www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

ปราโมทย์ ไม้กลัด นายช่างผู้เดินตามรอยพระยุคลบาท
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-12-01 16:12:59

ปราโมทย์ ไม้กลัด
นายช่างผู้เดินตามรอยพระยุคลบาท

หากคุณเคยประทับใจไปกับภาพพระราชกรณียกิจการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมคุ้นตากับชายใส่แว่นทรงสี่เหลี่ยม รูปร่างสันทัด สวมชุดข้าราชการ ที่มักปรากฏตัวอยู่ไม่ห่างจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาคือ “นายช่างปราโมทย์” หรือ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ด้านวิศวกรรมชลประทาน ผู้ตามเสด็จและถวายคำปรึกษาด้านงานชลประทานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากว่า 30 ปี ปัจจุบันในวัย 71 ปี อาจารย์ปราโมทย์ยังคงทำงานเป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

การได้ใกล้ชิดและเห็นการทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์ปราโมทย์ ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพรับราชการเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ดังที่บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้จะได้ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจบางส่วนที่น้อยคนจะมีโอกาสรับรู้

เพราะอะไร อ.ปราโมทย์ ถึงมีความสนใจเรียนด้านวิศวกรรมชลประทานคะ
สมัยเรียนมัธยมผมชอบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ พอใกล้จะจบชั้น ม.8 ก็ทราบว่า ม.เกษตรศาสตร์มีคณะวิศวกรรมชลประทานที่เปิดสอบก่อน ผมก็ไปสอบ จุฬาลงกรณ์เปิดสอบวิศวกรรมโยธาก็ไปสอบ ปรากฏว่าสอบได้ดีทั้งคู่ ทำอย่างไรดี ก็ศึกษาว่าเราเรียนสร้างตึกสร้างอะไรเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปแล้ว แต่วิศวกรรมชลประทานมีผู้รู้น้อยมาก ประเทศไทยสมัย พ.ศ.2501-2503 มีเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเขื่อนขนาดยักษ์แห่งแรกของประเทศไทยกำลังจะสร้าง จึงต้องการวิศวกรชลประทาน ฉะนั้นก็เป็นการตัดสินใจถูก จบมาปุ๊บก็ถูกส่งไปทำงานที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทันที อยู่ที่แก่งกระจานก็เหมือนถูกตัดขาดจากกรุงเทพฯ เป็นนายช่างบ้านนอก ได้ทำงานสมศักดิ์ศรี งานนะ ไม่ใช่เงิน (ยิ้ม)

นายช่างบ้านนอกได้รับโอกาสรับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลได้อย่างไรคะ
ทางกรุงเทพฯ มีวิทยุบอกไปว่าให้เดินทางกลับมาพบอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ และคณบดีคณะวิศวกรรมชลประทานด่วน เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาโปรดเกล้าให้หาคนไปศึกษาด้านวิศวกรรมชลประทาน ทุนอานันทมหิดลในสมัยนั้นให้ความสำคัญกับประวัติความเป็นมาของบุคคลผู้นั้นมาก ก่อนจะได้รับพระราชทานทุนต้องผ่านด่านพอสมควร เราก็ทิ้งเรื่องวิชาการความรู้ทางทฤษฏีหมด มีการทดสอบด้านภาษา ครั้งแรกยังไม่ผ่าน ต้องไปเรียนกับครูตัวต่อตัวเป็นเวลา 1 เดือน ทั้งหมด 900 บาท เงินเดือน 1,200 บาท พอถึงเวลามีคณะกรรมการทดสอบ คราวนี้ผ่าน เริ่มเข้ากรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน 2506 กว่าจะสอบผ่านก็สิงหาคม 2507

เมื่อทราบว่าได้รับทุนฯ รู้สึกอย่างไรบ้าง
คราวนี้ถึงกระบวนการเข้าเฝ้า จำได้ว่าวันที่ 26 กรกฎาคม 2507 ความรู้สึกตอนนั้นยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง ในครั้งนั้นท่านพระชนมพรรษา 36 พรรษา ทรงหนุ่มมาก ผมอายุย่าง 24 ปี ท่านรับสั่งผมจำได้ตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมาคือ “ทุนของฉันไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับใครว่าจะต้องมาทำงานชดใช้กี่ปี ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อยากจะขอฝากให้มาทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม” พระราชดำรัสของพระองค์ท่านมีความหมายที่สุด ผมเป็นข้าราชการกรมชลประทาน ผมคิดอยู่เสมอตั้งแต่วันนั้นว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ท่านรับสั่งว่าอย่าไปเรียนเฉพาะในห้องเรียน ให้ไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ให้รู้ว่างานด้านน้ำของเมืองเรานั้นขาดอะไร ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาช่วยพัฒนาในเมืองไทย ผมเรียน 2 ปี ฝึกงาน 1 ปีกับกรมชลประทานในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่รัฐวอชิงตันภาคเหนือจนถึงแอริโซน่าภาคใต้ ก็ได้เรียนรู้มากมายเพราะงานชลประทานเป็นงานสนามไม่ใช่งานออฟฟิศอย่างเดียว พอกลับมาปี 2510 ผู้บังคับบัญชาก็มอบหมายงานเต็มเหยียดเพราะไม่มีคน รับตำแหน่งวิศวกรด้านวิชาการ ไม่ต้องลุยแล้ว เป็นหัวหน้าหน่วยออกแบบ ควบคุม กำกับ ในเชิงเทคนิคของโครงการชลประทาน

เริ่มเข้ามาถวายงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ทำงานมาจนเกือบ 10 ปี ระยะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานในชนบทมากขึ้นตามลำดับ ปี 2519-2520 กรมชลประทานมีงานสนองพระราชดำริมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาจึงเอาผมเข้าไปร่วมในทีมงานเทคนิค ไปตามหลังผู้ใหญ่ มีหน้าที่รับฟังเรื่องราวที่พระองค์ท่านรับสั่ง จุดนั้นจุดนี้จะทำอย่างไร ผมมีหน้าที่วางแผนทำรายงานโดยใช้แผนที่ประกอบเป็นรายงานหนึ่งชุด อธิบดีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวาย ผมไปทุกครั้งที่ท่านเสด็จทุกภาค ภาคเหนืออาจจะไปไม่บ่อยนักเพราะมีงานที่ต้องควบคุมเขื่อนขนาดใหญ่ที่กรุงเทพฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปเยอะ ภาคใต้ก็มีบ้าง ผมก็ต้องวิ่งไปวิ่งมาประมาณ 6 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคย จนกระทั่งปี 2527 ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอยู่ก็เจริญเติบโตขึ้น ผมจึงมารับผิดชอบเต็มที่ในภารกิจนี้ ในฐานะผู้แทนกรมชลประทาน รับสั่งมาแล้วจะทำงานออกมาเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จกลับกรุงเทพฯ จะต้องมีรายงานผลิตออกมาถวายให้ทันเป็นธรรมเนียม ปีไหนไม่ถวายท่านจะทวง เป็นความกระฉับกระเฉงของพระองค์ท่าน

พระองค์ท่านมักมีพระราชประสงค์ว่าจะเสด็จไปจุดนั้นจุดนี้ ผมก็ต้องรับมือ จึงเห็นได้ว่าทำไมมีภาพผมพัวพันอยู่ทุกกระบวนการ ภาคเหนือที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ 2 เดือน ท่านเสด็จออกตามแผนส่วนหนึ่ง เสด็จออกฉุกเฉินก็ส่วนหนึ่ง ผมกับพระองค์ท่านติดต่อกันทางวิทยุสื่อสาร ท่านทรงศึกษาข้อมูลมาก่อน มีฎีกาบ้าง ทรงทำงานทุกคืนที่พระตำหนักตามต่างจังหวัด คืนนั้นถ้าท่านตัดสินพระทัย วันรุ่งขึ้นบ่ายโมงท่านจะรับสั่งบอกตำแหน่งพิกัดในแผนที่เป็นตัวเลข แล้วเราก็ต้องจดไว้มาหาแผนที่แล้วพาไปให้ถูกต้อง ท่านทรงได้ข้อมูลจากประชาชน ความเดือดร้อนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นท่านพระราชทานพระราชดำริ บางทีก็ต้องถวายข้อมูลเพิ่มเติม สมมติที่พระองค์ท่านรับสั่งมันยังไม่ค่อยดีนัก มีอย่างอื่นดีกว่า นี่ก็คือทำไมผมกับท่านจึงประจันหน้ากันอยู่เสมอในสนาม

