www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




แนะแนว > คนต้นแบบ

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักสื่อสารผ่านหัวใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-07-01 17:00:18

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: คงกฤช จินตะเวช

 

ท่ามกลาง speaker ที่มีชื่อเสียง การปรากฏตัวของเด็กหนุ่มในชุดปีเตอร์แพนบนเวที TEDxBangkok งานเสวนาระดับโลกที่เผยแพร่แนวคิดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงโลก ย่อมกระตุ้นความสนใจผู้ชมได้ดี แต่เทียบไม่ได้กับคลื่นความคิดและพลังคนรุ่นใหม่ที่ถาโถมออกมาของ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ในวัย 26 ปีเขาคือเลือดใหม่ของวงการศิลปะการแสดง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Hidden Art Society ทำละครเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมกับภารกิจยิ่งใหญ่ที่สร้างขึ้นอย่างเต็มใจในการทำให้ศิลปะการแสดงอยู่กับคนสมัยนี้ และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้


เพิ่งจบ TEDxBangkok ไปไม่นาน หายตื่นเต้นแล้วหรือยัง
ตอนนี้เหมือนยกภูเขาออกจากอก เราเคยดู TED มาก่อนแล้วเราได้อะไรมาเยอะมาก เมื่อถึงวันที่เราต้องให้อะไรกับคนอื่น มันเป็นบทบาทที่แตกต่างกันไปเลย ยิ่งรู้ว่าคนฟังคือใคร คนฟังในงาน 550 คนถูกคัดมาแล้ว และยังมีการแชร์ทางโซเชียลมีเดียแถมจะแปลอีก ฉะนั้นสิ่งที่เราพูดต้องรับผิดชอบคนไม่รู้กี่ล้านคนทั่วโลก เท่ากับว่าสิ่งที่เราพูดจะส่งผลต่อโลกใบนี้


ทำไมถึงใส่ชุดปีเตอร์แพน
ชุดปีเตอร์แพนมาวันสุดท้าย ทุกอย่างบนเวทีจะถูกตีความ ผมใส่ชุดปีเตอร์แพนเพราะคอนเทนต์ที่เราพูดถึง การพูดดี คิดดี ทำดี เสื้อผ้ามีผลในการตีความแน่นอน ผมกลัวมากในตอนแรกว่าจะเกิดการคิดลบว่าทำไมไอ้นี่ต้องเว่อร์ เด็กละครมาโอเวอร์แอ๊คอีกแล้ว ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วคนดูจะเข้าใจ


หัวข้อของหลุยส์คือ "เหนื่อยไหม วิ่งอีกสักก้าวสิ"
เราจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่ว่าเรื่องไหนจะเป็นประโยชน์ต่อคนฟังมากที่สุด ตลอดกาลด้วยซ้ำ เพราะมันจะถูกเปิดซ้ำ ๆ ผมพูดเรื่องนี้เพราะมนุษย์ไม่ว่าทำอะไรก็ตามมันจะถึงจุดเหนื่อย เหนื่อยกับปัญหา ถึงทางตัน คิดไม่ออก หรือเหนื่อยกายที่ทำให้เราต้องหยุดพัก หรือคิดจะเลิก แต่ถ้าเราคาดหวังว่าจะเจอสิ่งใหม่ มันไม่มีทางถึง ถ้าไม่เดินต่อ (หลุยส์สามารถบอกคนจะหยุดให้เดินต่อได้?) ไม่หรอกครับ แต่ผมอยากให้รู้ว่าเขาก็มีเพื่อน ผมก็เจออยู่เหมือนกัน เราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง อายุก็ยังไม่เยอะ สิ่งที่ทำมาก็ยังไม่เยอะ แต่ก็พอมีตัวอย่างให้เห็นว่าเราไม่ยอมแพ้ และขณะที่พูดผมก็ยังเจอปัญหาอยู่ และเราต้องผ่านไปด้วยกัน


เหตุผลอะไรที่ TEDxBangkok เลือกหลุยส์ ซึ่งมีอายุน้อยสุดในบรรดา speaker
เขาไม่ได้เลือกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำอะไรอยู่ เขาสนใจ Blind Theatre ก่อน แต่ประเด็นที่ผมอายุน้อยสุด ผมรู้สึกดีที่เวทีนี้ให้โอกาส แต่ผมไม่ได้เด็กสุดในงานครับ คนที่มาร่วมงานเด็กกว่าผม คนจัดและอาสาสมัครเด็กกว่าผม อันนี้น่าสนใจกว่าอีก โลกยุคนี้เป็นยุคที่ผู้ใหญ่กับเด็กมีระบบความคิดใกล้เคียงกันมาก เพราะมีการเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ต ประเด็นคือโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่มันมีมากขึ้นตามนั้นหรือเปล่า


