ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ยาของคนยากแห่งแอฟริกา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-09-16 14:23:53
ฉายา “เภสัชกรยิปซี” ที่ต่างชาติตั้งให้ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ สามารถบอกเล่าถึงชีวิตที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เพราะต้องเดินทางไปทั่วทวีปแอฟริกาเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตยาแก่คนท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดโอกาสให้ได้รับยาคุณภาพดีราคาถูกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะยารักษาโรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคที่มีผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกามากที่สุด ความทุ่มเทเสียสละในวิชาชีพโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ และการเป็นต้นแบบของเภสัชกรในอุดมคติที่หวังเพียงให้เพื่อนมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดร.กฤษณา จึงเปรียบได้กับ “ยาวิเศษ” ของผู้ป่วยยากไร้และของแวดวงเภสัชกรรมนานาชาติ
ย้อนไปในวัยเรียน อะไรจุดประกายให้ ดร.กฤษณา เลือกศึกษาด้านเภสัชศาสตร์คะ
พื้นเพเราเป็นคนเกาะสมุย พ่อเป็นหมอ แม่เป็นพยาบาล คุณตาเป็นหมอแผนโบราณ คุณยายเป็นแม่ชี เราอยู่ในแวดวงนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็มาเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้อยากเรียนเภสัชฯ เท่าไหร่หรอก อยากเรียนทางศิลป์มากกว่า เพราะเราก็ชอบดนตรี ละคร อะไรต่างๆ แต่ที่บ้านก็ทิศทางนี้ พอเรียนจบ (ปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ ม.สตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี ม.บาธ ประเทศอังกฤษ) ก็กลับมาเป็นอาจารย์อยู่ ม.สงขลานครินทร์ 2 ปี จึงมาทำงานอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม
ทำไมจึงสนใจค้นคว้าเรื่องยาต้านเอดส์เป็นพิเศษคะ
เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเอดส์อยู่เยอะพอสมควร แล้วก็มีคนจำนวนน้อยมากที่จะเข้าถึงยาได้ กลุ่มคนที่มีปัญหาคือแม่และเด็ก ผู้หญิงที่ติดเชื่อจากสามี และเด็กที่ติดเชื้อจากแม่ พวกเขาไม่มีทางเลือกและถูกมองว่าเป็นคนเลว เราก็เลยคิดว่าจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คือสิ่งที่จุดประกายให้เราทำยาต้านเอดส์ ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาต้านเอดส์เป็นยาชื่อสามัญและมีราคาถูกได้เป็นประเทศแรกในปี พ.ศ. 2538
มีจุดพลิกผันอะไรจึงเสียสละตนเองไปช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ที่ทวีปแอฟริกา
เมื่อรู้ว่าไทยสามารถทำยาต้านเอดส์ได้ นักการเมืองก็อยากให้ประเทศไทยและตัวเองมีชื่อเสียง เขาไปประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลกว่า ประเทศไทยจะช่วยเหลือประเทศแถบแอฟริกาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาต้านเอดส์ แต่ก็ไม่ได้ทำตามนั้น เราในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นคนเขียนโครงการช่วยเหลือ ก็คิดว่าเราควรจะรับผิดชอบในคำสัญญาถึงแม้ตัวเองจะไม่ได้สัญญา เลยลาออกแล้วเดินทางไปแอฟริกา จริงๆ ก็ไม่ได้มีอุดมคติอะไรมากมาย เราทำหน้าที่ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะทำ คือช่วยเหลือคนอื่นเมื่อมีโอกาส นี่เป็นคำสอนของคุณยายตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้เสียสละอะไร ไม่ได้ถูกบังคับ แต่เราทำเพราะอยากทำ ถ้าเราได้ช่วยคนสักคนหนึ่งก็ไม่เสียชาติเกิด พอไปอยู่ก็มีความสุขกว่าอยู่ที่เมืองไทยด้วยซ้ำ เพราะว่าตัวเองมีคุณค่าสำหรับคนหลายคน