ไม่ทราบว่าในหลวงทรงเรียนด้านชลประทานมาหรือเปล่า เหตุใดจึงทรงมีพระอัจฉริยะภาพด้านนี้
หลังจากท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ท่านจะเสด็จต่างจังหวัดทุกพื้นที่ ทรงรับรู้ถึงปัญหาของเกษตรกรชนบทห่างไกลก็คือ ความยากจนแร้นแค้นเนื่องจากการประกอบอาชีพทางการเกษตรไม่สัมฤทธิ์ผล ขาดน้ำ ทรงเห็นด้วยสายพระเนตรของพระองค์เอง ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ขณะประทับแรมที่พระราชวังไกลกังวล ตอนบ่ายๆ ฉันจะขับรถขึ้นไปไร่สับปะรด ไปพบเกษตรกร เขาบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือถนนกับน้ำ ถนนนี่ทำง่าย แต่น้ำสิทำยาก นี่คือความสนพระทัยของพระองค์ จึงเกิดโครงการอ่างเก็บน้ำโครงการแรกที่บ้านเขาเต่า ข้างพระราชวังไกลกังวล และโครงการต่างๆ หลังจากนั้น เพราะความสนพระราชหฤทัยทำให้ทรงเรียนรู้ นี่สำคัญ ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้ทรงเรียนอะไรมาก่อน แต่ทรงศึกษาเรื่องอุทกวิทยา ชลศาสตร์ การแปรแผนที่ออกมาเป็นข้อมูลทางด้านน้ำ ทรงถามกับผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยก่อน ผมเข้าไปนี่ท่านทรงเก่งแล้ว พูดกันง่ายๆ อาจจะมีเรื่องเทคโนโลยีเขื่อนที่พระองค์ท่านยังลงไม่ลึก ผมก็ได้กราบบังคมทูล ถวายตำรา พระองค์ก็ทรงศึกษาเพิ่มเติมนะครับ เรื่องแผนที่ทรงชัดเจนแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกคราวจะทรงนำแผนที่ไป เพราะข้อมูลทุกเรื่องอยู่ในนั้น ภูมิประเทศ น้ำจะไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ตำบลนี้ที่ไหนสูงต่ำ เดินไปมองไม่ออก แต่แผนที่แปลออกมาเป็นมิติ สายน้ำเลี้ยวไปทางไหน ที่ไหนต้นทาง

พอจะสรุปหลักการทำงานของพระองค์ท่านให้ฟังได้ไหม
หลักการทำงานของพระองค์ท่านเป็นหลักการที่น่าสนใจมากครับ และถูกต้องตามกระบวนการชัดเจน หนึ่ง ก่อนทำอะไรจะทรงศึกษาสภาพปัญหา ต่อมาคือทรงหาข้อมูล 2 ลักษณะ คือการศึกษาจากแผนที่และเสด็จไปหาข้อมูลกับผู้คนเพิ่มเติม หลังจากนั้นจะทรงคิดว่าควรมีงานอะไร ลักษณะไหน ต้องสอดคล้องสภาพภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำ สภาพสังคม ได้จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ เราในฐานะเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับสนองพระราชดำริไปทำต่อ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าข้าอย่างเดียว ต้องดูให้เกิดความสมบูรณ์ ทุกคราวจะสั่งว่าเป็นแนวคิดนะ ไปคิดให้ดี คิดให้รอบคอบ หากคุ้มก็ทำ คุ้มคืออะไร ทำแล้วเกิดประโยชน์ แก้ไขความทุกข์ยากได้ ไม่ใช่ตอบแทนเป็นเรื่องเงิน เขามีน้ำ หน้าแล้งเพาะปลูกได้ เขามีความสุข พืชผลดีขึ้น อย่างนี้คือคุ้ม

อาจารย์ได้เรียนรู้อะไรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ้างคะ
ผมประทับใจในความเป็นนักเทคโนโลยี เป็นนักวิชาการและนักเทคนิคพร้อมเลยนะครับ ไม่ใช่เรื่องน้ำอย่างเดียว ปลูกป่า แก้ดิน ถึงไม่ใช่เทคนิคระดับลึกแต่ก็ชี้นำให้เกิดการขับเคลื่อน อย่างเรื่องป่า ทรงรับสั่งว่าป่านี่ไม่ต้องไปปลูกมันหรอก ทำอย่างไรจะให้ป่ามันเกิด ต้องจัดการด้านสังคม คนไม่ต้องไปยุ่งกับป่า ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ แล้วป่าจะพัฒนาขึ้นมาเอง พระราชทานพระราชดำริให้ทำกันแต่ทำไมไม่ทำผมก็ไม่ทราบ อย่างโครงการดอยตุงของสมเด็จย่า หลักของพระองค์คือให้ชาวไทยภูเขาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นที่ ให้เขาได้ประกอบอาชีพอยู่ในที่นั้นๆ ท่านทรงไปหาเขาถึงกระท่อม ทำไมจึงหยุดปลูกฝิ่นได้ เพราะพระองค์ไปทำความเข้าใจกับเขาไม่ใช่ไปจับ อบรมให้ความรู้ ให้ช่วยรักษาพื้นที่ สงเคราะห์ให้ปลูกกาแฟ หญ้าแฝกที่ฮือฮาเพราะใคร พระองค์ท่านได้รับเอกสารสำเนาเรื่องหญ้าแฝกจากธนาคารโลก แล้วพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ทำไมไปอ่านหนังสือเรื่องหญ้าแฝก ท่านอ่านแล้วว่าดีก็ทำสำเนาแจก ความที่ทรงสนพระทัยในทุกศาสตร์ เป็นทั้งนักเทคนิค นักวิชาการ ไม่ใช่นักบริหารกว้างๆ ทรงทำงานลึก ใครตอบคำถามเชยๆ จะทรงไล่เบี้ย สรุปแล้วผมก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน เราจะทำอะไรต้องเรียนรู้ รู้รอบ รู้ลึกในสิ่งต่างๆ

