www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

วรรณแวว + ธนีดา = วัยว้าวุ่น...หว่าเว้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-11-05 16:00:26

เรื่องและภาพ: นฤมล อารีสินพิทักษ์
 

วรรณแวว + ธนีดา = วัยว้าวุ่น...หว่าเว้

วรรณ - วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ // โลกกว้าง ช่างฝัน ชอบลอง // กุ๊ก - ธนีดา หาญทวีวัฒนา // ครุ่นคิด สดใส ใส่ใจรายละเอียด // สองสาวนิเทศฯ จุฬาฯ จับพลัดจับผลูมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง ของขวัญ-สไปรท์-หมอก-เต้ย ตัวละครหลักซีรีย์ดัง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ควงแขนกันมาบอกเล่าเบื้องลึกของการเขียนบทละครครั้งแรกในชีวิต!

 


มือใหม่รับงานใหญ่ เขียนบทครั้งแรก
วรรณ – ตั้งแต่เรียนจบภาพยนตร์มาก็คิดว่า เฮ้ย!เราอยากทำงานเขียนบทที่สุดแล้วล่ะ มันดูน่าจะเหมาะกับเรา แต่ว่าก็ถอดใจมาตั้งแต่จบใหม่ ๆ เลย เราไปสมัครแล้วมันเฟล ก็เลยไม่ได้คิดถึงอาชีพนี้อีก หลังจากเรียนโทกลับมาก็ตั้งใจว่าทำอะไรก็ได้แล้วล่ะที่เกี่ยวกับหนังหรืองานภาพเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ พอดีเหมือนโอกาสเหมาะ หรือดวงหรืออะไรไม่รู้ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) ก็ชวนมาทำ ตอนแรกปิงบอกว่ามันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กแรง ๆ ซึ่งเราก็...ปิงชวนเราเหรอ เราเป็นเด็กเรียบร้อยนะ (หัวเราะ)
กุ๊ก – คือตอนนั้นรู้สึกว่าอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการทำหนัง เราอยากทำ แต่เรามีงานประจำอยู่แล้วที่เราไม่สามารถจะมาออกกองฯ ได้ เพราะโปรดักชันเวลาทำหนังมันก็คือยาวนาน แล้วก็ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ มันไม่ค่อยมีใครให้ทำงานเหล่านี้อ่ะค่ะ ถ้าโอกาสนี้มาถึงก็รู้สึกแบบมันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าเราจะตัดสินใจทำ งานเขียนบทก็เป็นงานที่เราสนใจอยู่แล้ว สมัยเรียนก็ชอบเขียนบทอยู่แล้ว ก็เลยรับทำเลยไม่รีรอ

 


คนที่ชวนเขาเห็นอะไรในตัวเรา
วรรณ – ของวรรณเหมือนมีดีเทล์นิดนึง ตอนที่ปิงชวนอ่ะค่ะ ที่บอกว่าเป็นเรื่องของเด็กแรง ๆ คือปิงชวนแล้วปิงก็หายไป (ขำ) แล้วปิงก็กลับมาชวนทำอีกโปรเจ็คต์หนึ่ง ทำครีเอทีฟรายการเรียลลิตี้ของนาดาวแต่งานมันหยุดกลาทาง ด้วยจุดนั้นมั๊งคะที่อาจทำให้ที่พี่ย้งเห็นแล้วว่าเราเป็นประมาณนี้ ก็เลยชวนมาทำฮอร์โมนอีกรอบ ตอนนั้นที่โปรเจ็คต์นั้นมันเลิกไปเราเสียดายมากเลย แบบนาน ๆ ทีจะได้ทำงานกับพี่ย้ง กับนาดาว กับจีทีเอช แล้วก็ไปดูดวง (ฮา) ว่าจะได้ทำงานกับที่นี่อีกไหม หมอดูเขาก็บอกว่าจะได้ทำอีกนะ แล้วพี่แท้ดโปรดิวเซอร์ก็โทรมาให้ไปทำฮอร์โมนค่ะ
กุ๊ก – เคยถามพี่ย้งว่า พี่ย้งกล้าได้ยังไงให้คนที่ไม่เคยทำเลยมาทำ พี่ย้งบอก...พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เห็นปิงบอกกุ๊กทำได้ เราก็เลยเอาใหม่ไปถามปิง...ปิงเห็นอะไรในตัวเราเหรอ? เราไม่ได้ทำอะไรพวกนี้มาตั้งนานแล้ว ปิงก็บอกตอนพี่กุ๊กอยู่ที่มหา’ลัยพี่กุ๊กก็เคยกำกับละครเวทีนะ เขียนบทละครเวทีนะ เคยทำหนังตอนจบ ลองมาทำมั๊ย ตอนนี้มีโอกาสแล้วเลยลองชวนมาดู โอกาสคือตอนนั้นเขาอยากได้ทีมเขียนบทที่เป็นผู้หญิงเพิ่ม


ต้องทำการบ้านเยอะไหม
กุ๊ก – ถ้าในแง่การเขียนบท เหมือนในทีม 5 คน คนที่มีประสบการณ์เขียนบทหนังจริง ๆ ก็มีแค่ปิงกับพี่โจ้ที่เขียนเรื่องปิดเทอมใหญ่ ที่เหลืออีกสามคนไม่เคยเขียนเลย เพราะฉะนั้นในทีมด้วยกันก็จะมีพี่ย้งที่คอยดูสิ่งที่พวกเราทำว่ามันโอเคหรือยัง แต่ทุกคนก็ไม่เคยเขียนบทซีรีย์มาก่อนเลย ฉะนั้นมันจะเหมือนการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันค่อนข้างเยอะ ส่วนวัตถุดิบตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาใช้สำหรับอะไร ไม่เคยมีใครเห็นภาพนี้มาก่อน เราก็มั่ว ๆ ไปด้วยกัน ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน พอเขียนไปถ้ามันไม่เวิร์ค โอเคทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามันไม่เวิร์ค พี่ย้งว่าอันนี้ต้องปรับนะ โอเคก็ช่วยกันหมดเลย มันก็เลยจะว่าทำงานหนักก็น่าจะหนักกันทุกคนพอ ๆ กัน


ความเป็นตัวเราในตัวละคร
วรรณ – เราจะได้เลือกตัวละครในความรับผิดชอบ แต่ละคนก็จะพยายามเลือกตัวที่มี relate กับตัวเองในทางใดทางหนึ่ง ประสบการณ์ที่เป็นเรื่องส่วนตัวมันจะถูกเอามาแชร์กันบนโต๊ะ แล้วมันจะถูกเอาไปใช้แบบดัดแปลงนิดหนึ่ง มันก็จะไม่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวอะไรขนาดนั้น (วรรณก็ไม่ใช่ขวัญ) วรรณเขียนเต้ยกับหมอก ในซีซัน 1 กับ 2
กุ๊ก – เป็นขวัญกับสไปร์ท ในซีซั่น 1 กับ 2 ได้ตัวละครคนละขั้วกัน เฉพาะฉะนั้นมันก็จะไม่ใช่อะไรที่มัน personal มาก และไม่ได้เป็นตัวเราทั้งหมด
วรรณ – บางทีก็แบบไม่ใช่ประสบการณ์ตรงของเรา แต่แบบไปเอาเรื่องของเพื่อนมา ผสม ๆ กัน


งานเขียนบทต่างกับงานเขียนอื่นอย่างไร
วรรณ – อย่างวรรณเขียนหนังสือก็จะเป็นฟิลแมกกกาซีน มีสัมภาษณ์ มีเรียบเรียงประเด็น มันก็ต่างแต่ว่ามันก็เหมือน คืออาจจะต่างกันในแง่การใช้ภาษา เราอาจไม่ต้องมีสำนวนที่สวยงามมาก แต่ว่าเราต้องเขียนให้เห็นภาพ ให้คนอื่นเข้าใจ แต่ว่าความเหมือนกันมันอาจจะเป็นเรื่องการเรียบเรียงประเด็น ต้องดูว่าประเด็นของเรามันออกหรือยังในสตอรีนี้ที่เราคิดขึ้นมา
กุ๊ก – กุ๊กไม่ได้เขียนงานอื่นแต่มันก็เป็นอย่างที่วรรณพูดค่ะ คือมันไม่ต้องสละสลวยมากแต่มันต้องเข้าใจ โวหารที่ใช้มันจะไม่เหมือนกัน การใช้ภาษามันจะคนละแบบกัน แต่ว่ามันมุ่งเน้นความเข้าใจและเห็นภาพพ้องต้องกัน (แบคกราวนด์ครอบครัวสำคัญ) วรรณ & กุ๊ก – ใช่ ๆ

วรรณ – คือทุกตัวก่อนที่เราจะไปเริ่มเส้นสตอรี เราจะต้องทำคาแรกเตอร์เขา ทำไปให้รอบด้านที่สุด ทุกคนต้องมี part ครอบครัวของตัวเองนะ ต้องมี back story แบบนี้ที่ทำให้ปัจจุบันเป็นแบบนี้ มันจะทำให้แบบเราเข้าใจตัวละครมากขึ้น เราจะคิดแทนเขาได้มากขึ้น คือเริ่มต้นมาเราอาจจะมีแค่คำ ๆ เดียวเป็นคาแรกเตอร์เขา แต่พอผ่านไปสักเดือนเราเริ่มเห็นเขาเป็นรูปเป็นร่าง เป็นตัวเป็นตน รู้ตัวอีกทีเขาก็แบบดูมีชีวิตในสายตาเราแล้ว
กุ๊ก – แต่ละตัวจะมีที่มาไม่เหมือนกัน บางตัวมาจากประเด็นที่เราอยากจะเล่า บางตัวมาจากประสบการณ์ที่เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วน่าเอามาขยายต่อ บางคนมาจากบางส่วนของนักแสดงที่มารับบท แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันดึงมาสร้างเป็นตัวละครได้

 


ตัวช่วยเวลาคิดไม่ออก
วรรณ – เวลาคิดไม่ออกเราก็จะใช้วิธีต่อไดอะล็อกกันไป ในมุมที่เราเป็นคนนี้ที่เชื่อแบบนี้ อีกคนที่เป็นอีกคนเชื่อแบบนี้ ก็เถียงกันไปเรื่อย ๆ เถียงไปยังไงก็ได้เถียงไปเรื่อย ๆ จนเรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้มันจะมี conflict แบบนี้ได้ หรือว่าสิ่งที่คนนี้พูดมันอาจจะไปสะเทือนอีกคนได้ ถ้าเกิดอารมณ์มันขึ้น ๆ มา ก็จะมีที่เอาไดอะล็อกเหล่านั้นเข้าไปอยู่บทบ้าง คือบางทีสับสนหลงทางไม่รู้จะไปไหนต่อเราก็จะใช้วิธีนี้บ้างบางที
กุ๊ก - มาเข้าทรงกัน เข้าทรงแล้วมาเถียงกันหน่อย มันคือการ improvise ร่วมกัน
วรรณ – เหมือนแบบเราอยากไปถึงจุดที่ว่าตัวละครตัวนี้มันต้องโกรธแล้วอ่ะ แต่แบบมันเป็นคนใจดี มันไม่โกรธสักที ก็ต้องแบบเอาสองตัวมาคุยกัน แล้วก็แบบทำไงดูสิว่าต้องไปถึงจุดไหนแล้วมันถึงจะแบบระเบิดออกมาได้


รู้สึกยังไงกับความสำเร็จของฮอร์โมน
กุ๊ก – เริ่มทำฮอร์โมนเพราะเราอยากลองเขียนบท แต่จุดประสงค์หลักของการทำโปรเจ็คต์นี้ในแง่การสื่อสารกับคนหมู่มากอ่ะค่ะ รู้สึกว่าถ้าเราให้คนที่ไม่ได้คิดแบบที่ตัวละครคิดเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครทำ แล้วเปิดกว้างมากขึ้นในการที่จะเรียนรู้คนที่ต่างจากตัวเอง อันนั้นมันเป็นเหมือนจุดสูงสุดของคนที่ทำด้วยกันตั้งไว้ รู้สึกว่าสิ่งนี้มันจะไม่ปรากฏให้เห็นจนกระทั่งเมื่อมันฉายจบแล้ว เมื่อมันใช้เวลาตกตะกอนในตัวคนที่รับสารไปแล้ว เพราะฉะนั้นกุ๊กก็เลยยังตอบไม่ได้เต็มปากว่ามันสำเร็จในจุดนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับความสำเร็จอย่างที่คนอื่นพูดมา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามองว่าสิ่งไหนแปลว่าสิ่งที่สำเร็จ
วรรณ – ในฐานะคนเขียนบทเนี่ยฟินแล้ว รู้สึกว่าเราพยายามเต็มที่มาก ๆ เราทุ่มเทให้กับโปรเจ็คต์นี้มาก ๆ สุด ๆ แล้ว ที่เหลือนี่คือโบนัส ว่าคนจะเข้าใจสิ่งเราพยายามจะสื่อสารมั๊ย หรือว่าคนจะเข้าใจคนอื่นแบบที่พี่กุ๊กว่ามั๊ย ซึ่งถ้าเข้าใจก็จะดีใจเข้าไปอีก แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจเราก็อาจจะเสียใจ แต่ว่าเราก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว

 


จบซีซัน...ไปทำอะไรกันต่อ
วรรณ – วรรณทำโปรดักชันเฮาส์ ทำรายการสอนทำอาหาร ทำโปรดักชันวิดีโอทั่วไป แต่ว่างานส่วนใหญ่ที่ถ่ายจะเป็นงานอาหาร แล้วก็มีทำหนังสือ ทำโฟโต้บุค ทำทำไมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ยังหาจุดเชื่อมโยงไม่ได้ เราทำสิ่งที่เราอยากทำเฉย ๆ พอดีที่บ้านเป็นสำนักพิมพ์ค่ะ สนพ.แสงแดด เกี่ยวข้องกับตำราอาหารอยู่แล้ว เราก็แตกออกมาว่าเราจะทำโปรดักชันวิดีโอที่เกี่ยวกับอาหารนะ ล่าสุดก็มาทำโฟโต้บุคนี่ล่ะค่ะ ชื่อ Kiss ค่ะ เอาต่อ-ธนภพ มาถ่าย
กุ๊ก – ก็บินค่ะ กลับไปบินค่ะ (แล้วจะมีจ๊อบจริงจังแบบนี้อีกมั๊ย) ไม่ได้วางแผนไว้ แต่ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจก็ยังเปิดรับอยู่ค่ะ ดูไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็บินอย่างตั้งใจต่อไป (หัวเราะ)

 


ฝากถึงแฟนคลับฮอร์โมนที่อยากเขียนบทบ้าง
วรรณ – ไม่ต้องมุ่งแค่งานเขียนบทก็ได้เพื่อจะได้เป็นคนเขียนบท ลองทำอย่างอื่นหลาย ๆ แบบก็ได้ แล้ววันหนึ่งเส้นทางของเรามันจะค่อย ๆ พาเราไปสู่จุดที่เราอยากเป็น การที่เราไปทำตำแหน่งอื่น เรียนรู้วิธีคิดแบบอื่น ๆ มันก็จะมาช่วยงานเขียนบทนะ ถ้าเราเคยโปรดิวซ์มาก่อน เรามาเขียนบท เราอาจจะรู้ว่าเขียนแบบนี้ไปก็ถ่ายไม่ได้ มันก็จะช่วย
กุ๊ก – การเป็นคนเขียนบทมันอาจจะไม่ได้มีเส้นทางที่ชัดเจน แต่รู้สึกว่าพอได้มาทำแล้ว เราได้เอาประสบการณ์ชีวิตมาใช้เยอะ ฉะนั้นถ้าอยากเขียนบท อยากให้เป็นคนช่างสังเกต ให้เป็นคนเปิดกว้าง เพื่อให้มีอะไรมาเขียน ถ้าเราจะสร้างสรรค์ในสิ่งที่มันมีแค่ในตัวเรา ถ้าเรามีน้อยเราก็จะเขียนได้น้อย เขียนได้แคบ เขียนได้จำกัด ถ้าเราเปิดกว้างไว้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับใช้กับงานเขียนบทได้


“ถ้าเราให้คนที่ไม่ได้คิดแบบที่ตัวละครคิดเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครทำ แล้วเปิดกว้างมากขึ้นในการที่จะเรียนรู้คนที่ต่างจากตัวเอง อันนั้นมันเป็นเหมือนจุดสูงสุดของคนที่ทำด้วยกันตั้งไว้”