ขอย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่รู้จักศิลปะการแสดง
ตอนเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกผมเรียนพลศึกษา ผมเป็นเด็ก ม.6ที่ไม่รู้ว่าชอบอะไรแต่รู้ว่าเกลียดอะไร เราเล่นกีฬามาตั้งแต่มัธยมก็เลยเลือกพละ ซึ่งเราเลือกผิด เมื่อมีเวลาอยู่กับตัวเองจริง ๆ หนึ่งปีที่ไม่ต้องเรียนและไม่มีใครบอกว่าต้องทำอะไร ผมเล่นดนตรี เล่นเปียโนกับกีต้าร์ แล้วผมรู้สึกว่าเพลงที่เล่น ผมต้องการสื่อสารบางอย่าง ผมไม่ได้เล่นเป็นเพลงด้วยซ้ำ กด กด กด กด เพื่อจะบอกว่าฉันรู้สึกแบบนี้ เราชอบการสื่อสาร แต่ต้องหารูปแบบว่าเราจะสื่อสารผ่านอะไร ผมเลยลองไปเรียนศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง โห เหมือนคนเจอสิ่งที่ตามหามาตลอด จุดเริ่มต้นของการเป็นนักสื่อสารก็เกิดขึ้น

 

การรวมตัวของ Hidden Art Society เกิดขึ้นได้ยังไง
เราตั้งคำถามว่าจะอยู่กับศิลปะละครเวทียังไงให้เป็นอาชีพ ทำทั้งวัน อยู่กับมันได้ เลี้ยงดูตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่ทำละครเวทีต้องทำอาชีพอื่น แล้วเอาเงินมาทำสิ่งเขารัก แต่มันยังไม่เจอระบบหรือรูปแบบที่มีรายได้แน่นอน ถ้ายังไม่มีคนทำ ถ้าเรายังเสี่ยงได้อยู่ เรายังมีเวลาอยู่ เรารวมคนที่เพิ่งจบ 6-7 คนที่เชื่อเหมือนกัน รีบรวมมาก่อนจะไปทำอย่างอื่น


ผมทำละครทันทีหลังเรียนจบ สิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่ง ไม่มีเงินทำ สอง ทำเสร็จ ไม่มีคนดู เราโทษตัวเราว่าไม่เชี่ยวชาญในสิ่งที่อยากเล่ามากพอ หลังจากนั้นผมหยุดทำละครไปเลยแล้วเรียนอย่างเดียว กลายเป็นคนอ่านหนังสือทั้งที่ตอนเด็กไม่อ่าน ไปเรียนละครเพิ่ม เพราะฉันอยากอยู่กับสิ่งที่รักและเป็นอาชีพ เราเคยเอาตัวเราเป็นตัวตั้ง เราเป็นศิลปินไง แต่พอโตขึ้นเราพบว่ามันต้องผสมกัน ระหว่างฉันอยากทำอะไร บวกกับคนอื่นต้องการอะไร เพราะโจทย์เราคือฉันต้องมีรายได้จากคนอื่น


ทำไมสนใจประเด็นทางสังคม
เราไม่ได้อยากเป็นนักละคร แต่สังคมหล่อหลอมให้อยากเป็นนักละคร ถ้าไม่มีสังคมผมอาจจะไปทำอย่างอื่น 20 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็น passion ให้เรา คือเมื่อเราไปอยู่ในที่ดี ๆ สังคมดี ๆ เราอยากจะบอกต่อ ผมไปอยู่ในสังคมที่แย่ ผมก็อยากบอกต่อว่ามันแย่ ต้องแก้ไขกันนะ