เวลาพักผ่อนท่านทรงโปรดทำอะไรเป็นพิเศษคะ
จะเห็นว่าท่านทรงสะพายกล้องไปตลอด นอกจากบันทึกภาพแล้ว เวลาว่างๆ อยู่กลางนา หน้าหนาวลมเย็นๆ พระอาทิตย์จะตกดิน ทรงมีพระอารมณ์ขัน เอ้า นายช่างมาถ่ายรูปหน่อย เดี๋ยวเราจะถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกดินเป็นพยานว่าทำงานกันมืดๆ ทหารเอาปืนมาไขว้ ท่านก็เอากล้องวางพาดถ่ายพระอาทิตย์ตกดิน ท่านโปรดถ่ายย้อนแสงมาก

เรื่องราวความประทับใจระหว่างการถวายงานกับพระองค์ท่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความมุ่งมั่นตั้งพระทัยในการขจัดความทุกข์ยากของผู้คนในชนบทไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เมื่อพระองค์ท่านทรงรับรู้สภาพความทุกข์ยากโดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน จะทรงเป็นห่วงเป็นใย ทรงเก็บเข้ามาในพระทัย หากไม่สามารถเสด็จไปหาเขาได้ก็จะมอบหมาย ในฐานะที่ผมเองทำงานถวายพระองค์ท่านก็เกิดความประทับใจและเทิดทูนว่า ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงช่วยเหลือพสกนิกรของท่านโดยไม่เลือกสถานะ ไม่เคยทรงบ่นถึงความยากลำบากปริออกมาจากพระโอษฐ์ แดดร้อน ฝุ่นเยอะ ถนนยากลำบาก ผมเห็นพระองค์ท่านแบบนี้มา ผู้บังคับบัญชาเราหรือข้าราชการรอบข้างไม่เห็นมีใครเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มันไม่ใช่ความประทับใจฉาบฉวย

สิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ควรจะเรียนรู้จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อยากให้เด็กและเยาวชนได้ตามรอยพระยุคลบาท พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายความว่าเรียนรู้ เข้าใจ และทำตาม พระราชจริยวัตรเรื่องการทรงงานสำคัญ แม้แต่เยาวชนท่านก็สอนให้ทำงานแบบปิดทองหลังพระ ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อให้ เยาวชนถ้าตระหนักเรื่องนี้จะเกิดประโยชน์ เวลานี้สังคมทำงานเพื่อตนเองเพื่อครอบครัวแต่เราต้องทำงานเพื่อให้

การต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค มีความอดทนกับทุกเรื่องทุกราว อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านอยู่ในระดับสูงสุด ท่านไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้ แต่ทรงทำด้วยความสนุกสนาน ด้วยความอดทนต่อความยากลำบาก ก็เหมือนบุคคลธรรมดา แม้กระทั่งการประกอบอาชีพก็ต้องมีวิริยะอุตสาหะ ท่านก็ทรงต่อสู้กับสภาพธรรมชาติ ปัญหา อุปสรรค

ทรงเป็นผู้รู้รอบในทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่พระองค์ไม่ทรงมีโอกาสทางการศึกษา เพราะต้องมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องหยุด แต่ทำอย่างไรจึงพัฒนาออกมาเป็นผู้รอบรู้รู้รอบ เมื่อเยาวชนมีโอกาสในการเรียนรู้อยู่แล้ว รู้รอบรอบรู้ทำได้ง่ายขึ้นใช่ไหม ท่านทรงฝึกฝนพึ่งพาตนเอง ทุกคนน่าจะเป็นอย่างนี้