www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสืบวิทยาศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-07-31 14:25:23

เรื่อง: พิษณุกรณ์ เต็มปัน ภาพ: คงกฤช จินตะเวช และ เชิดพิพัฒน์ วัฒนวิกกิจ

หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วเราคงได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาความจริงให้กับเรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคมในขณะนั้น จนได้รับฉายาว่า “นักวิทยาศาสตร์จอมแฉ” เขาคือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายคนคงจะได้รู้ว่าอาจารย์มีผลงานโดดเด่นอะไรบ้างแต่น้อยนักที่จะได้รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของอาจารย์เป็นอย่างไร




ทำไมสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เริ่มรู้ตัวตอนไหน
ผมสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ เริ่มตั้งแต่ประถมซึ่งยุคนั้นเริ่มมีการ์ตูน แล้วก็สนใจอ่านการ์ตูน เช่นการ์ตูนญี่ปุ่น ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ โดราเอมอน แล้วก็ชอบดูหนังวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นที่ดังๆ ก็มี Star Wars หรือ Star Trek ทำให้รู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์ดูเท่ ดูแปลกๆ ดี นอกจากนี้ก็ชอบอ่านหนังสือหรือวารสาร เช่น วารสารมิติที่ 4 วารสารรู้รอบตัว มันทำให้เราสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ


สนใจด้านชีววิทยาเป็นพิเศษ
อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนเหมือนกันเพราะตอนเรียน ม.ปลาย ผมได้รับทุน พสวท. ซึ่งเป็นทุนที่ส่งเสริมให้เรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ แล้วก็ได้ไปฝึกงานที่มหิดลเกี่ยวกับทางด้านดีเอ็นเอซึ่งยุคนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สนุก พอขึ้นมาเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ก็เรียนวิทยาศาสตร์มาตลอด ตอนเริ่มเรียนปริญญาตรีก็เริ่มเห็นภาพชัดว่าเราไม่ชอบคำนวณ เราเรียนฟิสิกส์ไม่ค่อยได้เรียนแคลคูลัสไม่ค่อยได้ เราเข้าใจชีวะ แม้ว่าท่องไม่เก่งก็จริงแต่ก็ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ เคมีก็พอเรียนไหว ธรณีวิทยาก็สนใจบ้าง แต่สุดท้ายมันก็มาลงตัวที่ว่าเราสนใจเรื่องดีเอ็นเอดังนั้นมันก็ต้องมาทางชีววิทยา


วางแผนชีวิตยังไงหลังจากเรียนจบปริญญาตรี
เส้นทางก็จะวางค่อนข้างง่ายเพราะว่าผมเป็นนักเรียนทุนอยู่แล้ว ตอนเรียนประถมถึงม.ต้นก็เรียนที่สาธิต จุฬาฯ แต่พอได้รับทุน พสวท. ตอนม.ปลาย ก็ได้ย้ายมาเรียนที่บดินทร์เดชาพอเรียนจบก็มาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โดยตรง ฉะนั้นพอรู้ตัวว่าชอบเรื่องดีเอ็นเอ ก็เลยเลือกสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือสาขาพันธุศาสตร์ ก็จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องดีเอ็นเอ เรื่องการผสมพันธุ์พืช การปรับปรุงพันธุ์พืชต่างๆ จบปริญญาตรีก็อยากรู้เรื่องนี้ลึกขึ้น ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ก็จะมีอาจารย์ที่เก่งเรื่องการตัดต่อยีนส์ การดัดแปลงพันธุกรรม วิศวกรรมพันธุศาสตร์ พอเรียนจบปริญญาโทก็สมัครทุนต่างประเทศ ก็ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ Edinburgh ประเทศอังกฤษ ก็เน้นศึกษาด้านเดิมคือ Molecular Biology การศึกษาชีววิทยาระดับโมเลกุล เส้นทางมันก็เลยชัดเจน พอกลับมาทำงานก็ยิ่งชัดเจน เราก็หาที่ทำงานที่เหมาะสมกับเรา


คิดไหมว่าจะได้เรียนต่อถึงระดับปริญญาเอก
จริงๆ ไม่ได้คิดเลยนะ สมัยนั้นทุนก็มีน้อย คนที่จะไปเรียนต่างประเทศก็เลยไม่ค่อยมี แล้วโดยส่วนตัวเองทางบ้านก็ไม่ได้มีฐานะอะไร ความตั้งใจก็อาจจะแค่เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท จบแล้วก็ทำงาน แต่ตอนนั้นก็มีทุนให้เรียนต่อปริญญาเอกในประเทศด้วย มีทุนต่างประเทศเปิดรับสมัครด้วย ก็เลยสมัครสอบทุนต่างประเทศและได้ทุนนั้นมา