ครอบครัวเป็นต้นแบบให้มีแนวคิดแบบนี้หรือเปล่าคะ
คงมีหลายคนที่หล่อหลอมให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ ตอนนั้นเกาะสมุยไม่มีหมอเลย พ่อเป็นหมอคนแรกที่อยู่บนเกาะ คุณตานอกจากจะเป็นหมอแผนโบราณยังเป็นปลัดอำเภอของเกาะสมุย มันก็เหมือนกับเราอยู่ในสังคมที่ช่วยเหลือคนอื่นตั้งแต่เด็กๆ แล้วคุณยายเป็นแม่ชี เราก็ได้เข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ ถึงแม้เราจะไม่รู้เรื่องหรอกค่ะ อย่างที่คุณยายสอนว่าให้ทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส ลูกโชคดีกว่าคนอื่น พอลูกมีโอกาสก็ต้องช่วยเหลือคนอื่น ตอนนั้นฟังไม่รู้เรื่องนะคะ แต่โตขึ้นก็รู้หมด การปลูกฝังเด็กๆ ให้เขามีจิตสาธารณะจึงจำเป็นตั้งแต่เล็ก เรามาสอนตอนมหาวิทยาลัยหรือตอนเรียนจบไม่มีประโยชน์ เพราะเหมือนถูกบังคับให้ทำ
ช่วยเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือชาวแอฟริกันในหลายประเทศ
ทวีปแอฟริกามีทั้งหมด 54 ประเทศ ที่ทำไปแล้ว 16 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกเป็นอับดับหนึ่ง จนถึงอันดับสี่ เราจะเลือกประเทศด้อยพัฒนาที่มีรายได้ประชาชาติต่ำมาก ต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี บ้านเรา 3,000-4,000 เหรียญ เราทำงานของเราเองก็ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องให้คนโน้นคนนี้สั่งถึงทำ แต่เดิมออกจากประเทศไทยใหม่ๆ ก็ได้ทำงานขององค์กรนานาชาติของยุโรป แต่รู้สึกว่าเราทำตามที่เขาบอกให้ทำ ซึ่งบางทีอาจไม่จำเป็นสำหรับประเทศนั้น เลยคิดว่าเราเป็นอิสระดีกว่า เพราะว่าเราพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ พอจะเดินทางไปไหนโดยไม่ต้องของบประมาณจากใคร ปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้วที่ทำโครงการส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ
นอกจากยาสำหรับโรคเอดส์ ดร.กฤษณา คิดค้นยาอะไรอีกบ้างคะ
เราผลิตยาตามความต้องการหรือความเร่งด่วนของปัญหามากกว่า ยาเอดส์ได้รับการพัฒนาที่เมืองไทยมาแล้ว เราใช้การถ่ายทอดให้คนท้องถิ่นทำยาเป็น ไม่ต้องไปซื้อยาจากที่อื่น หรืออาจจะเริ่มต้นไปสร้างโรงงานให้เขาด้วยซ้ำในบางที่ ยาที่เป็นปัญหาของเขาจริงๆ ไม่ใช่ยาเอดส์ คนแอฟริกันตายด้วยโรคมาลาเรียมากกว่าเอดส์ แต่ละปีมีคนตายด้วยโรคมาลาเรียปีละ 2 ล้านคน ตายด้วยโรคเอดส์แค่ 1 ล้านคนเท่านั้น จึงจำเป็นที่เราต้องช่วยทำยามาลาเรียให้เขาด้วย บังเอิญตอนเมืองไทยเคยวิจัยยาต้านมาลาเรียจากสมุนไพรจีนตัวหนึ่ง เลยได้ใช้ความรู้นี้ไปช่วยเหลือ
แต่ละประเทศที่ไปมีเภสัชกรเพียงพอไหมคะ
เนื่องจากไปทำงานในประเทศที่ด้อยพัฒนามากเพราะฉะนั้นก็เริ่มต้นจากศูนย์ คนที่มีความสามารถจริงๆ ในประเทศเหล่านั้น เขาก็จะไปอยู่ในประเทศอื่น ไปอยู่ยุโรป อเมริกา ไปทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ไม่กลับประเทศตัวเอง เราก็เป็นจุดเล็กๆ ที่ไปช่วยสร้างให้คนมีความรู้ความสามารถ ยกตัวอย่างประเทศโมซัมบีคที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ประเทศมีประชากร 22 ล้านคน มีเภสัชกรทั้งประเทศแค่ 80 คน มีเภสัชกรรุ่นแรกที่จบมาเกือบ 10 ปีแค่ 3 คน ฉะนั้นไม่มีนักวิจัยหรอก เราก็ไปเริ่มงานกับใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกร ทุกคนก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ บางที่เราก็ต้องดัดแปลงเพื่อทำยาให้ได้ในสภาวะที่ขาดแคลน (รวมถึงวัตถุดิบ?) วัตถุดิบใช้จากประเทศจีน ตัวเองเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นเลยได้ซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกมาก บางที่จีนก็บริจาคเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตยามาให้ด้วย
ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะจบโครงการในแต่ละประเทศ
แล้วแต่ ประเทศแทนซาเนียทำอยู่ 5 ปีกว่าจะเสร็จ แต่ว่าไม่ใช่ทำที่เดียวแล้วรออยู่อย่างนั้น ระหว่างนั้นก็เดินทางไปทำที่ประเทศนั้นประเทศนี้ทั่วไปหมด ที่นานที่สุดคือ 5 ปี บางประเทศพอทำเสร็จแล้วเขาบอกไม่เอา ใช้ยานำเข้ามาดีกว่า เราก็ต้องมาทำใหม่ เลยบอกเวลาแน่นอนไม่ได้และต้องทำแบบอิสระ
ดร.กฤษณา เรียนรู้อะไรจากการเดินทางไปแอฟริกาและการทำงานเพื่อมนุษยธรรมคะ
เรียนรู้หลายอย่าง อย่างน้อยทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีความสุขง่าย เข้าหาธรรมะได้ง่ายขึ้น พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี เราไปอยู่กับคนจนอย่าคิดว่าเขาจนแล้วจะมีความทุกข์ เรามีความทุกข์มากกว่าเพราะยึดติดกับวัตถุมากเกินไป พอไปอยู่ที่นั่นเหมือนเป็นการไปปฏิบัติธรรม เหมือนไปเข้าค่ายอะไรอย่างนั้น รู้สึกตัวเองโชคดี แล้วคิดว่าจะเอาอะไรกันนักหนา เรามีชีวิตอยู่วันหนึ่งก็พอแล้ว เราก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง
รู้สึกคิดถึงบ้าน เหงา หรือเหนื่อยบ้างไหมคะ
เคยจากบ้านมาตั้งแต่เด็กๆ มาอยู่โรงเรียนประจำที่กรุงเทพฯ เนื่องจากสมัยก่อนเกาะเสม็ดไม่มีโรงเรียน การไกลบ้านจึงเป็นเรื่องปกติ การปรับตัวเข้ากับคนก็เป็นเรื่องปกติเพราะเราไม่ได้อยู่ที่บ้านเรา ส่วนนี้อาจทำให้เราอยู่ที่นั่นโดยไม่รู้สึกอะไรมากมาย ถ้าจะถามว่าคิดถึงบ้านไหมก็คงคิดถึงแต่ไม่ทรมาน ถามว่าเหนื่อยไหม ไม่เหนื่อยหรอกค่ะ ก็ทำไปเรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยเมื่อไหร่ก็หยุด เย็นเราก็นอนตื่นขึ้นมาก็หาย
เรื่องการดำเนินชีวิตที่ไม่สะดวกสบายล่ะคะ
ไม่มีในสิ่งที่เรามี ไม่ต้องพูดถึงแอร์ ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ก็อยู่ลำบากแต่ก็ไม่ได้อยู่อย่างนั้นตลอดไป เราคิดว่าพวกเขาลำบากกว่าเราตั้งเยอะ เขาต้องอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต แต่เราอยู่แค่ไม่กี่วัน อย่างดีก็เป็นเดือน พอเราทำยาเสร็จเราก็กลับไปอยู่สภาพเดิมที่เราสบายๆ อาหารไทยก็ไม่เคยคิดถึงเพราะไม่มีให้กินอยู่แล้ว อาหารจีนก็ไม่มี มีแต่อาหารท้องถิ่นของเขา อยู่ที่นั่นมาเข้าปีที่ 9 มีความสุขมากกว่าเดิม หาความสุขได้ง่าย ไม่ค่อยสร้างเงื่อนไขให้ตัวเอง ไม่ค่อยสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง อะไรก็ได้ไม่เดือนร้อน
หลายสิบปีที่มุ่งมั่นทำงานจนได้รางวัลเกียรติคุณมากมาย ดร.กฤษณา มีเป้าหมายสูงสุดคืออะไรคะ
เป้าหมายมีไปวันๆ เท่านั้นเอง คือวันหนึ่งได้อะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จอะไร ความสำเร็จอยู่ที่ไหนไม่รู้ เราแค่เกิดมาก็ต้องทำหน้าที่ ไม่เคยคิดว่าจะต้องได้รางวัล ไม่ได้รู้สึกดีใจตื่นเต้นกับรางวัลที่ได้รับ อันนี้เป็นมานานแล้วตั้งแต่เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี-โท-เอก ไม่เคยไปรับปริญญาสักใบ คนเราจะมีคุณค่าอยู่ที่การกระทำไม่ใช่ปริญญา แต่ก็ขอบคุณที่เขาเห็นคุณค่าเรา ปีที่ได้รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 ปีนั้นได้รับรางวัล 19 รางวัล บางรางวัลก็ส่งคนอื่นไปรับแทนเพราะไปไม่ไหว ต้องเดินทาง งานก็ต้องทำ ทุกรางวัลก็ส่งกลับบ้านไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง
ตั้งใจจะเกษียณอายุตัวเองเมื่อไหร่คะ
อายุเป็นการสมมติทั้งนั้น วันจันทร์ถึงอาทิตย์ก็สมมติ กลางวันกลางคืนก็สมมติ ทำไมจะต้องบอกว่าเราหยุดเมื่ออายุ 60 ถ้ายังมีแรงทำได้ก็จะทำ เมื่อไหร่ไม่มีแรงจะทำแล้วก็หยุด เวลามีใครมาถามว่าเมื่อไหร่จะหยุดไปแอฟริกา เราบอกว่า “เมื่อฉันขึ้นเครื่องบินไม่ได้”
นอกจากงานด้านเภสัชกรรม ดร.กฤษณา ยังเป็นอาจารย์พิเศษด้วย
เป็นอาจารย์เกือบทุกแห่ง ไปเป็นคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต เพราะเป็นเพื่อนกับ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ท่านขอให้ไปช่วยกำหนดทิศทางให้น้องๆ อาจารย์ที่นั่น ไม่ได้รับเงินเดือนแต่อยากไปช่วยเด็กๆ ที่กำลังเรียนเภสัชศาสตร์อยู่ เผื่อว่าเขาจะได้ตัวอย่างที่ดี ไปสอนหนังสืออยู่ประเทศจีนด้วย เมื่อไหร่ที่ได้กลับมาประเทศไทยก็ไปช่วยงานอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สอนให้เขาปลูกสมุนไพรเพื่อให้ส่งมาที่โรงงาน เราไปตั้งโรงงานไว้ที่ ม.สงขลานครินทร์ โรงงานนี้จะผลิตยาสามัญประจำบ้านจากสมุนไพรโดยใช้วัตถุดิบที่ส่วนใหญ่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่ก็อีกล่ะ ไปเป็นอาสาสมัคร ปีนี้ปีที่ 2 แล้ว
คนมองว่าเภสัชกรไม่อยู่ในห้องแล็บก็ไปขายยา คิดว่าเภสัชกรต้องเป็นอย่างไรคะ
จะพยายามบอกว่าเขาเป็นได้มากกว่านั้น เขาเสียสละได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เขาควรจะลดวัตถุนิยมลง ไม่ควรเอาป้ายชื่อไปแขวนเพื่อรับเงินเดือน เราก็ทำเท่าที่จะทำได้ จะได้แค่ไหนก็แล้วแต่เด็กที่จะรับ ไม่ได้เกิดความทุกข์ว่าถ้าเขาไม่เป็นตามที่เราหวังมันก็ช่วยไม่ได้ ก็ตั้งใจว่าจะใช้เงินส่วนหนึ่งในกองทุน (กองทุน ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์) พานักศึกษาเภสัชฯ ไปดูสภาพในแอฟริกาว่าเป็นอย่างไร เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาจบมาโดยไม่คิดแค่จะทำเงินมากมาย
คนไทยควรปรับทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้ออย่างไรบ้างคะ
จริงๆ บ้านเราโชคดีกว่าเมื่อเทียบกับแอฟริกา ถ้าใครติดเชื้อจะถูกแปลกแยกจากสังคมและถูกทอดทิ้งทันที บ้านเรายังยอมรับในระดับหนึ่ง ผู้ติดเชื้อยังไปไหนมาไหนได้ ความรู้สึกว่าตัวเองแย่หรือถูกรังเกียจก็ไม่มีเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้โรคเอดส์มียารักษา ประเทศเราให้ยากับผู้ป่วยฟรีด้วย คนที่เป็นไม่ตายแต่ต้องทานยาไปตลอดชีวิตเหมือนคนเป็นเบาหวานหรือความดัน แต่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีโรคอื่นๆ แทรกซ้อน เช่น มะเร็งตามอวัยวะต่างๆ มะเร็งผิวหนัง วัณโรคก็ต้องระวังมากขึ้นเพราะสามารถติดโดยทางอากาศ เราก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง อย่างไรก็ตามอยากบอกว่าผู้ติดเชื้อไม่ใช่ทุกคนเป็นคนเลว ผู้หญิงติดมาจากสามีโดยไม่เต็มใจ เด็กที่ติดมาจากแม่ซึ่งทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเขาเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนอีกชั้นหนึ่งแล้วต้องแยกจากพวกเรา เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเขา