ กติกา การได้แต้ม พิจารณาอย่างไร?

ท่าทุ่มมาตรฐานหญิง หรือ ยู โนกาตา  หลายคนก็คงจะสงสัยว่ามันคืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วท่าทุ่มมาตรฐานหญิง เป็นการประมวลท่าทุ่มท่าต่างๆ มา  และเป็นการจับคู่ของคนสองคน  แสดงท่าทุ่มที่ถูกต้องตามมาตรฐาน แฝงด้วยความอ่อนช้อย  มีพลัง และต้องแสดงอย่างสวยงาม กติกาในการแข่งขันคือ นักกีฬาคนใดสามารถแสดงท่าทุ่มได้อย่าถูกต้อง สวยงาม มีพลัง อ่อนช้อย สมบูรณ์หมด นักกีฬาคนนั้นก็จะได้คะแนนเยอะสุด การแข่งขันยูโประเภทนี้ จะมีทั้งหมด 15 ท่า ในแต่ละท่าจะแฝงไว้ด้วยความแข็งแรงของท่า บางท่าจะต้องยกคู่ค้างเอาไว้ ซึ่งจะเป็นการโชว์ความแข็งแรง  และบางท่าก็จะแสดงถึงความอ่อนช้อยและสวยงาม

  • อีกหนึ่งบทบาทหน้าที่สำคัญคือการสอนยูโดให้กับเยาวชน

ครั้งแรกที่เริ่มเล่นยูโด ได้เลือกที่ศูนย์กีฬากรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง  ตอนนั้นเดินเข้าไปที่ศูนย์ฯ พอเห็นกีฬายูโดแล้วรู้สึกชอบ แล้วหลังจากนั้นก็ได้เข้าไปสมัครเรียน  อาจารย์ที่สอนก็เป็นอาจารย์ที่มีปะสบการณ์ มีฝีมือ เก่งมาก  เป็นแชมป์ซีเกมส์หลายสมัย  หลังจากนั้นก็เข้าไปเรียนเรื่อยๆ มา จากที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักกีฬา  แต่ก็สะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนถึงได้มาเป็นนักกีฬา   หลังจากนั้นอาจารย์ที่สอนก็เริ่มให้รุ่นพี่ๆ และรวมถึงตัวปิ๊กเล้งเองเข้ามาสอนน้องๆ  

การสอนเด็กๆ ตอนแรกคนจะมองว่าสอนยาก แต่จริงๆ แล้วไม่ยาก เพราะเราจะต้องใส่ใจกับเด็ก  จะต้องรู้ว่าโดยนิสัยของเด็กคืออะไร  ซึ่งบางคนไปสอนเด็กโดยการยัดเยียด อย่างเด็กเล็กต่างกับเด็กโตตรงที่เด็กโตจะมีพัฒนาการที่ดีกว่า  เราจึงต้องค่อยๆ สอนเด็กเล็ก  ค่อยๆ ไปทีละขั้น ให้กำลังใจเขา  ว่าเก่งมาก เก่งมาก แล้วเขาจะมีพลัง  เพราะคิดว่าเขาทำได้แล้วเขาก็จะไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าเราบอกเขาว่าทำไม่ถูก ทำไม่สวยเลย เด้กก็จะเลิกเล่นไป ส่วนเด็กโตจะมีพัฒนาการทางร่างกายดีอยู่แล้ว  พอเราสอนไปเขาก็จะมีพัฒนาการดีกว่าเด็กเล็ก  พอสอนปุ๊บเค้าก็จะไปได้รวดเร็วมาก

  • เส้นทางกว่าจะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ

จากประสบการณ์ส่วนตัว  ไม่คิดที่จะเป็นนักกีฬาเลย  ที่เริ่มเข้ามาเล่นกีฬายูโด แต่แค่ต้องการจะมาออกกำลังกาย  เราเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็เลยอยากมีศิลปะป้องกันตัว  จากวันที่เริ่มเล่นก็ไม่คิดว่าจะไปได้ ผ่านไปประมาณ 4 เดือน  โค้ชก็ให้ไปแข่งคัดเลือกตัวของกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 11  ซึ่งปีนั้นเป็นปีแรกที่กีฬายูโดได้บรรจุเข้าไป  พอติดทีมเยาวชนกรุงเทพมหานครได้ 2 เดือน ก้ต้องไปแข่งจริง ที่จังหวัดสงขลา  ตอนนั้นก็คิดว่าเราติดแล้วนะ เพียงแค่เวลา 4 เดือน ที่เราเริ่มจาก 0 ก็เลยคิดว่า ต้องซ้อม และมุ่งมั่นซ้อม  พอถึงวันที่แข่งจริง รวมระยะเวลาทั้งหมดจากเริ่มเล่นก็เป็น 6 เดือน ตอนนั้นก็ตื่นเต้น เป้นครั้งแรกที่แข่งระดับใหญ่ๆ  ซึ่งก็คือกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ทุกๆ คนก็ไม่คิดว่าจะได้ เพราะเป็นมือใหม่มาก เพิ่งขึ้นมาเอง แต่วันนั้นก็ต่อสู้มาจนได้แชมป์ ก็เลยเป็นที่มาของความชอบหลังจากนั้น ก็เลยผันตัวมาเป็นนักกีฬา  และปีต่อๆ มาก็อยากจะรักษาแชมป์ จากเยาวชนแห่งชาติ ก็ขยับมาถึงกีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยรังสิต  เพราะเรานำผลงานการแข่งขันจากกีฬาเยาวชนและกีฬาแห่งชาติ เข้าไปสมัครเป็นนักกีฬาทุนดีเด่น  เลยได้ทุนเรียนตั้งแต่ปริญญาตรีและปริญญาโท   สิ่งที่ได้รับจากการเป็นนักกีฬาซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปคือ ความรับผิดชอบ  ซึ่งตรงนี้เป็นจุดพิสูจน์ว่าเราจะไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้หรือเปล่าและตรงนี้ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวของตัวเองอย่างมาก  จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

  • สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกีฬา   ความคิดเห็นของคำว่า “กีฬาสร้างคน” และ “น้ำใจนักกีฬา”  

กีฬาสร้างคนได้จริงๆ ค่ะ  จากแต่ก่อนที่ไม่เคยเล่นกีฬาเลย  แล้วก็เริ่มเข้ามาสัมผัส เริ่มเข้ามาเล่นอย่างจริงจัง  ผลพลอยได้อย่างหนึ่งคือ เราสามารถนำผลการแข่งขันเข้าไปสู่โควต้าของช้างเผือกของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีโครงการนี้เพื่อรับนักกีฬาเข้าไปเป็นนักศึกษา ตรงนี้ก็ถือว่าสร้างคนได้แล้วส่วนหนึ่ง  เพราะจากนักกีฬาแล้วสามารถเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนได้  นอกจากจะได้ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว  เราก็จะมีความสุข  มีอารมณ์ดี  ไม่ค่อยเจ็บป่วย

  • เคยรู้สึกท้อแท้หรืออยากหยุดเล่นบ้างไหม

ไม่เคยท้อ  ไม่เคยรู้สึกว่าอยากจะเลิกจากการเป็นนักกีฬา  เพราะว่าจากที่เริ่มต้นมา เรารู้ว่ามันดี ก็เลยเริ่มฝึกมาเรื่อยๆ  บางเวลาก็อาจจะมี เช่น ตอนที่ต้องเรียน ต้องสอบ  ต้องทำงาน ต้องเล่นยูโดไปด้วย ถึง ณ ตอนนั้นถ้าเป็นคนอื่นอาจจะท้อ อาจจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ตอนนั้นเราไม่  ก็พยายามแบ่งเวลา และเจียดเวลาให้ลงตัว  ในขณะที่คนอื่นๆ สามารถทำงานได้ตลอดเวลา แต่เราต้องแบ่งเวลาไปให้กับการเล่นกีฬาด้วย  เสียสละเวลาด้วย  ถ้าพูดถึงเรื่องท้อนี่ไม่ท้อค่ะ  เพราะถ้าเราต้องการจะเป็นแชมป์ เราจะต้องทุ่มเทกับมัน

  • เชิญชวนให้เยาวชนหันมาฝึกฝนกีฬาและเล่นกีฬายูโดกันมากขึ้น

กีฬาทุกชนิดดีหมด ขึ้นอยู่กับน้องๆ ว่าน้องๆ สนใจกีฬาด้านไหน แต่กีฬายุดดก็สามารถให้น้องๆ มีร่างกายที่แข็งแรง และสามารถนำไปป้องกันตัวเอง ถ้าหากมีภัยมา ซึ่งจริงๆ แล้ว ต้องขอสนับสนุนให้น้องๆ ทุกคนหันมาเล่นกีฬา ทุกชนิดได้เลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นยูโด ถ้าน้องๆ ยังไม่ทราบว่าตนเองสนใจกีฬาประเภทไหน ก็สามารถมาดูคลิปกีฬายูโดของพี่ได้ที่ทรูปลูกปัญญาดอทคอมนะคะ