เรียนจบแล้วก็กลับมาทำงานที่จุฬา
มันก็ตรงไปตรงมาเราเรียนจบปริญญาตรีที่นี่ แล้วก็มีความรู้สึกว่าอยากมาช่วยพัฒนาปรับปรุงหรือทำในสิ่งที่เราช่วยมหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นก็สมัครหลายๆ ที่ แต่ที่จุฬาฯ โดยตำแหน่งของงานก็เหมาะกับเราที่สุด ตำแหน่งที่ขาดอยู่มันตรงกับสิ่งที่เราไปเรียนปริญญาเอกมาพอดี ก็คิดว่าน่าจะเหมาะสม แต่ภาควิชาชีววิทยาเป็นคนละภาควิชากับที่ผมเรียนจบตอนปริญญาตรี เพราะตอนนั้นผมจบภาควิชาพฤกษศาสตร์ สาขาพันธุศาสตร์ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะได้เห็นการทำงานที่แตกต่างจากเดิม มันมีความท้าทายบางอย่างอยู่เหมือนกัน แล้วบรรยากาศโดยรวมๆ ของที่จุฬามันก็เป็นความคุ้นเคย บรรยากาศของสามย่าน มาบุญครอง โดยรวมๆ ก็ลงตัวดี


เด็กยุคนี้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์น้อยลง
ผมว่าสนใจน้อยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว แต่มันก็มีมุมที่สนใจมากขึ้นด้วยนะแต่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น โดยพื้นฐานผมว่าเราทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากนี่เป็นปัญหาของบ้านเราเลย พอเรียนจบม.ต้นก็ต้องมาเลือกอีกว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ตอน ม.ปลายซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ทุกประเทศเวลาเรียนต่อม.ปลายเขาจะเรียนคล้ายๆ กันหมด เรียนวิทย์เรียนศิลป์ควบคู่กันแล้วก็ค่อยไปเฉพาะทางมากขึ้น เราจะเห็นว่าพอเรายิ่งเรียนมันก็จะกลายเป็นเรื่องท่องจำหรือคำนวณมากขึ้นด้วย มันไม่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้เรียนไปเพื่ออะไรไม่เห็นภาพ ฉะนั้นคนก็ทิ้งไปเรื่อยๆ แต่ผมก็มองเห็นว่าสังคมเริ่มเปลี่ยน มันเริ่มดีขึ้นมาหน่อย เช่นมีรายการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเยอะขึ้น พ่อแม่สมัยใหม่ก็อยากให้ลูกสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ว่าสนใจเพื่อจะได้ไปเรียนต่อวิศวะ แพทย์ ที่มันไม่ใช่สาขาวิทยาศาสตร์โดยตรง เรามีรายการที่เป็นสารคดีวิทยาศาสตร์ที่นำมาจากต่างประเทศแล้วแปลเป็นภาษาไทยก็เยอะขึ้น คนก็ติดตามเพราะเขาทำดีมาก ดูสนุก แต่สารคดีของบ้านเราเองก็ยังมีค่อนข้างน้อย ฉะนั้นโดยภาพรวมผมว่าสังคมไทยก็ยังสนใจวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย มันก็เลยมีผลต่อเนื่องไปถึงกระบวนการคิดด้วย วิธีคิดของคนในสังคมไทยก็ไม่ค่อยได้ใช้กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เท่าไร


อะไรที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักของสังคม
การทำงานของผมพื้นฐานก็จะคล้ายๆ กับอาจารย์ทุกท่าน ตั้งแต่บรรจุเป็นอาจารย์ก็ทำงานสอนเป็นหลัก แต่ผมค่อนข้างสนใจเรื่องของการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communication) คือเราเริ่มเห็นปัญหาว่า นักวิทยาศาสตร์พูดไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าพูด ชอบทำงานวิจัยอยู่ในห้องแบบเงียบๆ แล้วเวลาออกไปพูดที่ไหนก็จะพูดภาษาวิทยาศาสตร์ เข้าใจยาก ผมก็คิดว่าจะทำยังไงให้สื่อสารกันง่ายขึ้น อาจจะเป็นทางนี้มากกว่าที่ทำให้คนรู้จักผมมากกว่าเรื่องของงานวิจัย อีกเรื่องหนึ่งถ้าจำกันได้ คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักผมจากการออกมาพูดเรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT200 ซึ่งเป็นข่าวมาระยะหนึ่ง ผมและเพื่อนๆ หลายคนในเว็บไซต์พันทิปห้องหว้ากอ ก็ช่วยกันอธิบายว่าเครื่องที่ใช้ตรวจระเบิดนี้มันทำงานไม่ได้จริง เป็นเครื่องหลอกลวง แล้วมันก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาในสังคม หลังจากนั้นมันก็มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาอีกเรื่อยๆ และประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาผมก็เพิ่งเล่นเฟซบุ๊คเป็น คือเขาเล่นกันมานานแล้วแต่ผมก็แอนตี้ ก็พยายามจะไม่เล่นเพราะกลัวว่าจะติด แล้วมันก็ติดจริงๆ พอผมเริ่มเล่นมันก็เลยมีโอกาสที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้นคนก็มาติดตามเรามากขึ้น บางคนไม่รู้จักหน้าผมด้วยซ้ำส่วนใหญ่จะคุ้นเคยว่าเคยตอบคำถามอะไรในสังคมบ้าง ซึ่งผมก็ใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางในการสื่อสาร


GT200 ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จัก
ผมคิดว่าใช่นะครับ ที่สำคัญมันเปลี่ยนทัศนคติของผมในการมองโลกค่อนข้างมากด้วย เราอยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์โดยตรง เราสอนหนังสือเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ แล้วเรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ทำไมถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังไม่ได้ ผมสนใจเรื่องการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็คิดว่าทำไมคนในสังคมไม่คิดอะไรที่เป็นแบบวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีการเชื่อตามกันคนนั้นบอกว่าดีคุณก็ต้องบอกว่าดีตาม คนนั้นเขานับถือคุณก็จะนับถือตามไปด้วย แทนที่จะมาถกเถียงกันเอาหลักฐานมาแย้งกันแล้วหาคำตอบให้เห็น คนไทยชอบใช้คำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่เยอะมากในยุคนั้นเอาไปผูกกับเรื่องศาสนาเรื่องความเชื่อหลายๆ เรื่อง อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้มีคนรู้จักผมเพิ่มมากขึ้นคือเรื่องของพญานาค เพราะฉะนั้นก็อารมณ์เดียวกันคือเรื่องเร้นลับหลายๆ เรื่องมันสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่คนก็จะไม่เชื่อผมและเลือกใช้คำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ในการมายันว่าไม่ให้พูด ตรงนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องค่อยๆ ฝึกว่าจะทำยังไงให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารมากขึ้น ทำยังไงที่จะกระตุ้นให้คนเริ่มฉุกคิดว่าเป็นไปได้ไหมว่าเรื่องนี้วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้




ทำไมกล้าออกมาพูดเรื่อง GT200
ก่อนที่จะเป็นประเด็นเราได้พยายามพูดเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นหลายเดือน พอเรารู้ข้อมูลว่าเครื่องนี้มันใช้งานไม่ได้จริง มีข้อมูลมายืนยันเพียบเลย แล้วเราก็ไปนำเสนอกับผู้หลักผู้ใหญ่ ไปรัฐสภา ไปองค์กรต่างๆ ที่เขารับฟังแต่เรื่องมันไม่คืบหน้า โชคดีว่าบีบีซีที่อังกฤษทำข่าวเรื่องนี้พอดี พอเป็นข่าวขึ้นมานักข่าวหลายๆ คนก็กลับมาถามว่าอาจารย์เจษฎาเคยพูดเรื่องนี้ไว้มันก็เลยโหมเป็นกระแสขึ้นมาอีก ทีนี้พอเราได้เคยพูดไปแล้วมันก็ถอนตัวไม่ได้ เราจะมาปฏิเสธทีหลังว่าเราไม่ได้พูดมันก็ไม่ถูก เราจึงจำเป็นต้องยืนกรานตามจรรยาบรรณในการทำงานของเราว่าถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงเราก็ต้องพูดว่ามันจริง ในเชิงวิทยาศาสตร์มันใช้งานไม่ได้


วิทยาศาสตร์กับความเชื่อ
มันไปด้วยกันค่อนข้างยาก แม้แต่วิทยาศาสตร์กับศาสนาก็ตาม ความเชื่อหรือศาสนามันอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อจริงๆ โดยไม่คิดจะแย้ง ปัญหาหนึ่งในการสอนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราก็คือ ครูสอนแล้วเราก็ต้องเชื่อตามคุณครูหรือเชื่อตามตำราซึ่งมันผิด วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงต้องแย้งได้ วิทยาศาสตร์อยู่มาสองสามพันปีเขาก็แย้งกันมาตลอดคนหนึ่งจะทดลองอย่างหนึ่งพิสูจน์อย่างหนึ่ง แล้วก็จะมีคนมาคอยจับผิดว่ามันถูกต้องหรือไม่ แล้วก็มีการแก้กันไปเรื่อยๆ นี่คือลักษณะของวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นพอมีประเด็นหนึ่งขึ้นมาแล้วเราตั้งคำถามว่าเรื่องนี้อาจจะไม่จริงหรืออาจจะมีมุมมองอื่น คนที่เขาใช้ศรัทธาหรือความเชื่อเขาก็จะเริ่มไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ เป็นเรื่องของการโต้แย้งมันต้องรับได้ ถ้าเป็นสไตล์คนไทยอาจจะต้องมีจุดกึ่งกลางที่เชื่อมกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างเช่นถ้าคุณเห็นลูกไฟโผล่ขึ้นมาจากน้ำในช่วงวันออกพรรษาแล้วบอกว่าลูกไฟนี้เกิดจากพญานาคก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลผมจะไม่แตะ จะไม่เถียงด้วยว่าพญานาคมีจริงหรือไม่มีจริงเพราะมันเป็นความเชื่อ แต่ถ้าบอกว่าวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายไหมผมก็จะบอกว่ามี มันเหมือนต้องแยกวิทยาศาสตร์จากความเชื่อแต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกัน


แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน
ผมไม่ได้คัดค้านให้ใครมีความเชื่อ ไม่ว่าจะความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ถ้าความเชื่อนั้นไม่ได้ทำร้ายเขาก็เชื่อไปเถอะ เช่นมีคนพูดถึงเรื่องการไปสักยันต์แล้วฟันไม่เข้าเอามีดกรีดไม่เข้า ผมก็บอกว่าถ้าคุณเชื่อว่ามันทำได้จริงกรีดไม่เข้าจริง เชื่อตามคำสอนแล้วต้องเป็นคนดี ถือศีลห้า ไม่เบียดเบียนชาวบ้าน ไม่ไปลองของที่บ้านก็เป็นความเชื่อของคุณ แต่ถ้ามันมีเรื่องของการเสียเงินเสียทองเข้ามา มีการหลอกลวงเข้ามา มีพิธีกรรมอย่างนี้แล้วคุณต้องไปเสียเงินเป็นพันเป็นหมื่น ไปทำเรื่องปลุกเสกไสยศาสตร์มนตร์ดำทำให้มีคนรักคนหลง มันทำให้เป็นเรื่องเสียเงินเสียทอง อาจจะถูกหลอกลวงไม่รู้ตัว บางครั้งถ้าเป็นเรื่องของศาสนาแล้วพระเป็นผู้ทำแล้วมันทำให้ศาสนาเสื่อมผมก็ต้องพูดตรงๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ผมจะไม่ไปค้านตรงๆ ว่าอย่าไปยุ่งอย่าไปศรัทธา ผมจะไม่ทำ


วิธีการรับมือกับกระแสสนับสนุนและต่อต้าน
ก็ต้องทำใจ ผมเคยโพสเฟซบุ๊คเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงกุ้งเครฟิช แล้วก็อธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ไปว่า เลี้ยงไปแล้วอันตรายถ้าเกิดมันออกไปสู่สิ่งแวดล้อม มันอาจจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นแล้วไปทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ก็จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะเข้ามาแย้ง ดังนั้นการเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องหนักแน่น เราต้องทนฟังคนที่แย้งเราได้ แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่รับฟังคำแย้งนั่นแสดงว่าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ต้องเปิดใจรับฟังเป็นประชาธิปไตยเอาข้อมูลมาเถียงกัน บางครั้งอาจจะทำให้เรารู้ว่าเราอาจจะผิดบางส่วน แต่ถ้าเป็นแนวออกมาด่าทอใช้อารมณ์ไม่เอาเหตุผลมาคุยเราก็จะรู้สึกไม่อยากรับฟัง ดังนั้นวิธีการจริงๆ ก็คือทำใจก่อน สองคือบางทีก็จำเป็นต้องเลือกรับฟัง ถ้าเรื่องไหนเรามั่นใจว่าเราถูกเราก็อ่านคอมเม้นที่มีคนมาเชียร์เยอะหน่อยเพื่อให้มีกำลังใจ คนที่เข้ามาด่าเราก็อ่านผ่านๆ แต่ก็จะค้นหาว่าเขาให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า ถ้าเขาให้ข้อมูลน่าสนใจเราก็เก็บไว้ อย่างมีคนมาเถียงผมเรื่องบั้งไฟพญานาคมีข้อมูลน่าสนใจผมก็เก็บเป็นข้อมูลไว้ แต่ถ้ามาด่าอย่างเดียวเราก็ไม่รับ ก็จะพยายามบาลานซ์ระหว่างอารมณ์กับความรู้สึกด้วย