Blind Theatre เริ่มจากผมไปสอนการบ้านให้กับเด็กตาบอด ไม่ได้เกี่ยวกับงานละคร มีน้องตาบอดบอกผมว่า คนตาบอดต้องการโลกที่เจอกันตรงกลาง เขาไม่ได้ต้องการให้เราไปช่วยเหลือ แต่ต้องการโลกที่อยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง ทางเท้าคนตาบอดเราเห็นว่ามันถูกสร้างให้อยู่ร่วมกัน แต่ไม่อย่างแท้จริง สร้างแล้วหาย เป็นหลุม รู้ว่าต้องมีแต่ไม่เกิดจากความใส่ใจ เออว่ะ เรากลับมาถามตัวเองว่าวงการสื่อสารมวลชนกับคนตาบอดไปถึงไหนแล้ว ผมต้องหารูปแบบละครที่ทำให้คนตาบอดกับคนตาดีเจอกันตรงกลาง น้องบอกว่าผมไม่ต้องการให้พี่สร้างละครให้คนตาบอดทำแล้วดูกันเอง และผมก็ไม่ต้องการให้พี่พาผมไปโลกของพี่่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมต้องการโลกตรงกลางที่ต่างคนก็ต่างลำบากและต่างคนก็ต่างสบาย 50/50 แล้วกัน รูปแบบ Blind Theatre ที่เราทำคือคนตาบอดดูได้ ถ้าคนตาดีมาก็ปิดตา เราไม่ได้เรียกว่าโลกที่บอด แต่เป็นโลกที่ทุกคนมี นั่นคือโลกแห่งความมืด


ศิลปะการแสดงจำเป็นสำหรับคนที่มองไม่เห็นด้วยเหรอ
เราต้องตีความใหม่ แก่นของศิลปะการแสดงคือการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแอ๊คติ้งแปลว่าเฟค แต่จริง ๆ แอ๊คติ้งคือแค่ลงมือทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกบางอย่าง ฉันต้องตะโกนดัง ๆ พูดดัง ๆ อย่างที่ไม่เคยทำ มันไม่ใช่การเฟคแต่คือความสามารถที่คุณมี คุณเกิดมา 32 หรือ 31 อะไรก็ไม่สน เราเป็นเหมือนกันคือมนุษย์ มีความสามารถเหมือนกัน ต่างประเทศทำไมมีวิชาละครตั้งแต่ประถม พอเราจะใส่วิชาละครกับเด็กของเรา ตกใจสิ คุณจะให้เด็กเฟค เล่นใหญ่ ไม่ เขาเรียนกันทั่วโลก แต่เรารับรู้ความหมายคนละแบบ


แต่แม้กระทั่งคนที่มองเห็นก็ไม่ค่อยสนใจศิลปะการแสดง
ธงอย่างเดียวของ Hidden Art Society คือทำให้ศิลปะการแสดงอยู่กับคนสมัยนี้มากขึ้น ต้องล้มทุกอย่างที่เคยทำ เพราะเราตั้งโจทย์แบบนี้เท่ากับเราเชื่อว่ามันไม่เคยอยู่ เท่ากับว่าวิธีการเดิม ๆ ต้องเปลี่ยน แค่ความหมายของศิลปะการแสดง ประเทศเรายังเข้าใจไม่เหมืิิอนกัน ในเชิงความหมายก็เป็นภารกิจใหญ่มาก ตายไปแล้วจะสำเร็จหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต้องค่อย ๆ จัดการเป็นรูปแบบต่าง ๆ มันมี 3 จุดหลักคือ สร้างพื้นที่ สร้างคนดู สร้างคนทำก่อน


คนเข้าใจว่าการแสดงต้องเข้าไปดูในโรงละคร แต่แก่นจริง ๆ มีพื้นที่ไหนก็ได้ มีคนดู มีการแสดง จบ ที่คุณเห็นมันเป็นเปลือกเป็นฟอร์ม เราเปลี่ยนฟอร์ม ย้ายศิลปะออกจากโรงละคร แต่ไม่ได้ปฏิเสธโรงละครนะฮะ เริ่มที่พื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปใช้ ไม่เกี่ยงอายุ เพศ ความรู้ โปรเจ็คต์ Hidden Garden เราอยากเริ่มต้นจากคนที่ไม่สนใจ คนที่สนใจศิลปะการแสดงมีแนวโน้มจะเสพอยู่แล้ว แต่คนที่คิดว่ามันไม่จำเป็นกับชีวิตน่าสนใจมากกว่า เราเอาศิลปะไปแสดงโดยไม่นัดหมาย ในที่ที่ไม่มีใครรู้ มันคือ happening นำศิลปะทุกอย่างมาเล่นให้เขาเลือกดูเอง 3 ชั่วโมงคนดูเป็นร้อย 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ไม่เคยดูละครมาก่อน แต่เราทำให้เขาสนใจและเปลี่ยนความเชื่อก่อนว่า อ๋อเหรอ ละครมีมากกว่าในทีวีเหรอ แค่นี้ก็เข้าใกล้สิ่งที่ผมต้องการเพราะวัฒนธรรมเป็นการยอมรับของสังคม


พอมีพื้นที่และมีคนดู จะทำยังไงให้รัฐบาลเข้าใจตรงนี้เหมือนกัน ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างยั่งยื่นก็ต้องเกี่ยวกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ส่วนการสร้างคนทำงาน วันนี้ต้องมีตัวอย่างให้กับเด็กรุ่นใหม่ นักเรียนการแสดงเห็นว่ามีคนที่อยู่กับมันได้จริง เราเลยต้องเป็นต้นแบบให้เขามั่นใจว่าฉันจะอยู่ได้แบบพี่เขาแหละ




ละครเวทีสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้แค่ไหน
ผมคิดว่าเราจะดูคนในประเทศว่าเป็นยังไง ให้ดูจากสื่อที่เขาเสพในวันนี้ สื่อเป็นยังไง สังคมก็เป็นแบบนั้นแหละครับ คนรับข้อมูลเพราะมีคนบอกอะไรบางอย่าง เราถึงตัดสินใจว่าจะทำ ถ้าคุณอยากเปลี่ยนคนในสังคม คุณก็ต้องไปเปลี่ยนที่สื่อ ศิลปะการแสดงก็คือสื่อ แล้วถ้ามันเป็นสื่อมันจะเปลี่ยนสังคมไม่ได้ได้ยังไง


ตอนนี้การศึกษาของเรามีวิชาไหนที่เข้าไปจัดการกับเรื่องอารมณ์ของมนุษย์บ้าง คุณเคยเรียนวิชาอะไรแล้วเผชิญกับความกดดัน หรือว่าซาบซึ้งจนร้องไห้ไหม ศิลปะทำงานตรงนั้น การแสดงทำให้คุณเผชิญกับอารมณ์บางอย่างที่คุณไม่เคยรู้สึก วิชาอื่นทำงานคนละวิธีกัน มันทำงานเรื่องความคิด แต่อันนี้ทำงานเรื่องอารมณ์ พอคุณเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ชีวิตคุณจะละเอียดอ่อนมากขึ้น สังคมก็จะละเอียดอ่อนมากขึ้น นำคุณกลับเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น คือมีทั้งจิตวิญญาณ อารมณ์ และความคิด


อะไรที่ทำให้เรามายืนอยู่ตรงจุดนี้
เพราะเราไม่หยุดที่จะเชื่อ คุณจะเชื่อสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่คุณต้องไม่หยุดที่จะเชื่อไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เมื่อไหร่ที่คุณเหนื่อยคุณต้องก้าวไปอีกสักหน่อย เหนื่อยไม่ได้เป็นสัญญาณบอกให้คุณหยุด แต่เป็นสัญญาณบอกว่าคุณกำลังจะเจอสิ่งใหม่ ๆ

 

หลุยส์บอกว่าจะเป็นต้นแบบ คิดว่าเด็กสมัยนี้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ต้นแบบคือใครก็ได้ อายุเท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอายุเยอะ ต้องทำงานแล้ว ต้นแบบไม่ต้องเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ บางทีต้นแบบก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ เด็ก 16 เป็นต้นแบบให้เด็ก 15 ได้ เขาเป็นต้นแบบของก้าวแรก และก้าวตาม ๆ กันไป แต่เรากำลังมองหาต้นแบบที่ยิ่งใหญ่ที่ก้าวครบ 10 ก้าว ต้นแบบในสังคมเราเลยน้อยเหลือเกิน แต่ปัจจุบันต้นแบบก็อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ประเทศเราก็มีแนวโน้มที่ดี จะเห็นว่ายุคนี้เด็กเริ่มสร้างโอกาสให้ตัวเอง แต่การให้โอกาสยังน้อยอยู่ ผมมองว่าถ้าคนในสังคม ใครก็ได้ ถ้าท่านถือโอกาสอยู่ เราให้โอกาสกันมากขึ้น ทิศทางมันน่าจะสวยงามขึ้น


"สื่อเป็นยังไง สังคมก็เป็นแบบนั้น ถ้าคุณอยากเปลี่ยนคนในสังคม คุณก็ต้องไปเปลี่ยนที่สื่อ ศิลปะการแสดงก็คือสื่อ แล้วถ้ามันเป็นสื่อมันจะเปลี่ยนสังคมไม่ได้ได้ยังไง"


ที่มา : นิตยสาร plook ปีที่ 5 ฉบับที่ 55 กรกฎาคม 2558