อาจารย์ก้องเกียรติ บุญอินทร์ - โอกาสของชีวิตเพื่อศิษย์พระดาบส
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-12-15 16:21:54
โอกาสของชีวิต เพื่อศิษย์พระดาบส
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญที่สุดของชีวิต เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพและพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน จึงทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้ง โรงเรียนพระดาบส เพื่อมอบโอกาสให้กับผู้ยากไร้ได้มีวิชาความรู้และทำมาหาเลี้ยงตนเอง อาจารย์ก้องเกียรติ บุญอินทร์ รับผิดชอบหลักสูตรเตรียมช่างและการเกษตรพอเพียง คือผู้ที่เคยได้รับทุนจากโรงเรียนพระดาบส และกลายเป็นอาจารย์ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่เยาวชนรุ่นหลัง คือความภาคภูมิใจสูงสุดของศิษย์พระดาบสคนนี้
อ.ก้องเกียรติเข้ามาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนพระดาบสได้อย่างไร
ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาเป็นศิษย์พระดาบส เพื่อเข้ามารับโอกาส รับวิชาความรู้เพื่อจะออกไปประกอบอาชีพ เมื่อจบแล้วก็ได้ไปศึกษาต่อและหาประสบการณ์เพิ่มเติม และคิดได้ว่า วันหนึ่งที่เราเคยได้รับโอกาสจากที่แห่งนี้ เคยเป็นศิษย์ที่ขาดแคลนทุกๆ อย่าง แต่ตอนนี้เรามีความรู้ มีทุกๆ อย่าง เราควรจะกลับมาเป็นครูสอนที่นี่ ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ได้ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมอบให้กับศิษย์พระดาบสทุกๆ คน ด้วยการสอนวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์และรุ่นน้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาสืบต่อไปครับ
ความแตกต่างระหว่างชีวิตการเป็นนักเรียน และชีวิตการเป็นอาจารย์ ในโรงเรียนพระดาบส
จากที่เคยเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เดินเข้ามาในโรงเรียนพระดาบสเพื่อรับความรู้ และวิชา แต่วันนี้ได้มาเป็นครู ได้เป็นผู้ให้ ซึ่งต้องเกิดจากความเมตตา ด้วยใจที่ทุ่มเทจริง แม้ค่าตอบแทนจะไม่ได้มากมาย แต่ครูทุกๆ ท่านรวมถึงดาบสอาสา ซึ่งเป็นครูจากภายนอกที่มาสอนด้วยใจเมตตาก็มาด้วยความเต็มใจ นักเรียนของเราก็มาด้วยใจที่พร้อมจะรับการถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มร้อยเช่นกันครับ
ศิษย์พระดาบสต้องเรียนวิชาพื้นฐานใดบ้าง ก่อนจะแยกสาขา
การศึกษาในรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีความแตกต่างจากการศึกษาในโรงเรียนพระดาบส ตรงที่เราจะเน้นสอนเรื่องการปฏิบัติจริง เพื่อให้ศิษย์สามารถนำความรู้ความสามารถกลับไปใช้ได้ในชีวิตจริงหลังจากที่จบไปแล้ว ส่วนการศึกษาในหลักสูตรจะเน้นเรื่องวิชาการมากว่า
นักเรียนของโรงเรียนพระดาบส หรือศิษย์พระดาบสทุกๆ คน ที่เข้ามาใน 1 รุ่น จะมี 100 คน ใช้เวลาศึกษา 1 ปีเต็ม ก่อนที่จะแยกสาขาไปเรียนตามความถนัดและความสนใจทั้ง 8 หลักสูตร จะต้องผ่านการเรียนวิชาพื้นฐานคือหลักสูตรตรียมช่าง การเรียนวิชาช่างจะแยกเป็น 3 ส่วนคือ คือ 1. วิชาพื้นฐานช่าง 2.วิชาช่าง เช่นช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ และ 3. คือการฝึกงานในองค์กรหรือบริษัทภายนอกตามสาขาที่นักเรียนศึกษามา และระหว่างการศึกษาทั้ง 3 ส่วนนี้ ก็จะมีการสอดแทรกวิชาการความรู้พื้นฐานเช่นคุณธรรม จริธรรม ประวัติศาสตร์ การบริหาร การเงิน สอดแทรกเพิ่มเติมเข้าไป
การเรียนพื้นฐานเตรียมช่างนั้น นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนรู้ทึกษะพื้นฐานทางช่าง เช่นการใช้ตะไบ เพื่อฝึกความอดทน พื้นฐานงานไฟฟ้า เพื่อให้นักเรียนสามารถติดตั้งไฟฟ้าภายในบ้านได้ และเครื่องยนต์เล็ก เพื่อมให้เด็กสามารถดูและและซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กด้วยตัวเองได้ และจะเสริมทางด้านงานเชื่อมโลหะ งานไม้ งานปูน งานสุขภัณฑ์ วิชาเหล่านี้คือการเตรียมพื้ฯฐานด้านงานช่างให้กับนักเรียนทุกคนครับ
หลักสูตรเกษตรพอเพียง มีรูปแบบการเรียนการสอนเช่นใด เพื่อผลิตผู้เรียนสู่ระบบการเกษตรแบบใด
สำหรับหลักสูตรการเกษตรพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริได้ตั้งขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากว่าประเทศไทยของเราพบเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจ พระองค์จึงทรงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และนำหลักสูตรนี้มาเปิดเพื่อผลิตศิษย์พระดาบสทั้งด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ด้านพืช เน้นการเรียนด้านปฏิบัติ เพื่อให้ใช้งานได้จริง บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือเรียนรู้แล้วสามารถนำไปใช้จริงได้ที่บ้าน เพื่อให้ตนนั้นสามารถมีความสุขในความพอเพียงได้ก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยับขยายไปสู่การเป็นผู้นำชุมชน หรือเป็นตัวอย่างกับชุมชนในอนาคต
ประสบการณ์ที่ประทับใจในฐานะครูของโรงเรียนพระดาบส
หลังจากที่ผมเรียนจบแล้วออกไปศึกษาต่อ และได้ทำงานบริษัท ถ้าเปรียบเทียบกับการที่เราไปทำงานบริษัทมันทำให้เห็นเลยว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผมเป็นครู เทียบกับช่วงเวลาที่ผมทำงานอยู่ในโรงงาน จะมองเห็นจุดแตกต่างที่ชัดเลยคือ สมมติว่าเราอยู่โรงงานแล้วเราผลิตตู้สักหลัง โต๊ะสักตัว หรือเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นหนึ่ง ตามสายงานอุตสาหกรรมมันก็จะทำออกมาได้เลย แต่ในการที่เรามาเป็นครูที่โรงเรียนพระดาบส การที่เราจะผลิตเด็กที่อายุ 18-35 ปีสักคนหนึ่ง ให้สามารถจบออกมาเป็นช่างฝีมือ ให้เขามีวิชาชีพติดตัวและเป็นคนดีของสังคมได้ ตรงนี้ผมกลับรู้สึกภูมิใจกว่าที่วันนี้ทำงานตอนนี้เสร็จ แล้วตื่นตอนเช้าก็ลุกขึ้นมาทำงานอีกตัวใหม่ ผมว่างานสร้างคนเป็นงานที่ยากและท้าทายมากนะครับ แต่ก็เป็นงานที่ผมภูมิใจ เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสังคม
รุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของผมเอง เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด ฐานะยากจน อาศัยอบู่กับยาย ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้ เพราะว่าไม่มีเงิน วันหนึ่งเขาไปหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งจากถังขยะ แล้วเห็นข่าวว่าโรงเรียนพระดาบสเปิดสอนวิชาชีพ เลยสนใจและเขาก็ขอยายว่าจะมาสมัครเรียนที่นี่ ซึ่งตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่ากรุงเทพเป็นอย่างไร โรงเรียนพระดาบสอยู่ตรงไหนของกรุงเทพ มาถึงหมอชิตก็หลงทางนิดหน่อย แต่พอมาเจอโรงเรียนน้องเขาก็สมัครไว้ แล้วก็ได้แต่รอความหวังว่าโรงเรียนจะตอบรับกลับไปว่ารับเขาเป็นศิษย์หรือเปล่า ตอนนี้เขาก็เรียนจบแล้ว มีการมีงานทำและส่งตัวเองเรียนต่อตอนนนี้จบระดับปริญญาตรีแล้วได้ทำงานในสำนักสวนจิตรลดา พระราชวังสวนจิตรลดาแล้วครับ
ในฐานะของการเป็นครูในยุคที่มีสื่อทันสมัยหลายๆ อย่าง อาจารย์มีการปรับใช้ หรือนำสื่อใหม่ๆ อย่างความรู้ในอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการสอนอย่างไรบ้างคะ
สื่อสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการเรียนการสอนที่โรงเรียนพระดาบส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายวิชชาการปฏิบัติ ทางหลักสูตรทุกหลักสูตรของโรงเรียนพระดาบสพยายามจะปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ เมื่อเทโนโลยีเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องขยับขยายตัวเองตาม ครูที่นี่ทุกคนต้องไว ต้องทันต่อเทคโนโลยีโดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต เป็นอีกด้านหนึ่งที่ครูได้ค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติมนำไปฝึกฝนฝีมือแล้วกลับมาถ่ายทอดความรู้นั้นให้กับศิษย์ โชคดีที่สื่ออินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ไวขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถไปถึงต้นตอของวิชาการที่เราต้องการได้ไวกว่าเมื่อเทียบกับสมัยก่อน อย่างเช่นเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมก็มีแหล่งความรู้ด้านวิชาชีพที่เป็นประโยชน์มากในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งข้อมูลความรู้ที่ช่วยเรื่องการศึกษาของนักเรียนช่างได้มากทีเดียวเลยครับ