มีผลงานวิจัยมากมาย มีผลงานชิ้นไหนที่นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
วิทยาศาสตร์มีทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อย่างเวลาสร้างเครื่องหรือสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างมันเห็นผลชัดว่าเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ใช้แล้วเกิดกำไรยังไง พอเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานบางทีก็มานั่งทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าทำแล้วมันเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน งานเด่นๆ ที่พอเห็นภาพว่าเกิดประโยชน์ก็คือการวิจัยเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เป็นการร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ใช้ความรู้เรื่องวิวัฒนาการ เรื่องดีเอ็นเอ เรื่องพันธุกรรมเข้าไปช่วยเพื่อจะได้บอกได้ว่าในประเทศไทยจริงๆ แล้วต้องวางแผนรับมือกับเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ายังไงบ้าง จริงๆ แล้วมันก็จัดการได้ไม่ง่ายนะ แค่จับสุนัขจรจัดมาฉีดวัคซีน เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ผล มันต้องเลือกเป็นจังหวัดไหม ข้อมูลเราก็อธิบายว่ากรุงเทพคงยากมากเพราะมีหลายจังหวัดล้อม มีการเคลื่อนที่ของพันธุกรรมมากมายเพราะเราเห็นจากดีเอ็นเอชัดเจน บางจังหวัดอาจจะง่ายกว่าเช่นกาญจนบุรีหรือภาคใต้จะง่ายกว่าถ้าเราสามารถที่จะควบคุมการเดินทางหรือสุนัขข้ามถิ่นหรือไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนทั่วถึงแค่ไหน พวกนี้มันสามารถช่วยวางแผนได้ คำถามคือว่ามันมีผู้นำเอาไปปฏิบัติต่อหรือเปล่า อีกเรื่องหนึ่งที่ทำมาแล้วเห็นค่อนข้างชัดคือได้ไปช่วยที่โรงงานยาสูบ มีการนำเอาใบยาสูบหลายๆ สายพันธุ์มาใช้ทำใบยาสูบ ก็ช่วยวิเคราะห์ว่าแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างยังไงบ้างอันไหนเป็นสายพันธุ์ต่างชาติอันไหนเป็นสายพันธุ์ไทยเราจะส่งเสริมการเพาะปลูกหรือดูแลสายพันธุ์ยังไงบ้าง หรือจะสร้างกฎหมายที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีอย่างไรบ้างโดยการใช้ข้อมูลดีเอ็นเอหรือข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งอันนี้จะค่อนข้างเห็นภาพชัดกว่างานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในส่วนอื่นๆ ที่เคยได้ทำมาก่อนหน้านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนนำเอาไปใช้ต่อมากน้อยแค่ไหน ในมุมกลับกันตอนนี้ผมทำงานวิจัยค่อนข้างน้อยลงแล้วมาทำเรื่องของการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพราะรู้สึกว่าทำแล้วสังคมค่อนข้างได้ผลชัดเจนคือเอาสิ่งที่เราคิดเราเขียนไปใช้ต่อได้


การทำงานวิจัยสักชิ้นหนึ่งเริ่มต้นจากอะไร
งานวิจัยปกติจะมีคำว่าที่มาและปัญหา คนหลายๆ คนทำด้วยความรู้สึกว่าฉันอยากทำก็ทำ อยากรู้ว่านกในป่ามีกี่ชนิด บางทีมันก็เหมือนไม่มีโจทย์ เราเรียกว่าโจทย์วิจัย ดังนั้นเราก็ทำลอยๆ ขึ้นมา แต่ปกติมันก็เริ่มจากโจทย์วิจัยก่อน สิ่งที่เขาเคยทำกันมาเชื่อกันมาว่าอย่างนั้นอย่างนี้มันมีจุดบอดมันไม่น่าจริงเราเอาข้อมูลและวิธีการของเราไปจับตรงนั้นก็หาทางแย้งหรือค้นหาข้อมูลใหม่นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการทำวิจัย หรือบางทีเราเห็นโจทย์จริงๆ ในธรรมชาติในสังคม เช่นเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าเราเห็นปัญหาแบบนี้แล้วจะเข้าไปทำอะไรได้บ้าง หรือเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องที่เราตอบโจทย์ไม่ได้ งานผมค่อนข้างเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เช่น เราพูดถึงเรื่องไม้ในป่าหลายๆ พันธุ์ หรือเรื่องของสัตว์บางชนิด เราจะอนุรักษ์ จะดูแลก็อาจจะทำในเชิงของภาพรวม เช่นกรมป่าไม้ก็ดูแลป่าห้ามคนไปตัดไปล่า แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เราก็จะเห็นว่าต้นไม้มีกี่สายพันธุ์มีกี่สปีชีส์ มีสปีชีส์ใหม่หรือเปล่าพวกนี้เราใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยได้ มันเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนเสร็จแล้วมีข้อสรุปไหม ถ้ามีข้อสรุปก็จบไปหนึ่งเรื่อง อาจจะมีบางท่านเจาะลึกลงไปอีกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มจากโจทย์ปัญหาก่อน


วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีวิธีการสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างไร
ผมค้นพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียมันจะบีบเราโดยอัตโนมัติและค่อนข้างตรงตามกระแสความต้องการของสังคม ถ้าเป็นคนสมัยโบราณมีเวลาอ่านหนังสือเยอะๆ ก็คงชอบการเขียนบทความยาวๆ ซึ่งผมก็ทำอยู่เหมือนกัน แต่พอเรามาใช้โซเชียลมีเดียมันก็ค่อนข้างจะต้องจำกัดตัวเองให้แคบลง ผมมีการทำสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือทำเฟซบุ๊คในการตอบคำถามต่างๆ เราจะตอบยังไงให้กระชับคนอื่นแล้วรู้เรื่อง ถ้าอยากรู้ลึกกว่านี้เราก็จะให้ลิงค์ไปอ่านเพิ่มเติม เราจะโพสรูปยังไงให้น่าดูน่าสนใจ บางคนก็แชร์ข้อมูลผิดๆ ผมก็เอารูปนั้นมาแล้วก็กากบาทง่ายๆ เลยเพื่อให้รู้ว่ามันผิด คนก็จะรู้ ก็จะมีการขึ้นหัวข้อให้รู้หน่อยว่าหัวข้อคือเรื่องนี้นะ สไตล์ของนักวิทยาศาสตร์จะชอบอธิบายยาวๆ แล้วก็สรุป ส่วนผมก็จะสรุปไปเลยว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้สั้นๆ จบ แล้วคำอธิบายก็ค่อยตามมา อีกส่วนก็คือทำรายการของตัวเองเป็นรายการใน youtube ชื่อรายการวิทยาตาสว่างและ SciFind ซึ่ง youtube ก็เป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีมาก เมื่อก่อนเราบอกว่าเราอยากมีพื้นที่ในโทรทัศน์แต่เราทำไม่ได้เราก็ใช่ช่องทาง youtube แทน แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าทำยาวเกินไปคนก็ไม่ดูก็ทำประมาณห้านาทีก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในเชิงวิทยาศาสตร์




วิทยาตาสว่างและ SciFind มีที่มาที่ไปยังไง
จริงๆ แล้วมันเป็นความฝัน อย่างที่บอกว่าบ้านเรามีรายการวิทยาศาสตร์มากขึ้น เรามีรายการสำหรับเด็กเล็ก เด็กประถม มีการแข่งขันตอบปัญหา แต่มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่คนทั่วไปดูแล้วรู้สึกสนุก หรือมีรายการสารคดีต่างประเทศ ซึ่งมันก็จะค่อนข้างไกลตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันมีโจทย์เยอะมากแล้วมันน่าจะมีคนมาเล่าให้ฟัง ก็เป็นความฝันอยากทำรายการ ก็มีเพื่อนที่ทำด้านโปรดักชั่นเฮ้าส์อยู่ก็คุยๆ กัน แล้วก็รู้จักน้องที่ทำเว็บไซต์วิชาการดอทคอมก็คุยแล้วได้ทุนมาส่วนหนึ่งพอสำหรับมาทำรายการปีแรกทำได้ 10 ตอน ปีที่สองก็ทำอีก 10 ตอน แต่ละตอนที่ทำออกไปมันก็เหมือนว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างให้กับสังคม เมื่อไรก็ตามที่มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาคนก็จะนำมาเชื่อมโยงได้ เช่นมีเรื่องฤาษีเข้าไปนั่งในกระทะน้ำมันร้อนๆ คนก็จะเข้ามาตามดูในรายการที่ผมพิสูจน์ให้เห็นโดยการเอามือจุ่มลงไปในน้ำมันเดือดให้ดู หลายๆ อย่างที่เราทำไว้ใน youtube มันก็จะใช้ได้เรื่อยๆ ส่วนรายการ SciFind ก็จะได้ทำเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้นหน่อย มากกว่าการไปพิสูจน์จับผิดเรื่องต่างๆ วิทยาตาสว่างจะออกแนวสนุกสนาน แต่พอเป็นรายการ SciFind ก็จะเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอีกหน่อย ได้น้องๆ ที่เป็น ดร.จากมหาวิทยาลัยอื่นเข้ามาช่วยทำรายการด้วย คนไทยก็จะเริ่มรับรู้มากขึ้นว่านักวิทยาศาตร์ไม่ใช่คนที่ใส่เสื้อกราวน์หัวฟูๆ ก็คือคนทั่วไปนี่แหละแต่สามารถที่จะเอาวิชาการไปอธิบายเรื่องต่างๆ ได้ แล้วคอนเซ็ปต์ก็คือเราจะทิ้งประเด็นให้คนเถียงกันต่อ เราไม่ได้บอกว่าให้เชื่อเรานะให้ไปคิดต่อนั่นเอง


วิเคราะห์วงการวิทยาศาสตร์ในบ้านเรา
เราค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ในกระแสแล้วเป็นระบบที่ค่อนข้างเก่านิดหนึ่งวิทยาศาสตร์ก็จะมีโลกของตัวเอง ทุกคนก็จะมีสาขา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วก็ทำวิจัยเพื่อเผยแพร่ในวงการของเขาเอง เรายังเห็นคนที่อยากจะออกมาหรืออยากออกแต่ไม่มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะได้มาเล่าเรื่องราวต่างๆ บางทีก็ได้แค่เผยแพร่ผลงานวิจัยของตัวเองเท่านั้น แต่ว่าเวลามีปัญหาทางสังคมที่ต้องการคนช่วยตอบเราเห็นค่อนข้างน้อย วงการวิทยาศาสตร์ถ้าจะเทียบกับประเทศอื่นๆ ผมใช้คำว่าไม่ค่อยเข้มแข็ง องค์กรที่เป็นตัวแทนทางด้านวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมีน้อยที่จะออกมาตอบโต้หรือหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจน กระทรวงหรือมหาวิทยาลัยก็จะทำงานในกรอบของตัวเอง แต่ที่เห็นก็คือเริ่มมีนักวิทยาศาสตร์หลายๆ ท่านออกมาให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องบ้านไฟไหม้ที่พัทลุงก็มีอาจารย์มาช่วยอธิบาย เช่นในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องฟิสิกส์ ก็จะมีอาจารย์ทางด้านฟิสิกส์มาช่วยพูด ถ้าเป็นเรื่องอวกาศก็จะมีอาจารย์ด้านนี้มาช่วยพูด เรายังต้องการแบบนี้อีกเยอะในสังคม วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้คุณได้หรือสามารถโต้เถียงกันได้ ไม่ต้องเชื่อตามๆ กัน ต้องมีเวทีและมีรายการเชิงวิทยาศาสตร์ให้ดูมากขึ้น ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์หรือองค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมาทำ


หลักในการทำงาน
ทำในสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอาจจะไม่ชอบก็จริงแต่ทำแล้วมันสร้างผลงานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนา เกิดความก้าวหน้าก็ต้องทำ ส่วนตัวผมมองว่าจะทำงาน 30 ปี ตั้งแต่บรรจุจนถึงเกษียณ 10 ปีแรกก็จะเน้นการทำวิจัย งานเขียนบทความต่างๆ เป็นนักเรียนทุนได้รับทุนก็ต้องชดใช้ทุนให้เต็มที่ 10 ปีต่อมาก็จะเริ่มไปทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสนุกกับมัน เช่น สนุกเรื่องการมาถ่ายทอดทางวิทยาศาสตร์ การมาเขียนบทความการมาเล่าเรื่องต่างๆ นี่คือการทำตามสิ่งที่เราชอบ แล้วก็มีความฝันบางอย่างเช่นเรื่องจีเอ็มโอ เพราะผมจบทางสายชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ รู้เรื่องเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสังคมไทยและหลายๆ ที่ทั่วโลกค่อนข้างต่อต้านและเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับมันเยอะ ผมก็ฝันว่าผมมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีชื่อเสียงในวงการประมาณหนึ่งชื่อเสียงนอกวงการประมาณหนึ่งเรามีวิธีการหรือมีลูกเล่นมากขึ้นในการถ่ายทอดทำยังไงให้คนไทยเข้าใจเรื่องจีเอ็มโอได้มากขึ้นและก็หวังว่าจะทำให้สำเร็จในช่วง 30 ปีนี้ ตอนนี้ยังไม่ชัดว่า 10 ปีสุดท้ายอยากจะทำอะไรแต่ว่าถ้าใครติดตามผมก็อาจจะรู้ว่าผมสนใจเรื่องการเมืองด้วย ตรงนั้นก็อาจจะมีบทบาทมากขึ้นเพราะผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เราไม่สามารถอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยแล้วทำให้สังคมเปลี่ยนได้มันต้องอยู่ในภาคการเมืองการปกครองที่จะสามารถทำได้นี่คือเส้นทางที่ผมวางเอาไว้


สนใจอยากเข้าสู่การเมือง
คงต้องรอเกษียณก่อนเพราะผมยังเสียดายอาชีพอาจารย์ หลายคนก็จะงงเพราะผมพูดตั้งแต่เด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นนักการเมือง การที่เราได้เข้ามาอยู่ในวงการมากขึ้น ได้เห็นว่าจริงๆ โลกมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นมันมีปัญหาเยอะ หน้าที่ของเราคือปรับกระบวนการคิดปรับวิธีการของคนก่อน ก่อนที่เราจะเข้ามาแล้วทำให้มันดีขึ้น




แรงบันดาลใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
ผมมีคนที่เป็นคนต้นแบบค่อนข้างเยอะแล้วก็เป็นสายวิทยาศาสตร์ เรามีไอดอลในใจ ซึ่งไอดอลผมก็ตรงไปตรงมา คือ กาลิเลโอ เมนเดล ชาร์ล ดาร์วิน ริชาร์ด ดอว์กินส์ ผมเกิดวันเดียวกับกาลิเลโอก็ขำๆ ดีเหมือนกัน คนกลุ่มนี้จะคล้ายๆ กันหมดเลยคือจะค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมันเปลี่ยนโลกได้และเขากล้าที่จะนำเสนอ กาลิเลโอกล้าที่จะนำเสนอว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาลแล้วก็ถูกต่อต้านค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะศาสนจักรในช่วงนั้น แต่สุดท้ายนี่ก็คือความจริงเพราะเขาใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็น เมนเดล ก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจศึกษาเรื่องของพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต ชาร์ล ดาร์วิน ก็พูดเรื่องวิวัฒนาการ เขาเสนอทฤษฎีที่คนในยุคนั้นรับไม่ได้แล้วสุดท้ายมันก็คือความจริง ริชาร์ด ดอว์กินส์ คนสุดท้ายก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งพูดเรื่องของวิวัฒนการและดีเอ็นเอ ล่าสุดผมก็ได้แปลหนังสือของเขาเป็นเล่มออกมาก็น่าจะวางแผงในอีกไม่นานนี้ เพื่อให้คนเห็นว่าวิทยาศาสตร์มันอธิบายวิวัฒนาการว่ามนุษย์เรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เรามีชีวิตไปเพื่ออะไร ซึ่งผมพบว่าเด็กไม่ค่อยมีไอดอลในใจตัวเองโดยเฉพาะทางสายวิทยาศาสตร์มีน้อยมาก เราก็หวังว่าจะมีมากขึ้น เพื่อจะได้มีแนวทาง มีกำลังใจ มีความฝันในชีวิตมากขึ้น

ในชีวิตประจำวันมีอะไรเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บ้าง
วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา มีคนหลายคนแอนตี้วิทยาศาสตร์ คิดว่าวิทยาศาสตร์อาจจะทำลายล้างโลกซึ่งก็มีคนคิดแบบนี้จริง เวลาเราตื่นมาก็เจอวิทยาศาสตร์แล้ว การใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ใส่เสื้อผ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์หมดแต่เราไม่เคยถามว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่าร้อนแล้วไม่มีแอร์เรามีอย่างอื่นแทนได้ไหม เราใช้วิทยาศาสตร์ช่วยตอบ สิ่งที่มันทำงานอยู่ตอนนี้มันอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไรนักแต่ถ้าได้ใส่ความรู้เข้าไปแล้วมันอาจจะดีขึ้น อย่างเช่นเรื่องบั้งไฟที่ยิงขึ้นฟ้า ถ้าเรานำไปต่อยอดป่านนี้คนไทยอาจจะยิงจรวดขึ้นไปอวกาศได้แล้ว ฉะนั้นก็มองได้ว่าถ้าเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เราก็ควรต้องมองว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ไหม อาจจะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้วพัฒนาขึ้นมาเองก็ได้ตรงนี้สังคมก็จะพัฒนาดีขึ้น


มีงานค่อนข้างมากมีเวลาให้ตัวเองไหม
ช่วง 10 ปีแรกทำงานวิจัยค่อนข้างเยอะและหนักมีทำแล็บด้วยเขียนงานด้วย แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าอยู่ในวัยกลางคนนิดๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตมันต้องการพักผ่อน แต่งงานและมีครอบครัวแล้วก็ต้องมีเวลาให้กับครอบครัวค่อนข้างเยอะหน่อย การทำงานถ้าเครียดเกินไปงานก็จะไม่คืบหน้ามันต้องมีความสุขในงานที่ทำอยู่ด้วยและต้องมีจังหวะในการพักผ่อนด้วย ถึงจะมีความสุขแต่ทุ่มมากเกินไปมันก็จะเหนื่อย ผมโชคดีว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้มันกึ่งๆ พักผ่อนไปในตัวเช่นเล่นเฟซบุ๊ค มันก็เป็นการทำงานอย่างหนึ่ง ถ้าว่างจริงๆ ก็อาจจะไปดูหนังบ้าง ช้อปปิ้งบ้าง


มีอะไรจะบอกเด็กและเยาวชนให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์
ผมสังเกตเห็นได้จากการไปบรรยายตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศแล้วพบว่าเด็กไทยช่วงประมาณประถมถึงมัธยมต้นก็มีความกระตือรือร้นสูงในการรับรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่พอเข้าสู่มัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยมันทำให้เขาเริ่มทิ้ง เพราะมันเริ่มยากขึ้น กระบวนการศึกษาบ้านเรามันไม่กระตุ้น แต่ถ้าสนใจด้านนี้อาจจะต้องพยายามรักษามันไว้ รักษากระบวนการคิด ความตื่นเต้นกับสิ่งรอบตัว ติดตามเรื่องวิทยาศาสตร์รอบตัว ติดตามว่าเรื่องต่างๆ มันสามารถเอาวิทยาศาสตร์ไปเป็นคำตอบได้ไหม อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ในกระแสก็ได้หรือการค้นพบใหม่ๆที่มีอยู่ หรือวิทยาศาสตร์นอกกกระแสที่มันเอาวิทยาศาสตร์ไปอธิบายได้ยังไง เช่นเรื่อง ไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งมันสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ ถ้าสนุกกับมันแล้วยิ่งศึกษาลึกขึ้นมันก็จะยิ่งสนุกและมันมีประโยชน์เอาไปใช้กับหลายๆ อย่างได้ ก็หวังว่าน้องๆ นักศึกษาหรือเด็กๆ จะไม่ทิ้งวิทยาศาสตร์และหวังว่าคงจะสนุกกับมันมากขึ้น

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อมันไปด้วยกันค่อนข้างยาก แม้แต่วิทยาศาสตร์กับศาสนาก็ตาม ความเชื่อหรือศาสนามันอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อจริงๆ โดยไม่คิดจะแย้ง วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงต้องแย้งได้